เรียนรู้ที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ผ่านงานวาดของ Yayoi Kusama

675
Yayoi Kusama
[TW: Violence, Suicide และอาจไม่เหมาะสำหรับผู้เป็นโรค “กลัวรู” (Trypophobia)]

.

.

“วันหนึ่ง ขณะที่ฉันกำลังจ้องผ้าปูโต๊ะลายดอกไม้สีแดงที่อยู่บนโต๊ะ เมื่อฉันมองขึ้นไป ฉันเห็นลายดอกไม้กำลังปกคลุมไปทั่วเพดาน หน้าต่าง กำแพงห้อง และสุดท้าย มันปกคลุมไปทั่วทั้งห้อง ทั้งร่างกายของฉัน และทั้งจักรวาล ฉันรู้สึกราวกับตัวฉันกำลังจางหายไปสู่ความว่างเปล่า ตอนฉันตระหนักได้ว่า มันกำลังเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ในจินตนาการของฉัน ฉันกลัวมาก ฉันรู้ว่า ฉันต้องหนีไปไม่อย่างนั้นฉันจะถูกกลืนกินด้วยมนตร์ของบุปผาสีแดง ฉันวิ่งขึ้นบันไดอย่างสิ้นหวัง แต่ละก้าวที่ฉันข้ามผ่านมาแล้วเริ่มร่วงหล่น และสุดท้ายฉันตกบันไดจนข้อเท้าแพลง” – Yayoi Kusama

Advertisements

นี่คือโลกของ “Yayoi Kusama” ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่สร้างสรรค์ศิลปะซึ่งงอกเงยจากความหมกมุ่น โลกของเธอเต็มไปด้วย “จุด” ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเริ่มจากจุด และจบลงที่จุด หลายๆ คนคงจะคุ้นตากับงานของเธอเป็นอย่างดี โดยเมื่อปี 2018 เธอได้ร่วมจัดนิทรรศการสุดสร้างสรรค์ ณ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล (Bangkok Art Biennale) ที่ประเทศไทยด้วย

แต่กว่าจะกลายเป็นศิลปะที่หลายต่อหลายคนยกย่องชื่นชม ชีวิตของ Kusama นั้นได้เผชิญกับความขื่นขมเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ลองมารู้จักชีวิตของเธอกันให้มากขึ้น เพื่อเรียนรู้วิธีการปลดปล่อยอดีต เยียวยาตนเองผ่านศิลปะ และสัมผัสกับเรื่องราวของ “ลายจุด” ที่คุณอาจไม่เคยรู้

จุดเริ่มต้นของศิลปะแห่งภาพหลอนของ Yayoi Kusama

ตอนที่ Kusama ยังเด็ก เธอถูกแม่ของเธอทำร้ายร่างกาย และในช่วงเวลานั้น โลกใบอื่นก็ได้ปรากฏขึ้นต่อหน้าเธอ มันเป็นโลกแห่งทรรศนะ (Visions) และภาพหลอน (Hallucinations) 

ในปี 1939 ตอน Kusama อายุ 10 ปี เธอได้วาดภาพที่ไม่มีชื่อ (Untitled) ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงใบหน้าของมารดาเธอที่ตัดกับพื้นหลังของภาพ และส่วนประกอบของรูปทั้งหมดนั้นปกคลุมไปด้วย Polka Dot จุดต่างๆ ไม่ใช่แค่สื่อถึงสิ่งที่เธอเห็น แต่ยังสื่อถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ โลก และจักรวาลที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และที่สำคัญที่สุด มันคือ ความไม่สิ้นสุดของจักรวาล 

ชีวิตวัยเด็กของเธอ คือจุดเริ่มต้นของศิลปะที่เป็นดั่งตัวแทนของ Kusama โดยผ่านการสรรสร้างจากสิ่งที่เธอเห็นจากความเป็นจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง (Alternate Reality) และเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ได้เติมเต็มไปชั่วชีวิตที่เหลือของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาตัวเองตลอดชั่วชีวิต ความลุ่มหลงใน Polka Dot อันไร้ที่สิ้นสุด และกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เห็นวิธีการลบเลือนตัวตนของเธอ (Self-obliteration)

การบำบัดจิตใจด้วยศาสตร์แห่งศิลปะ

ด้วยความคิดสร้างสรรค์อันเหลือล้นตั้งแต่วัยเด็ก Kusama ตัดสินใจเรียนสาขาศิลปะ เธอเริ่มศึกษา “Nihonga” ซึ่งเป็นศิลปะการวาดรูปโบราณของญี่ปุ่น ในช่วงเวลานี้ Kusama เริ่มถ่ายทอดทรรศนะและภาพหลอนที่เธอเห็นผ่านงานศิลปะของเธออย่างจริงจัง

