PODCASTMISSION TO THE MOONกายก็พัง ใจก็วิกฤต! เตรียมรับมือสัญญาณอันตราย ทำลายอนาคตคนรุ่นใหม่

กายก็พัง ใจก็วิกฤต! เตรียมรับมือสัญญาณอันตราย ทำลายอนาคตคนรุ่นใหม่

‘ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต’ หนึ่งในค่านิยมคนรุ่นใหม่ที่พูดถึงแนวคิดการทำงานแบบมี Work-Life Balance แบบที่ทุ่มเทกับงานให้พอดีกับค่าตอบแทน สวนทางกับเจเนอเรชันก่อนหน้าที่มักจะสอนให้อดทนทำงานหนัก เก็บหอมรอมริบ เพื่อที่สุขสบายในภายหลัง ทำให้บางคนรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ “ไม่สู้งาน” “ขี้บ่นขี้เรียกร้อง” หรือ “ไม่คิดถึงระยะยาว” เพราะการหาเงินมาและนำไปใช้จนหมดชนิดเดือนชนเดือนเป็นประสบการณ์ร่วมกันของคนเจเนอเรชันใหม่นี้เลยก็ว่าได้

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เจเนอเรชันที่โตกว่ามองเช่นนั้นเป็นเพราะ ‘ภาพลักษณ์’ บนโซเชียลมีเดียที่มักแสดงให้เห็นไลฟ์สไตล์ที่จับจ่ายเพื่อความบันเทิงหรือของฟุ่มเฟือย แต่ภาพลักษณ์กับความเป็นจริงสอดคล้องกันหรือไม่? สุดท้ายแล้วค่านิยม ‘ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต’ จะเป็นวิถีหลักหรือเป็นเพียงอุดมคติ? Mission To The Moon อยากชวนทุกคนไปกะเทาะจอและเข้าไปสำรวจเบื้องหลังภาพสวยงามบนโซเชียลมีเดียกัน

ภายใต้หน้ากาก ‘ความเฟียส’ คือ ‘ความเจ็บปวดเรื้อรัง’

ภาพจำจากมุมมองภายนอกทำให้คนคิดว่าชีวิตคนรุ่นใหม่คงจะง่ายและมีความสุขกว่ารุ่นก่อน ทว่าใบหน้าที่ยิ้มแย้มอาจจะเป็นเพียงความพยายามในการ ‘สมมติว่ามีความสุข’ ก็เป็นได้ เพราะนอกจากจะได้ค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพแล้ว ยังต้องพัฒนาสกิล ‘รอบด้าน’ อยู่เสมอ รวมถึงสวัสดิการและวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบเก่าที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อความจำเป็นของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

จากสถิติของสายด่วนสุขภาพจิตรายงานเมื่อวันแรงงานประจำปี 2566 ชี้ให้เห็นว่าหัวข้ออันดับหนึ่งที่ผู้ขอรับบริการปรึกษากับสายด่วนสุขภาพจิตคือ “ความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขกับงาน” โดยรวมทั้งสิ้นทั้งหมดกว่า 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย เรียกได้ว่าเกือบ 3 ใน 4 ของผู้ขอรับบริการเลยทีเดียว

ยังมีวิถีชีวิต “นอนดึก” ที่เรียกว่า ‘Sleepless Society’ หรือสังคมที่ไร้การนอนหลับมาทวีคูณปัญหาชีวิต เช่น “Bedtime Procastination” หรือการฝืนนอนดึกเพื่อให้ตนเองได้ทำอย่างอื่นนอกจากงานบ้าง หรือการฝืน “ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน” เพราะงานเยอะหรือทำงานมากกว่าหนึ่งที่ รวมถึงคนที่แบกงานกลับไปทำกลางคืนเพราะกลางวันสภาพแวดล้อมไม่เอื้อเฟื้อ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น แต่พฤติกรรมการรับประทานอาหารหวานยังเป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล โดยข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะติด ‘หวาน’ โดยเฉพาะในเครื่องดื่ม คนยุคใหม่มีการติดหวานถึง 57% เป็นผลมาจากความเครียดและความต้องการพลังงานที่รวดเร็วสำหรับไลฟ์สไตล์การทำงานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการเทรนด์บนโซเชียลมีเดียก็มีผลเช่นเดียวกัน

เมื่อประกอบกับความไม่แน่นอนของชีวิตอันเป็นปัจจัยที่คนทุกวัยต้องเคยเจอ เช่น การเจ็บป่วยครั้งใหญ่หรือการรักษาโรคจิตเวชที่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากสวัสดิการบริษัทและประกันสังคมครอบคลุมไม่ถึง ประกอบกับอุบัติเหตุไม่คาดฝันท่ามกลางเมืองที่กำลังเติบโต เช่น อุบัติเหตุจากบริเวณก่อสร้าง หรือพื้นที่ที่กำลังปรับปรุง

ถึงอย่างนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมตอบสนองต่อความเครียดและความพยายามดิ้นรนข้างต้นของคนรุ่นใหม่กลับยิ่งทำลายอนาคตที่ก็แทบจะไม่แน่นอนอยู่แล้วให้เลือนรางจางหายไปเร็วขึ้นทุกที เพราะปลายทางของชีวิตที่รออยู่สำหรับพฤติกรรมเช่นนั้นคือ “ความพังทั้งกาย ใจ และการเงิน”

หมายความว่าอย่างไร? พฤติกรรมเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นการหามรุ่งหามค่ำเพื่อหาเงินและพัฒนาตนเอง หรือการรับน้ำตาลจำนวนมากเข้ากระแสเลือด แม้จะพอจุนเจือเยียวยาแต่ละวันให้ผ่านไป แต่แท้จริงแล้วมันคือการสร้างกองตะกอนไว้ในร่างกายและจิตใจของเราจนมันปะทุออกมาในรูปแบบของภาวะ NCDs ตอนที่มีอายุมากขึ้น

ภาวะ “NCDs” ภัยร้ายทำลายชีวิตคนรุ่นใหม่

ภาวะหรือกลุ่มโรค “NCDs” ย่อมาจาก Non-communicable Diseases หมายถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไขมันในเลือดสูงและมะเร็ง ฟังดูแล้วอาจจะไกลตัวเพราะคนมักคิดว่าเป็นโรคอายุรกรรมของผู้ใหญ่วัยเกษียณและก่อนเกษียณเล็กน้อยเสียส่วนใหญ่

โดยในเวทีสัมมนาหัวข้อ ‘การผนึกความร่วมมือภาครัฐและเอกชน เพื่อขจัดภาระโรคเบาหวานและโรคอ้วนในประเทศไทย’ ได้มีการเปิดเผยว่าคนไทยตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป 1 ใน 11 คนป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดย 40% ของบรรดาผู้ป่วยนั้นไม่รู้ว่าตนเองป่วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2566 พบว่ามีผู้เป็นเบาหวาน 5.2 ล้านคนและโรคอ้วนอีก 20 ล้านคนและมีแนวโน้มจะสูงขึ้น

ปัจจัยของแนวโน้มที่สูงขึ้นก็เกิดมาจากพฤติกรรมเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารรสจัด ความเครียดและการนอนดึก การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ไปจนถึงการไม่ออกกำลังกาย เรียกว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สามารถก่อให้เกิดได้ทุกโรค เพียงแต่โรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดและเร็วที่สุด รวมถึงเห็นผลกระทบชัดมากที่สุดคือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ ‘NCDs’ นี้นั่นเอง

