หากพูดถึง “Metaverse” เชื่อว่าในตอนนี้หลายคนคงคุ้นเคยและมีภาพของโลกเสมือนที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่มีการประกาศรีแบรนด์จาก Facebook เป็น Meta ส่งผลให้ “Metaverse” หรือ “โลกเสมือน” กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ตั้งแต่วันนั้น ภาคธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ต่างก็ตื่นตัวกันอย่างมาก เริ่มขยับ ปรับตัว และร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เตรียมพร้อม และจับจองพื้นที่ในโลกเสมือนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แม้ว่าในตอนนี้ Metaverse จะยังมาไม่ถึงก็ตาม
และไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจ บริษัทเทคฯ หรือวงการเกมเท่านั้นที่ตื่นตัว แต่ “ภาคการศึกษา” ก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน
นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนออนไลน์และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งนับว่าการเรียนการสอนของทั่วโลกกำลังก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของเทคโนโลยีแล้ว อย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป เพราะไม่สามารถใช้ได้กับผู้เรียนในทุกช่วงวัย บางคนไม่สามารถจดจ่ออยู่กับหน้าจอได้นาน รวมถึงบางกิจกรรมต้องลงมือทำจริง ไม่สามารถเรียนรู้ทางออนไลน์ได้
และเมื่อพูดถึงประเด็น “โลกเสมือนกับการศึกษา” คงทำให้หลายคนสงสัยและกังวลใจไม่น้อยว่า เทคโนโลยีในอนาคตจะพาโลกแห่งการเรียนรู้ไปในทิศทางไหน จะพบปัญหาเหมือนการเรียนออนไลน์หรือไม่ รวมถึงสถานศึกษายังจำเป็นอยู่หรือเปล่า วันนี้เราจะพาทุกคนไปไขข้อข้องใจต่างๆ กัน มาดูกันว่า Metaverse ที่กำลังจะมาในอนาคตนี้ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง
Metaverse for Education: โลกเสมือนกับการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด
ช่วยพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้น
การพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้โลกในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และยังทำให้มีทักษะและความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การเรียนการสอนผ่านหลักสูตรหรือรูปแบบเดิมๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคตข้างหน้าเท่าไร
โดยการมาถึงของ Metaverse อาจเข้ามาพลิกบทบาทของการศึกษา ด้วยการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น การสร้างหลักสูตรที่เน้นภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี ด้วยเทคโนโลยี AR และ VR ที่ช่วยให้ผู้เรียนสัมผัสประสบการณ์การเรียนใหม่ๆ มีอิสระในการคิดริเริ่ม และลงมือทำหลายๆ อย่างที่ไม่มีโอกาสจะทำในโลกแห่งความเป็นจริง การเรียนที่สมจริงนี้ จะทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสได้ถึงความแตกต่างของ Metaverse กับการเรียนออนไลน์บนหน้าจอสี่เหลี่ยมอย่างแน่นอน
นำ Gamification มาบูรณาการกับการเรียน
เชื่อไหมว่า “เกม” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่จอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เท่านั้น แต่ยังสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ลืมตาตื่นยันเข้านอน ซึ่งจริงๆ แล้วในตอนนี้เราก็เปรียบเสมือน “ผู้เล่น” คนหนึ่ง เพียงแต่เกมในที่นี้ต่างจากเกมทั่วไปที่ต้องทำลายบอสหรือเอเลียน ตรงที่เราต้องเรียนรู้ วางแผน และลงมืออย่างมีกลยุทธ์ เพื่อทำภารกิจให้สำเร็จและมุ่งสู่ด่านต่อไปได้ ซึ่งก็คือแนวคิดของ “Gamification” ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นคอนเซ็ปต์ที่ภาคธุรกิจ การตลาด หรือแม้แต่การศึกษาได้หยิบยกไปใช้กันอย่างต่อเนื่อง
แล้ว Gamification – Metaverse – Education จะมาบูรณาการกันอย่างไร?
