PODCASTMISSION TO THE MOONสำรวจพฤติกรรมตัวละคร ‘เพื่อนรักจอมปลอม’ จากซีรีส์ Marry My Husband

สำรวจพฤติกรรมตัวละคร ‘เพื่อนรักจอมปลอม’ จากซีรีส์ Marry My Husband

“เพื่อนกันแบบใด?”

นี่เป็นคำที่ผุดขึ้นมาในหัวหลังจากดูซีรีส์เรื่อง “Marry My Husband” หรือ “สามีคนนี้แจกฟรีให้เธอ” มาหลายตอน เชื่อว่าบางคนอาจมีคำที่รุนแรงกว่านี้ผุดขึ้นมาเสียอีก แต่เราก็จะละไว้ในฐานที่เข้าใจ

ขอเท้าความไปถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในซีรีส์เรื่องนี้แบบย่อๆ เสียหน่อย คือนางเอกที่มีชื่อว่า “คังจีวอน” คบกับแฟนหนุ่มที่เจอกันในที่ทำงาน ซึ่งมีชื่อว่า “พัคมินฮวาน” และมีเพื่อนสนิทคนโปรดที่คบกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมชื่อว่า “จองซูมิน”

เรื่องราวมันน่าสนใจตรงที่ว่า ในขณะที่นางเอกนั้นรักเพื่อนสนิทมากๆ และมองว่าเธอเป็นเหมือนอีกครึ่งหนึ่งของชีวิต แต่เพื่อนคนนั้นกลับเป็น “เพื่อนรักจอมปลอม” ที่พยายามทำให้นางเอกรู้สึกเหมือนเป็นคนขี้แพ้ตลอดเวลา จนเธอนั้นถึงขั้นพยายามแย่งอะไรหลายๆ อย่างไปจากนางเอก ซึ่งรวมถึง “แฟนหนุ่ม” ด้วย

และนี่ก็คือเรื่องราวคร่าวๆ ที่เกิดขึ้น หลายคนอินไปกับเรื่องราวข้างต้นมากจนถึงขั้นหมั่นไส้และสบถด่าเพื่อนสนิทคนดังกล่าวมาหลายตอนเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ดี “เพื่อนรักจอมปลอม” นั้นเป็นเรื่องราวคลาสสิกที่ปรากฏอยู่ในหนังและซีรีส์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงเรื่องนี้ด้วย

ในวันวาเลนไทน์เช่นนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจเรื่องราว “ความรัก” ที่ไม่ใช่ความรักฉันคู่รัก แต่เป็นความรักฉันเพื่อนรัก (จอมปลอม) จากซีรีส์เกาหลีดังกล่าว สำหรับใครที่ยังไม่เคยดูเรื่องนี้ แนะนำให้ข้ามบทความนี้ไปก่อน เพื่อเลี่ยงการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน

BFF: Best Fake Friend เพื่อนรักแบบหยิกหลังกัน

เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า BFF ที่ย่อมาจาก Best Friend Forever (เพื่อนกันตลอดไป) กันมาก่อน แต่ในกรณีของซีรีส์เรื่อง Marry My Husband หากให้นิยามความสัมพันธ์ระหว่างนางเอกและเพื่อนสนิท ก็อาจเป็นคำว่า BFF เหมือนกัน แต่เป็น BFF ที่ย่อมาจาก Best ‘Fake’ Friend (เพื่อนรักจอมปลอม)

เพราะถึงแม้ว่านางเอกจะมองเพื่อนว่าเป็น “เพื่อน” อย่างแท้จริง สามารถยอมให้ได้ทุกอย่าง แต่อีกฝ่ายกลับมองเพื่อนเป็นเหมือน “ศัตรู” และมองว่าตนเองจะต้องเหนือกว่าอยู่เสมอ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าบางครั้งเราก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าใครเป็นเพื่อนรักจอมปลอมกันแน่ เช่นเดียวกับนางเอกในตอนแรกๆ

ทีนี้เราลองมาจับสัญญาณ Fake Friend หรือเพื่อนรักจอมปลอมไปด้วยกันเลยดีกว่าว่าส่วนใหญ่แล้วคนแบบนี้จะมีพฤติกรรมแบบไหนกัน เราจะได้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมและกลโกงของบุคคลประเภทนี้

โดยจากบทความ “10 Signs of a Fake Friend: How to Spot One From a Mile Away” ของ Verywell Mind ที่พูดถึงสัญญาณของเพื่อนจอมปลอมพบว่า ตัวละครจองซูมินนั้นตรงกับสัญญาณเหล่านี้หลายอย่าง ได้แก่