เพราะเหตุใดกลุ่มโรคที่ทุกคนคิดว่าเมื่อถึงเวลาหนึ่งหนึ่งของช่วงชีวิตก็ต้องเจอจึงเป็นอันตรายต่อคนรุ่นใหม่ขนาดนั้น? นอกจากความจริงที่ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้โอกาสที่เด็กรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะโตไปมีโรคกลุ่ม NCDs เพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตโดยตรงของคนรุ่นใหม่อีกด้วย

กล่าวคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีความมั่นคงทางการเงินอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มโรค NCDs ที่ต้องการการรักษา ‘ระยะยาว’ แล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการนำโล่และดาบผุพังไปสู้กับมอนสเตอร์ ยื้อได้เพียงชั่วครู่ก็ไม่อาจแบกรับค่ารักษาพยาบาลตลอดไปได้

นอกจากผลกระทบเรื่องการเงินที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว ผลกระทบต่อสภาพร่างกายที่เจ็บป่วยเป็นระยะเวลานอนสามารถก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจได้เช่นเดียวกัน เมื่อประกอบกับสุขภาพจิตวัยรุ่นปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงแล้วการเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ก็ไม่ต่างอะไรจากการราดน้ำมันบนกองเพลิง

เมื่อกายป่วย ใจก็แทบจะแบกรับไม่ไหว โอกาสที่จะส่งผลกระทบกับคนรอบข้างก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย หมายความว่าอย่างไร? กล่าวคือผู้ป่วยอาจมีแนวโน้มในการเข้าสังคมน้อยลง ปฏิเสธสังคมมากขึ้นด้วยสภาวะร่างกายและจิตใจที่ไม่พร้อม ขณะเดียวกันความไม่พร้อมนั้นก็ทำให้ต้องมีอีกคนคอยดูแลจึงเกิดเป็นวงจรไม่น่าภิรมย์ที่มักเกิดกับผู้ป่วยและผู้ดูแลนั่นเอง

สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ แต่เป็นประสบการณ์ร่วมของคนรุ่นใหม่ Mission To The Moon เลยอยากชวนทุกคนไม่ว่าจะเป็นวัยไหนมาทดสอบค่าพลังชีวิตผ่านแบบทดสอบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กันว่าตอนนี้ค่าสุขภาพกาย ใจ การเงินและความสัมพันธ์ของเราอยู่ระดับไหน ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที คลิกเพื่อทดสอบด้านล่างแล้วมาอ่านวิธีรับมือต่อกันเลย

แบบทดสอบค่าสุขภาพกายและใจ : https://pre-aging.thaihealth.or.th/webapp/question.php

รับมือ NCDs ก่อนที่มันจะกลืนกินเรา!

หากได้ทำแบบทดสอบกันมาแล้ว ก็เชื่อว่าหลายคนคงอยู่ในระดับวิกฤตหรือเกณฑ์ ‘ต้องปรับปรุง’ กันเลยทีเดียว แต่อยู่ๆ มาบอกว่าให้ปรับปรุงเลยก็คงยากเกินไปเพราะไม่รู้จะเริ่มอย่างไรกับข้อจำกัดชีวิตที่มี หากข้ามขั้นตอนเพราะอยากเห็นผลเร็วก็อาจจะทำให้ท้อไปเสียก่อน ถ้าอย่างนั้นมาเริ่มจากวิธีที่ทุกคนถนัดกันก่อนดีกว่า

1. เริ่มจากการ “เตรียมว่าจะทำ”

คนที่ไม่เคยออกกำลังกายหรือมีข้อจำกัดด้านเวลา ลองเริ่มจากการเตรียมของออกกำลังกายง่ายๆ ออกมาโดยยังไม่ต้องเริ่มออกอย่างจริงจัง เช่น ถ้าอยากวิ่งก็ลุกมาใส่รองเท้าวิ่งสักครั้งแล้วค่อยกลับไปทำงานต่อ เตรียมซื้อฮูลาฮูปมาแขวนผนังไว้โดยยังไม่ต้องเล่น แค่นี้ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว

Advertisements

2. เริ่มหาสิ่งทดแทน

การติดหวาน การติดแอลกอฮอล์ ไปจนถึงการติดบุหรี่มักจะมีอาการทางกายเข้ามาเกี่ยวข้องหากเลิกแบบฉับพลัน ดังนั้นการหาอะไรมาทดแทนเป็น ‘บางครั้งบางคราว’ โดยยังไม่ต้องคิดว่าจะเลิกให้ได้ 100% เช่น ดื่มน้ำหวานที่มีรสหวานแต่น้ำตาล 0% การเคี้ยวหมากฝั่งเพื่อรับรสหวานยาวนานขึ้น หรือทดแทนอาการ ‘ปากว่าง’ จากการสูบบุหรี่ ไปจนถึงการดื่มเครื่องดื่มคล้ายแอลกอฮอล์แต่เป็น 0% เป็นต้น

3. การพักผ่อนก็เป็นงานเช่นเดียวกัน

ลองกำหนดเวลานอนและเวลาตื่นเป็นประจำทุกวัน โดยปิดงานหรือสิ่งกระตุ้นทุกอย่างทันทีเมื่อถึงเวลานอน แม้ว่าจะยังนอนไม่หลับก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น การทำเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายเรียนรู้ จดจำ และปรับตัวเองในที่สุด

4. แผนการปรับปรุงแก้ไขได้ แต่สุขภาพแก้ไขยาก

หลายคนมักกักขังตนเองจากการพักผ่อนทั้งกายใจว่างานจะต้องเสร็จในกำหนดการเท่านั้น การมีความรับผิดชอบเป็นเรื่องที่ดีแต่หากรับผิดชอบด้วยแผนที่ฝืนจนเกินไปและยังปล่อยให้แผนดำเนินไปแบบนั้น สิ่งที่จะพังจนทำให้แผนพังตามๆ กันคือสุขภาพ ทว่าเมื่อสุขภาพเราพังจนทำงานไม่ได้ คนวางแผนก็แค่ปรับแผน แต่ไม่ได้มาปรับสภาพร่างกายและจิตใจเราอีกต่อไป เช่นนั้นการเอาตนเองขึ้นมาเป็นหลักสำคัญก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีเช่นกัน

สำหรับคนที่คิดว่าตนเองพร้อมที่จะรับมือขั้นต่อไป หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงกับสภาพร่างกายและจิตใจเราอย่างจริงจังแล้ว ให้ลองหาแรงจูงใจของการเปลี่ยนแปลงผ่านการถามตนเองว่า ‘ทำไปทำไม’ ก่อนตั้งเป้าหมายด้วยหลัก SMART และวางกลยุทธ์การเดินทางไปถึงเป้าหมายที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนเองโดยเฉพาะขึ้นมา โดยสามารถศึกษาแนวทางเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.): https://resourcecenter.thaihealth.or.th/
หรือติดตามเนื้อหาดีๆ ที่เฟสบุ๊ก: https://www.facebook.com/thaihealthcenter.org

การเริ่มต้นอาจจะดูยากสำหรับหลายคนเพราะทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีแรงต้านเต็มไปหมด แต่ทริกสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคือความสม่ำเสมอ เริ่มจากเล็กๆ และจากสิ่งที่เราทำได้อย่างแน่นอน เช่น อยากจะวิ่งทุกวัน ก็เริ่มจากการใส่รองเท้าวิ่งเฉยๆ ทุกวัน เดี๋ยวสักวันเราจะเริ่มออกมาวิ่งในที่สุด

แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับคนรุ่นใหม่และคนยุคปัจจุบันในการมองไปถึงอนาคต แต่ถึงอย่างนั้นอนาคตก็ยังเป็นโอกาสเดียวที่ความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากให้เกิดขึ้นจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะฉะนั้นมาประคองกันเดินทางสู่อนาคตไปด้วยกันนะ

#NCDsมัลติร้ายทําลายรอบด้าน 
#สสส
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า