PODCASTMISSION TO THE MOONเราไม่จำเป็นต้องแบกโลกไว้ทั้งใบ จัดการความรู้สึกอย่างไรดี ในเวลาที่ทุกอย่างถาโถม

เราไม่จำเป็นต้องแบกโลกไว้ทั้งใบ จัดการความรู้สึกอย่างไรดี ในเวลาที่ทุกอย่างถาโถม

ตั้งแต่เมื่อไรที่เราเริ่มแบกโลกไว้ทั้งใบ? อาจจะเป็นตั้งแต่ที่เริ่มคิดว่า ‘อยากทำให้มันดี’ ไม่ว่าจะเป็นงานที่กำลังรับผิดชอบ เป้าหมายและความฝันที่กำลังไขว่คว้า หรือจะเป็นบทบาทของเพื่อน ครอบครัว คนรัก และพลเมืองดี เพราะอย่างนั้นหลายคนจึงพยายามอย่างหนักเพื่อสร้างและดูแลรักษาโลกใบเล็กของตนอย่างดี

ทว่าบางครั้งความตั้งใจที่จะทำให้มันดีอาจเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายเรา เมื่อความเป็นไปของโลกไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถกำหนดหรือคาดคะเน ความกังวลและความกลัวว่าความผิดพลาดเพียงครั้งหนึ่งอาจทำให้โลกที่เราพยายามสร้างมา “พังทลาย” และความ ‘ดี’ ที่เคยวาดฝันไว้จะหายวับไปกับตา จึงคืบคลานเข้ามาครอบงำเราโดยไม่รู้ตัว

รู้ตัวอีกทีการเสพข่าวบ้านเมืองก็กลายเป็นความหนักใจ งานที่ต้องทำให้เสร็จหรือเป้าหมายที่จะต้องไล่ตามก็กลายเป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอน การพบเจอและพูดคุยกับผู้คนก็เป็นเรื่องยากกว่าที่เคยเป็น ทุกอย่างประเดประดังถาโถมเข้ามาจนสุดท้ายก็เกิดภาวะ “สติแตก”

Harley Therapy ได้ให้นิยามภาวะ “สติแตก” ว่าเป็นความรู้สึกที่อยู่ดีๆ ทุกอย่างก็ “เกินจะรับไหว” จนไม่เชื่อว่าตนเองจะสามารถจัดการทั้งสิ่งที่ถาโถมเข้ามาและทั้งความรู้สึกของตนเองได้ บ่อยครั้งที่มันยากจะอธิบายสาเหตุที่มา บางครั้งมันก็เยื้องกรายเข้ามาอย่างเงียบงัน และบางครั้งมันก็เกิดจาก “แรงกระตุ้น” กระทันหันบางอย่าง

ผลกระทบของภาวะ “สติแตก” คงเป็นที่เข้าใจกันดี ไม่ว่าจะเป็นการละเลยการดูแลตนเอง การเสียความสามารถในการคิดและตัดสินใจด้วยเหตุผล เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวแต่ก็แยกตนเองออกจากสังคม ไปจนถึงเกิดความรู้สึกอ่อนล้าคล้ายกับอาการหมดไฟ ท้ายที่สุดมันก็อาจทำให้โลกที่เราทุ่มเทมาตลอดถึงกาลอวสานลงจริงๆ

ถึงอย่างนั้นภาวะ “สติแตก” ก็เป็นภาวะธรรมชาติตามกลไกการดำรงชีวิตของมนุษย์ แม้จะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่การป้องกันและเตรียมรับมืออย่างถูกต้องเมื่อเผชิญหน้ากับภาวะดังกล่าวก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่โลกของเราจะพังทลายลงได้ วันนี้ Mission To The Moon จึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจตนเองและติดอาวุธไปพร้อมกัน

“ทำไมมีแค่เราที่รับมันไม่ไหว” หรือเรายังพยายามไม่มากพอ?

การแบกโลกและเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องปกติที่ระหว่างทางเราจะแตกสลายด้วยอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้า แต่เพราะไม่สามารถทิ้งโลกที่หวงแหนและคาดหวังจึงได้แต่ต้องกอบโกยเศษชีวิตของตนเองขึ้นมาประกอบกันราวกับก่อร่างสร้างปราสาททรายวัยเด็ก

เงื่อนไขในการสร้างปราสาททรายของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน บางคนมีอุปกรณ์ครบครัน พร้อมด้วยเทคนิคมากมาย ปราสาททรายก็ออกมาแข็งแรงพอที่จะต้านทานน้ำพัด แต่ชีวิตบางคนอาจไม่ได้สะดวกสบายขนาดนั้นจึงทำได้เพียงโกยทรายเข้ามาไว้ด้วยกันแบบหลวมๆ จนสุดท้ายก็ถูกน้ำพังทลายไปเพียงแค่คลื่นลูกเดียว