1. ไม่เคยคิดที่จะอยู่ข้างๆ เมื่อเพื่อนต้องการ
เพื่อนจอมปลอมมักจะอยู่ข้างๆ แค่เวลาที่เขาต้องการบางอย่างจากเราเท่านั้น แต่พอเราเป็นฝ่ายที่ต้องการคนอยู่ข้างๆ กลับไม่เคยเห็นหน้าค่าตาของคนนั้นเลย เช่นเดียวกับคังจีวอนที่เวลาเธอเศร้าและต้องการใครสักคนอยู่ข้างๆ แต่กลับติดต่อเพื่อนรักอย่างจองซูมินไม่ได้เลย

2. เป็นความสัมพันธ์ข้างเดียว
เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ฉันเพื่อน แต่เพื่อนคนนั้นกลับเป็นเพื่อนจอมปลอม เราจะรู้สึกได้ว่าเรากำลังรักเขาข้างเดียว เช่น อีกฝ่ายมักพูดแต่เรื่องของตัวเองและความต้องการของตัวเองเป็นหลัก รวมถึงให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของตัวเองเท่านั้น โดยไม่สนว่าเราจะมีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไร เช่นเดียวกับจองซูมินที่มักจะชอบมองว่าคังจีวอนจะต้องยอมแพ้ให้กับตัวเองเสมอ

3. ทรยศหักหลังเพื่อน
ขึ้นชื่อว่าเป็นเพื่อนจอมปลอม แน่นอนว่าเขาหรือเธอคนนั้นไม่มีความจริงใจต่อเราที่สุดแล้ว แต่ที่หนักกว่าความไม่จริงใจคือ บางคนเลือกที่จะทรยศหักหลังเพื่อน ไม่ว่าจะต่อหน้าก็ดี หรือลับหลังก็ดี เพราะอยากเห็นเพื่อนไม่มีความสุข ตัวอย่างของพฤติกรรมทรยศหักหลังเช่น การฉีกหน้าต่อหน้าคนอื่น หรืออีกหนึ่งพฤติกรรมที่เราสามารถเห็นได้จากซีรีส์เรื่องนี้คือ การที่จองซูมินแต่งเรื่องราวว่าร้ายคังจีวอนลับหลังมาตั้งแต่สมัยมัธยม จนทำให้เพื่อนคนอื่นๆ พลอยเกลียดคังจีวอนไปด้วย

4. อิจฉาริษยา
สิ่งหนึ่งที่เพื่อนรักจอมปลอมจะทนไม่ได้เลยก็คือ การเห็นเรามีความสุข เมื่อไรก็ตามที่เรามีความสุข เมื่อนั้นเพื่อนคนนั้นจะรู้สึกอิจฉาริษยาขึ้นมาทันที เช่น แทนที่จะเฉลิมฉลองและยินดีไปกับความสำเร็จของเรา แต่กลับมองข้าม ไม่ยินดี หรือบางครั้งถึงขั้นมองเราเป็นคู่แข่งเสียด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับจองซูมินที่เห็นเพื่อนกำลังจะแต่งงาน แล้วรู้สึกว่ายอมไม่ได้ จะไม่ให้แต่งเด็ดขาด

5. ควบคุมหรือครอบงำความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น
หากใครเคยได้ยินคำว่า “Manipulation” หรือการควบคุมหรือครอบงำความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น ก็ต้องบอกว่ามันสามารถเกิดขึ้นในความสัมพันธ์เช่นนี้ได้เช่นเดียวกัน เช่น เพื่อนรักจอมปลอมจะทำให้เรารู้สึกผิดให้ได้ แม้จริงๆ แล้วเราจะไม่ได้ทำอะไรผิดเลยก็ตาม ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้คังจีวอนก็รู้สึกผิดเหมือนกันที่ต้องพูดออกไปว่า ไม่ชอบเพื่อนอย่างจองซูมินแล้ว ทั้งๆ ที่อีกฝ่ายเป็นคนกระทำผิดต่อตัวเองมาตลอด

6. มองข้ามเรื่องขอบเขต
คนที่ไม่ได้มองเราเป็นเพื่อนจริงๆ บางครั้งเขาก็อาจล้ำเส้นเราในหลายๆ โอกาส ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว ความเป็นส่วนตัว หรือขีดจำกัดทางอารมณ์ ซึ่งจองซูมินเองก็ล้ำเส้นคังจีวอนอยู่บ่อยๆ เช่น ไม่ปล่อยให้เพื่อนไปเดตกับแฟนกันเพียงสองต่อสอง กล้าที่จะไปเป็นส่วนเกินของคนสองคนเหมือนเป็นเรื่องปกติ หรือการบังคับเพื่อนให้ไปในที่ที่ไม่อยากไป อย่างเช่นงานเลี้ยงรุ่น โดยหลอกว่าจะไปเที่ยวเล่นด้วยกันสองคน เพื่อให้ยอมไปด้วย

และอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ไม่ได้ถูกพูดถึงใน Verywell Mind แต่จะไม่พูดถึงไปไม่ได้ก็คือ

7. แสร้งทำเป็นว่ารัก
พฤติกรรมนี้จะคล้ายๆ กับการทรยศหักหลัง แต่จะหนักกว่าตรงที่ต่อหน้าเพื่อนรักจอมปลอมจะทำเป็นว่ารักเรามากกว่าใคร ทำให้คนอื่นมองว่าตนเองเป็นเพื่อนที่ดี แต่ในใจแล้วไม่เคยมีความรู้สึกรักเราแม้แต่นิดเดียว เช่นเดียวกับจองซูมินที่ต่อหน้าคนอื่นทำเป็นเหมือนว่าตัวเองเป็นเพื่อนรักแสนดี ต่างคนต่างเป็นครึ่งชีวิตของกันและกัน แต่ลับหลังพยายามหาทางทำให้นางเอกดูแย่ตลอดเวลา เช่น ซื้อของมาใช้คู่กัน แต่ของที่ตนเองซื้อมาให้เพื่อนนั้นมีคุณภาพด้อยกว่า

ทั้งหมดนี้คือพฤติกรรมของเพื่อนรักจอมปลอมที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง “Marry My Husband”

Advertisements

เหตุผลเบื้องหลังความจอมปลอม

อีกสิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะอยากรู้คือ เพราะอะไรอยู่ดีๆ บางคนถึงกลายเป็นเพื่อนรักจอมปลอมได้ หากพูดถึงในซีรีส์เรื่องนี้ เราก็คงต้องติดตามเรื่องราวและค้นหาคำตอบผ่านซีรีส์กันต่อไป แต่หากพูดถึงในชีวิตจริงแล้ว ก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
[ ] เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง : คนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมักจะโฟกัสแค่ความต้องการของตัวเองเป็นหลัก และอาจใช้ใครสักคนเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่าย
[ ] มีความไม่มั่นคงในจิตใจ : คนที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) หรือรู้สึกขาดพร่อง ต่ำต้อยด้อยค่า (Inadequacy) อาจใช้มิตรภาพจอมปลอมมาเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง โดยเขาอาจจะเรียกร้องความสนใจและการยอมรับจากผู้อื่น เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น
[ ] หลงตัวเอง : คนที่หลงตัวเองมีแนวโน้มเป็นเพื่อนรักจอมปลอม เพราะรู้สึกว่าตัวเองอยู่สูงเกินจริง ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงยังพร้อมที่จะใช้คนอื่นเป็นเครื่องมืออีกด้วย
[ ] มีภาวะผิดปกติทางจิตใจ : คนที่เป็นโรคจิตเภทอาจเป็นเพื่อนจอมปลอมได้ เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักขาดความเห็นอกเห็นใจ และไม่คำนึงถึงสิทธิและความรู้สึกของผู้อื่น
[ ] บาดแผลในวัยเด็ก : คนที่ผ่านประสบการณ์อันยากลำบากในวัยเด็กก็มีแนวโน้มเป็นเพื่อนจอมปลอมได้เช่นกัน เพราะเติบโตมาด้วยความยากลำบากและต้องอยู่แต่กับกรอบความคิดในการเอาชีวิตรอด

เชื่อว่าใครหลายคนพอได้ดูซีรีส์เรื่อง Marry My Husband ก็คงอินไปตามๆ กันกับตัวละครเพื่อนรักจอมปลอมอย่างจองซูมิน อาจเป็นเพราะเห็นใจที่คนดีๆ อย่างนางเอกต้องมาเจอกับเรื่องราวร้ายๆ เช่นนี้ หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะกำลังประสบหรือเคยประสบกับชะตาคล้ายกันมาก่อน

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เรื่องนี้ก็ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความรักในแบบฉบับของเพื่อนว่า ถ้าเราเจอเพื่อนที่ไม่จริงใจ ก็ให้ปล่อยมือจากคนนั้นไป อย่าเสียดายเวลาที่เคยมีมาด้วยกันแล้วปล่อยให้เพื่อนคนนั้นกัดกร่อนความสุขในชีวิตของเราไปเรื่อยๆ

ถ้าหากใครค้นพบว่าเพื่อนไม่ได้รักเราจริงๆ แน่นอนว่ามันก็อาจจะมีความเสียใจเกิดขึ้นมาบ้าง แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องมูฟออนและหันกลับมา “รักตัวเอง” ให้มากขึ้นให้จงได้

อ้างอิง
10 Signs of a Fake Friend: How to Spot One From a Mile Away : Sanjana Gupta, Verywell Mind – https://bit.ly/42fKjJF

#popculture
#marrymyhusband
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า