หากพูดถึง Metaverse เชื่อว่าอันดับต้นๆ ที่จะนึกถึงกันคงหนีไม่พ้น “เกม” (Game) และ “อวาตาร์” (Avatar) เพราะนับว่าเป็นจุดเด่นและภาพจำของโลกเสมือนเลยก็ว่าได้ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เข้าสู่โลก Metaverse อย่างเต็มรูปแบบก็ตาม แต่ภาคการศึกษาก็เริ่มมีการใช้เกมมาบูรณาการในการเรียนการสอนบ้างแล้ว เช่น Kahoot หรือ Dojo ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้เรียนได้ทุกช่วงวัย
และยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าก็จะยิ่งทำให้คอนเซปต์ Gamification เป็นรูปเป็นร่างได้อย่างชัดเจน สู่การเปลี่ยนห้องเรียนธรรมดาให้เป็น “โลกของเกม” ด้วยการจำลองสถานการณ์ต่างๆ และให้อิสระกับผู้เรียนได้แสดงออกถึงความเป็นตัวตน ผ่านการสร้าง Avatar กำหนดฐานหรือด่านให้ผู้เรียนทดลองทำจริง เรียนรู้ข้อผิดพลาด และนำบทเรียนไปปรับปรุงจนผ่านภารกิจได้ และเมื่อถึงเป้าหมายก็สะสมเหรียญรางวัลต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
โดยการเปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นสนามของการเล่นเกม ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และเปิดกว้างมากกว่าที่เคยเป็น ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม การกล้าแสดงออก รวมถึงช่วยสร้างความมั่นใจ และให้ผู้เรียนได้เห็นถึงความคืบหน้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง
สร้างประสบการณ์สมจริงให้ผู้เรียน
ลองนึกภาพบรรยากาศการเรียนเทพปกรณัมกรีก การทำอาหาร การทดลองวิทยาศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพในป่า Amazon ผ่านกระดานไวท์บอร์ด หนังสือภาพสี และวิดีโอที่ใช้ซ้ำๆ มารุ่นต่อรุ่น คงเป็นการเรียนที่น่าเบื่อหน่ายไม่ใช่น้อย เพราะผู้เรียนไม่ได้สัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้จริงๆ ไม่ได้เห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด เห็นแค่จากรูปหรือวิดีโอที่จำลองขึ้นมาเท่านั้น
แต่ Metaverse จะเข้ามาช่วยเชื่อมต่อผู้เรียนกับการเรียนรู้ในสถานที่หรือสถานการณ์จำลองที่ไม่สามารถทำในโลกแห่งความเป็นจริงได้ เช่น การเดินสำรวจป่า Amazon การทดลองใช้ชีวิต 1 วันแบบชาวกรีกโบราณ รวมถึงการเรียนรู้ของนักเรียนแพทย์ อย่างการผ่าตัดเคสยากๆ
นอกจากนี้ Metaverse ยังช่วยให้ผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการเรียนมากขึ้น ผู้เรียนจะสามารถเรียน สื่อสาร และเชื่อมต่อกับเพื่อนได้ทั่วโลก โดยไม่ต้องเดินทางไปไหนในโลกจริง เพราะเราเดินทางบนโลกเสมือนแทน ซึ่งเป็นการยกระดับการเรียนรู้ด้วยการสัมผัสประสบการณ์จริง แทนการอ่านหนังสือ ท่องจำ หรือรูปแบบการสอนเดิมๆ
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีก็เป็นดาบสองคม หากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็อาจย้อนกลับมาทำลายเราได้ ไม่ว่าจะปัญหาสุขภาพจิตที่อาจแยกความจริงกับสิ่งที่สร้างขึ้นมาไม่ได้ การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบอยู่ตลอด หรือปัญหาสุขภาพกาย อย่างการใส่แว่น VR และนั่งท่าเดิมนานๆ อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอีกนับไม่ถ้วน รวมถึงปัญหาสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการที่อาจไม่สะดวกเรียนบนโลกเสมือน หรือผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่มีกำลังซื้อ หรือเข้าถึงอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นได้ เราจึงต้องมาติดตามกันต่อว่าเทคโนโลยีในอนาคตข้างหน้า จะสามารถแก้ไขปัญหาที่อาจตามเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็คือ การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ศึกษาข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ และใช้เทคโนโลยีอย่างมีสติ เพราะในอนาคตข้างหน้าเทคโนโลยีจะยิ่งมีบทบาทสำคัญมากกว่าตอนนี้อย่างแน่นอน
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
5 ความเคลื่อนไหวล่าสุดของในโลก Metaverse
อีกมุมของ Metaverse กับ ‘ผลกระทบ’ ที่อาจซ่อนอยู่!
อ้างอิง:
https://bit.ly/3LxR0NQ
https://bit.ly/3j1JMWd
https://bit.ly/37e8YGc
https://bit.ly/3r4ApJz
https://brook.gs/3J3CCLH
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#metaverse