ทว่าคลื่นทะเลไม่ใช่โชคชะตาเดียวที่เราต้องเจอในแต่ละวัน บางวันอาจจะเจอคลื่นหลายต่อหลายครั้ง เจอนกหรือสัตว์อื่นเข้ามากระแทกและจากไป สุดท้ายเมื่อสะสมนานเข้าปราสาททรายที่ว่าแข็งแรงก็สามารถพังทลายด้วยแรงสะกอดจากนิ้วก้อย

เช่นนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เพียงการล้างจานอยู่ท่ามกลางคนมากมาย หรือการตื่นมาแล้วพบว่าหาเสื้อที่อยากจะใส่ไม่เจอก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะ “สติแตก” ได้อย่างง่ายดาย ถึงอย่างนั้นการรู้จักเบื้องลึกเบื้องหลังที่คอยแอบทำลายปราสาททรายของเราก็ทำให้เราเข้าใจและหลีกเลี่ยงมันได้ง่ายขึ้น คำถามคือสาเหตุของภาวะ “สติแตก” เป็นอะไรได้บ้างล่ะ?

1. งานและความรับผิดชอบเยอะเกินไป

ปกติแล้วการจะทำงานแต่ละงานให้ดีขึ้นย่อมแลกมากับเวลาที่มากขึ้น ทว่าบ่อยครั้งที่เรามักจะลืมความจริงข้อนี้และอ้าแขนต้อนรับทุกงานเข้ามา ไม่ว่างานนั้นจะเป็น ‘ไฟลท์บังคับ’ หรือเป็น ‘โอกาส’ ที่เรามองเห็นก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเราเริ่มรู้สึกตัวขึ้นมาว่า ‘เยอะไปหรือเปล่านะ’ ก็ปลอบใจตนเองด้วยคำว่าไหว หรือ “ไม่ไหวก็ต้องไหว” สุดท้ายความหวังที่อยากจะทำให้ทุกอย่างออกมาดีและเต็มที่ก็กลายเป็นเพียงภาพลวงตา

2. การเปลี่ยนแปลงในชีวิต

บางคนวางแผนการเดินทางไว้อย่างดิบดีก่อนจะสร้างโลกขึ้นมาแบกไว้บนบ่า ทว่าทางที่วางแผนไว้กลับเปลี่ยนไปโดยไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกหรือความเปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างระดับแรงจูงใจ ความคิด หรือทัศนคติของตนเอง เป็นต้น ทำให้ความตกใจเกิดเป็นความกลัวและกังวลกับความไม่คุ้นเคยที่เกิดขึ้นจนปราสาททรายที่สร้างไว้พลันทลายลงมาแบบไม่รู้ตัว

3. เหตุการณ์กระตุ้น “แผลใจ”

อีกหนึ่งตัวการที่ชอบเข้ามาพังปราสาททรายของเราแบบไม่อาจคาดเดาได้คือเหตุการณ์บางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นการพูดคุย การได้ยินได้ฟัง การได้เห็น หรือความคิดแบบสุ่มที่อยู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาในหัวแล้วดันไปสะกิดแผลใจที่ยังไม่สมานพอดิบพอดี เหมือนกับโดนเล่นงานบริเวณไร้เกราะป้องกัน สุดท้ายก็ต้องรับความเจ็บปวดไปเต็มๆ

4. สถานการณ์ที่ก่อความกลัวหรือกังวล

สิ่งที่น่ากลัวและน่ากังวลของแต่ละคนแตกต่างกัน สำหรับบางคนอาจจะเป็นการออกไปพูดต่อหน้าคนอื่น สำหรับบางคนอาจะเป็นการทำความรู้จักคนใหม่ บางคนอาจเป็นการทดสอบครั้งสำคัญหรือการสัมภาษณ์งาน ความกลัวและความกังวลราวกับปูในปราสาททรายที่คอยเซาะจนโครงอ่อนแอและทลายลงมาในที่สุด

อย่างที่กล่าวไปว่าสาเหตุเหล่านี้บางครั้งก็ป้องกันได้ แต่หลายครั้งก็ไม่สามารถควบคุมหรือคาดเดา เช่นนั้นเราจะต้องทำอย่างไรในยามที่ปราสาททรายของเราโดนก่อกวนจนแหลกสลายอีกครั้ง และจะต้องทำอย่างไรไม่ให้มันพังทลายไปมากกว่าเดิม?

Advertisements

จัดการตนเองอย่างไรในวันที่รู้สึก “รับไม่ไหว”?

การแตกสลายเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนเคยเจอมากกว่าหนึ่งครั้งในชีวิต การเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันเมื่อมันมาถึงจะช่วยเพิ่มทักษะความยืดหยุ่นให้เราจัดการกับปัญหาที่เข้ามาระหว่างนั้นไปพร้อมกับประกอบสร้างตนเองขึ้นมาใหม่ได้ง่ายขึ้น โดย BetterUp และ National Council for Mental Well-being แนะนำวิธีการปล่อยวางโลกที่แบกอยู่ไว้ดังนี้

1. โอบรับความรู้สึกของตนเอง

หลายครั้งที่ภาวะ “สติแตก” ไม่สร้างความรู้สึกกลัว กังวล หรือหงุดหงิดเพียงเท่านั้น แต่ยังสร้างความรู้สึก “อับอาย” ที่รู้สึกแบบนี้ หรือรู้สึกผิดหวังและไม่พอใจที่ตนเองไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทว่าการปฏิเสธความรู้สึกตนเองนั้นยิ่งเป็นเชื้อเพลงโหมให้ไฟเผามอดไหม้ความมั่นใจและความเชื่อมั่นของตนเองไปจนหมด

ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าตนเองเริ่ม “รับไม่ไหว” อยากให้ลองถามตนเองว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่ ลองฟังเสียงของตนเองโดยไม่ด่วนตัดสินว่ามันดีหรือเลว เพียงปล่อยความคิดให้ไหลออกมา การเขียนก็เป็นอีกหนึ่งวิธีระบายความรู้สึกเชิงลบได้ดีอีกด้วย หลังจากนั้นลองบอกตนเองว่า “มันไม่เป็นไรที่จะรู้สึกแบบนี้” และ “เดี๋ยวมันจะโอเค” จนกว่าจะรู้สึกถึงความคิดของตนเองได้มากขึ้น

2. ฝึกสติ ทำสมาธิ หรือขอความช่วยเหลือ

หากการอยู่กับตนเองคนเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราสงบและมีความคิดเป็นเหตุเป็นผลมากพอ การให้เวลาตนเองได้ออกมาจากสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้น วางงานทุกอย่างลงและออกไปทำอย่างอื่น เช่น การเดินเล่นข้างนอก การฝึกสติ (Mindfulness) และสมาธิ (Meditation) เป็นต้น

นอกจากนี้การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หาคนที่ไว้ใจหรือเชื่อใจแล้วลองเล่าความคิด ความรู้สึก และสถานการณ์ให้เขาฟัง การพูดออกไปจะทำให้เรากลับมาอยู่กับตนเองและเรียบเรียงความคิดได้มากขึ้น ทั้งยังอาจได้คำแนะนำหรือการยืนยันจากมุมมองคนที่สามมาช่วยเปิดความคิดเราอีกด้วย

3. อนุญาตให้คนอื่นแบ่งเบาภาระ

การแบกโลกไว้ด้วยตัวคนเดียวอาจจะทำได้ในเวลาปกติ แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการการพักผ่อนบ้าง การผลัดเปลี่ยนมือให้คนมาแบกแทนในช่วงเวลาสั้นๆ ก็เพียงพอให้เราเดินหน้าต่อได้ เช่นเดียวกัน แม้ว่าเราอยากจะให้งานออกมาดี แต่มันก็สามารถดีได้โดยที่คนทำไม่ใช่เรา การแบ่งเบาหน้าที่รับผิดชอบให้คนอื่นและคอยดูแลเขาอยู่เบื้องหลังจะช่วยให้เราได้ผ่อนแรงที่แบกโลกไว้เสียบ้าง

4. เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ

การตอบรับโอกาสที่เข้ามาเป็นเรื่องดี แต่โอกาสที่มาในเวลาที่ไม่เหมาะสมอาจกลายเป็นปัญหามากกว่าเป็นเส้นทางที่จะพาเราก้าวหน้าก็เป็นได้ แม้ว่าบางโอกาสจะเข้ามาในชีวิตเราครั้งเดียวแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสอื่นที่สร้างเส้นทางให้เราไปถึงเป้าหมายเดียวกัน

นอกจากนี้บางคนยังมีอุปนิสัยแบบ “People Pleaser” หรือ “YES Man” ที่พร้อมจะตอบรับความต้องการของทุกคนโดยละเลยความต้องการและเงื่อนไขชีวิตของตนเอง จนสุดท้ายเมื่อพังทลายก็ไม่มีใครช่วยสร้างปราสาททรายใหม่กับเรา เช่นนั้นการคำนวณความพร้อมและเงื่อนไขชีวิตของตนเองตามความเป็นจริงและเรียนรู้ที่จะปิดประตูใส่บ้างจะช่วยให้โลกที่แบกอยู่เบาลงนั่นเอง

การรับมือกับภาวะที่วุ่นวายและดูมืดมนไร้ทางออกนั้นอาจเป็นเรื่องยาก ความพยายามในการรับมือกับมันอาจไม่สำเร็จในครั้งแรกก็ไม่ได้หมายความว่าจะล้มเหลวในครั้งถัดไป ทุกๆ ครั้งของการพยายามรับมือคือการสร้างกำแพงป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาพังปราสาททรายของเราได้ หากหมั่นฝึกฝันและคำนึงถึงการรับมือนี้อยู่เสมอ สักวันปราสาทและแนวป้องกันของเราจะต้องแข็งแกร่งขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา
– Why am I so easily overwhelmed? Causes and useful techniques: Elizabeth Perry, BetterUp – https://bit.ly/3V90F5E
– When Feeling Overwhelmed With Life Means a Mental Health Issue: Sheri Jacobson, Harley Therapy – https://bit.ly/3V489GZ
– How to Take Care of Yourself When You’re Feeling Overwhelmed: National Council for Mental Well-being – https://bit.ly/3IobusV

#mentalhealth
#psychology
#overwhelming
#copewithstress
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า