เวลาผ่านไป Kusama ได้ติดต่อกับ Georgia O’Keeffe ผู้เป็นศิลปินชาวอเมริกัน จากนั้นเธอย้ายไปศึกษาต่อที่ Arts Students League ในปี 1959 Kusama เปิดนิทรรศการของเธอครั้งแรกที่ Brata Gallery นิทรรศการแห่งนี้เต็มไปด้วยศิลปะแนว Abstract Expressionism โดยเฉพาะผลงานของเธอที่ชื่อ Infinity Nets ซึ่งมาจากการใช้พู่กันโค้งวาดซ้ำไป ซ้ำมา นี่คือศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพหลอนที่เธอเห็น “ตาข่ายของฉันมันเติบโตทะลุผ่านตัวฉัน ผ่านภาพวาดที่ฉันกำลังวาด” Kusama กล่าวไว้

Advertisements

ในช่วงปี 1967 ถึง 1969 Kusama ได้ริเริ่มการวาด Polka Dot บนร่างกายคน ช่วงเวลาที่เธอโดดเด่นที่สุดคือ ช่วงที่มีการประท้วงในช่วงสงครามต่อต้านเวียดนาม (Anti-Vietnam War Demonstrations) เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเปิดร้านบูติคของเธอเอง ทั้งนี้สไตล์ Polka dot และการทำซ้ำ (Repetition) อันเป็นเอกลักษณ์ของ Kusama ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่ขยายในช่วง 1960s นี้

หลังจากเธอทนอาการป่วยมาหลายปี Kusama ตัดสินใจกลับไปที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอเพื่อเข้ารับการรักษาอาการการลดทอนของความเป็นตัวเอง (Depersonalization Syndrome) การกลับมาที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ความคิดสร้างสรรค์ของเธอได้ขยับขยายไปสู่บทกวี และวรรณกรรม เธอได้เปิดสตูดิโอใกล้โรงพยาบาลเพื่อสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างต่อเนื่อง เธอใช้ผลงานศิลปะในธีมต่างๆ ค้นหาอาการป่วยของเธอ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ความหมกมุ่นในเพศและอาหาร (Sex Obsession and Food Obsession Series), ความปรารถนาแด่จักรวาล (Longing for the Universe), ขุมแห่งซากศพ (Accumulation of the Corpses) ที่เป็นภาพของนักโทษที่ถูกห้อมล้อมด้วยผ้าม่านแห่งความวิปลาส (Prisoners Surrounded by the Curtain of Depersonalisation) และจุดสิ้นสุดของจักรวาล (End of the Universe)

ในคราแรก ผลงานของเธอไม่ได้รับความนิยมนัก จนกระทั่งปี 2014 งานเธอที่เป็นภาพโทนสีเดียว (Monochromatic) ในซีรีส์ “Infinity Net: White” หมายเลข 28 (1960) ถูกประมูลในราคา 7.1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นงานศิลปะที่มีราคาสูงที่สุดจากศิลปินหญิงที่ยังมีชีวิต

ศิลปะที่ฉุดรั้ง และปลดปล่อยตัวตนไปในเวลาเดียวกัน

ในฐานะศิลปิน ผลงานและอัตลักษณ์ของ Kusama ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เธอมักถ่ายรูปคู่กับงานศิลปะของเธออยู่บ่อยครั้ง Kusama เคยกล่าวไว้ว่า หากเธอไม่มีศิลปะยื้อไว้ เธออาจฆ่าตัวตายไปนานแล้ว Kusama อุทิศตลอดชั่วชีวิตของเธอไปกับการรื้ออัตลักษณ์ และปลดปล่อยตัวเธอให้เป็นอิสระ เราสามารถเห็นเธอลบเลือนตัวตนเรื่อยๆ ผ่านชิ้นส่วนหลายๆ ชิ้นของเธอ

จุด Polka Dot จาก Kusama ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์สากลถึงนอกโลกและดวงดาว แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของโลกภายในที่เป็นเซลล์ (Cells) งานของ Kusama ผ่านตัวตนภายในสู่ภายนอก และย้อนกลับมา การฆ่าตัวตนของเรา (I) นั้นมีจุดหมายให้เราเป็นอิสระ และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ศิลปะของ Kusama คือ การเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำโดยถ่ายทอดความบิดเบี้ยวของจิตใจผ่านงานศิลปะลายจุดซึ่งแฝงไปด้วยความหมาย และปรัชญาอันลึกล้ำ แม้เธอจะเจ็บปวดจากอดีต แต่เธอไม่ได้ปล่อยให้ความรู้สึกนั้นกลืนกินเธอ แต่เธอปล่อยให้ ‘ศิลปะ’ กลืนกินตัวเธอเองต่างหาก และเธอเลือกที่จะสู้ต่อเพื่อศิลปะที่เธอรัก

แปลและเรียบเรียง
https://bit.ly/3Hcal5F
https://bit.ly/3n42XBz
https://bit.ly/3n439Rj

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements