INSPIRATIONเพิ่มความสุขด้วยวิธี ‘Vuja Dé’ มองสิ่งธรรมดาด้วยมุมมองใหม่ๆ

เพิ่มความสุขด้วยวิธี ‘Vuja Dé’ มองสิ่งธรรมดาด้วยมุมมองใหม่ๆ

คุณกำลังเริ่มต้นวันใหม่ด้วยระบบ Autopilot อยู่หรือเปล่า?

ตื่นมาเจอสภาพห้องที่เราเห็นมาเป็นล้านรอบ ทานอาหารเช้าร้านเดิมๆ ก่อนจะออกไปเจอสภาพการจราจรที่ติดขัดเหมือนวันก่อนๆ เมื่อถึงที่ทำงาน เราก็ซื้อกาแฟเมนูเดิมที่ซื้อเป็นประจำ พอเลิกงานก็ฝ่ารถติดกลับบ้าน พักผ่อน ทิ้งตัวลงนอนเพื่อตื่นเช้ามาใช้ชีวิตเดิมๆ ในวันต่อไป

คุณกำลังเบื่อกับชีวิตที่ดูซ้ำซากจำเจนี้ไหม หรือกำลังคิดว่าเราจะตามหาแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใหม่ๆ ทั้งที่ตัวเรายังอยู่ท่ามกลางสิ่งเดิมๆ ได้อย่างไรกัน?

จริงๆ แล้วแรงบันดาลใจอาจอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด หากเราลองเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตดู

ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับ “Deja Vu” ดี ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าเราเคยมาที่นี่หรือเคยเห็นสิ่งนี้มาแล้ว ทั้งๆ ที่เราเพิ่งเคยเห็นครั้งแรก ปรากฏการณ์นี้ทำให้เราคุ้นชินกับสิ่งใหม่ จนไม่สนใจรายละเอียดของสิ่งนั้น และทำให้เราขาดความคิดริเริ่มสิ่งใหม่

หากเราอยากลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ อาจลองทำอะไรตรงกันข้ามดู ซึ่งในที่นี้ก็คือ “Vuja Dé” นั่นเอง

Adam Grant นักจิตวิทยาผู้ศึกษาความลับของแรงจูงใจ และการคิดแบบมีประสิทธิภาพ เจ้าของหนังสือชื่อดัง Think Again ได้พูดถึงการพัฒนาตนสู่การเป็นนักคิดและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ โดยการสงสัยความคิดตัวเองผ่านวิธี “Vuja Dé” หรือการมองสิ่งเดิมๆ ด้วยมุมมองใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง

ยกตัวอย่างการ์ตูนเรื่อง Frozen จากค่าย Disney โดยปกติตัวร้ายประจำการ์ตูนมักเป็นราชินีใจร้าย แต่ Jennifer Michelle Lee ผู้กำกับและเขียนบทของ Frozen มองว่า บทที่ให้ราชินีเป็นตัวร้ายตลอดเวลานั้นน่าเบื่อและไม่ค่อยสมเหตุสมผลเลย เธอตัดสินใจเขียนบทใหม่ เปลี่ยนจากราชินีตัวร้ายให้เป็นผู้หญิงที่ถูกสังคมบีบให้ดูเป็นตัวร้ายต่างหาก มุมมองใหม่ๆ นี้ทำให้ Frozen กลายเป็นการ์ตูนที่ได้ความนิยมสูงสุดในขณะนั้น

แล้วถ้าเราอยากคิดอะไรใหม่ๆ ให้ปังพลุแตกแบบ Frozen บ้างล่ะ เรามาลองฝึกคิดแบบ ‘Vuja De’ กันดีกว่า!

มารู้จัก “Vuja Dé” กันก่อน

Vuja Dé คือ ความรู้สึกแปลกใหม่และไม่คุ้นเคยต่อสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด เช่น ในขณะที่เรากำลังขับรถไปทำงานผ่านเส้นทางที่ใช้ประจำทุกวันเรากลับรู้สึกว่ามีบางสิ่งแปลกไปอย่างสิ้นเชิง จนเราเริ่มสงสัยและใส่ใจหารายละเอียดต่างๆ เพื่อหาสาเหตุของความรู้สึกไม่คุ้นชิน

ในตอนแรก ความรู้สึกแปลกใหม่นี้อาจทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นพอๆ กับกลัว แต่เมื่อเราก้าวข้ามความกลัวได้ เราจะมีความมั่นใจในตัวเองจนพร้อมจะมองหาและรับสิ่งใหม่ๆ ได้ดีขึ้น ความสงสัยนี้จะทำให้เราเป็นนักสังเกตและนักสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น

ทำไมเราต้องคิดแบบ Vuja Dé?

[ ] เห็นมุมมองใหม่ๆ ในประเด็นมาแรง
บ่วงความคิดที่ขังเราจากความคิดสร้างสรรค์ไว้คือ “ฉันก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน” เมื่อเราคิดเหมือนกับคนอื่นๆ ความแตกต่างและเอกลักษณ์เราก็ลดลง แต่หากเราลองมองให้ไกลจากจุดที่เป็นอยู่

เช่น ‘ทำอย่างไรให้ภาพยนตร์หรือละครไทยโด่งดังมากขึ้น’ หลายๆ เรื่องยังคงใช้บทเดิมๆ อยู่ทำให้คนคาดเดาพล็อตได้ แต่พอเปลี่ยนแปลงบททั้งหมดให้แตกต่างออกไป คนกลับไม่อยากดูเพราะพวกเขาไม่คุ้นชินซะงั้น ดังนั้นวิธีคิดบทแบบ Vuja Dé จะเพิ่มความสร้างสรรค์โดยรักษากลิ่นอายเดิมไว้ โดยการฉายสปอตไลต์ให้ผู้คนได้เห็นมุมมองใหม่ของกรอบเดิมๆ อย่างที่ Frozen ทำก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

[ ] เติมความสุขให้ชีวิต
เรามักมองหาความสุขจาก ‘สิ่งที่เราไม่มี’ แต่กลับมองข้ามความสุขจาก ‘สิ่งที่เรามี’ ไม่ว่าจะเป็นหมอนนุ่มๆ พระอาทิตย์ยามเช้า หรือแม้แต่ร่างกายของเราเอง

ลองมองสิ่งเหล่านี้ไปด้วยมุมมองใหม่อีกครั้ง แล้วกล่าวขอบคุณสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้ ‘ขอบคุณหมอนที่ให้เราหนุนทุกค่ำคืน หลังตื่นนอนก็ขอบคุณพระอาทิตย์ที่มอบแสงสว่างอันอบอุ่นให้เรา ขอบคุณร่างกายอันแข็งแกร่งที่ยังอดทนทำงานต่อไป’ เมื่อเราเริ่มคิดแบบ Vuja Dé ไม่เพียงแค่เริ่มชื่นชมสิ่งรอบข้าง เรายังได้พบกับความสงบ ความเรียบง่ายและความสุขที่เราใฝ่หาอีกด้วย

Advertisements
Advertisements

4 วิธีง่ายๆ สร้างแนวคิดแบบ ‘Vuja Dé’

1. ออกไปเดินเล่นข้างนอก
แหล่งความคิดและมุมมองดีๆ อาจไม่ได้อยู่แค่บนอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือในห้องสมุด แต่เป็นโลกข้างนอก หากเรากำลังประสบปัญหากับการหาไอเดียเจ๋งๆ ให้โปรเจกต์ที่ทำอยู่ ลองหยุดทำงานแล้วออกมาเดินเล่นข้างนอกสักหน่อย

ทางวิทยาศาสตร์แนะนำไว้ว่า ขณะเดินเล่น ถึงแม้เราจะยังคงเห็นตึกเดิมๆ กลุ่มคนเดินขวักไขว่และร้านกาแฟรอบๆ ออฟฟิศที่เราเห็นทุกวัน แต่หลังเราออกมาเดินได้ 20 นาที สมองเราจะเกิดไอเดีย และปล่อยโปรตีนที่เป็นอาหารของสมองชื่อว่า Brain-Derived Neurotrophic Factor (BDNF) เจ้าโปรตีนชนิดนี้จะกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองเสมือนกับ ‘ปุ่มรีเซตสมอง’ เมื่อเรากลับไปที่ออฟฟิศ เราก็จะมองปัญหาเดิมที่เราเจอด้วยมุมมองใหม่และแก้ปัญหาได้นั่นเอง

อีกหนึ่งรูปแบบการเดินที่ช่วยกระตุ้นให้เราคิดแบบ Vuja Dé คือ ‘เดินราวกับเป็นนักท่องเที่ยว’ ถึงแม้เรากำลังเดินบนเส้นทางเดิมๆ ทุกสัปดาห์มาเป็นปีแล้ว ลองมองสภาพแวดล้อม คนที่เดินผ่านไปมา ตึกต่างๆ พื้นที่สีเขียวราวกับเราเพิ่งเจอสิ่งเหล่านี้เป็นครั้งแรก แล้วเราอาจจะได้เห็นสิ่งต่างๆ แปลกตาจากเดิมขึ้นเยอะแยะเลย


2. ใส่ใจเสียงรอบข้างให้มากขึ้น
เรามักสนใจจอคอมพิวเตอร์หรือจ้องมือถือเกือบตลอดทั้งวัน จนละเลยสิ่งที่เกิดรอบข้างเรา ถึงเวลายกนิ้วโป้งออกจากจอมือถือและหันมาสนใจเสียงรอบข้างแทน วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้เราได้พักผ่อนจากกลุ่มความคิดที่ยุ่งเหยิงเพราะงาน ยังช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้น ทำให้เราเริ่มคิดหรือเห็นสิ่งเก่าๆ ด้วยมุมมองใหม่ได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ท่องไว้เสมอว่า ที่ไหนมีข้อมูล ที่นั่นมีไอเดีย และแนวคิดดีๆ อาจมาจากคำพูดของคนแปลกหน้าก็ได้ แน่นอนว่า การแอบฟังบทสนทนาของคนอื่นไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่หากเราไม่ได้เอาไปบอกต่อ การแอบฟังก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เราเพียงแค่กำลังหาคำพูดหรือวลีธรรมดาๆ ที่อาจเปลี่ยนโลกในการใช้ชีวิตและทำงานเราก็ได้ ดังนั้นลองแอบฟังเสียงจากคนรอบข้างดู แต่ทำไปเพื่อให้เราคิดแบบ Vuja Dé เท่านั้นนะ


3. ย้อนนึกถึงจุดประสงค์ของงาน
หลายอาชีพหรือกิจกรรมต้องเจอกับความจำเจ เช่น หากเราเป็นเจ้าของเพจที่ลงรูปท้องฟ้าในทุกๆ วัน แต่เราดันเริ่มรู้สึกเบื่อกับการทำอะไรเหมือนเดิมขึ้นมา วิธีแก้คือ ให้เราตั้งจุดประสงค์ให้การทำนี้ว่า ‘ทำเพื่อตอบโจทย์ทิศทางของเพจเรา’ เสมือนเราเพิ่งเริ่มต้นถ่ายภาพท้องฟ้าในวันแรกๆ แค่นี้ก็สามารถเปลี่ยนความซ้ำซากให้เป็นรู้สึกว่าเป็นสิ่งใหม่ได้เหมือนกัน


4. เปลี่ยนสิ่งเล็กๆ
หากเราเป็นคนที่ต้องเจอกับกองงานท่วมหัว การทำตารางชีวิตและจัดระเบียบสิ่งต่างๆ ในชีวิตก็ช่วยเราได้เยอะ แต่พอทำไปนานๆ เข้าเรากลับกำลังเข้าสู่โหมด Autopilot จนรู้สึกหมดไฟกับการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นลองเริ่มเปลี่ยนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตดูไหม

เช่น หากเราต้องประชุมทีมทุกวันจันทร์เวลา 10 โมงเช้า แต่ไอเดียที่ได้ในประชุมกลับเริ่มขาดความน่าสนใจ ลองปรับเวลาประชุมดู เพราะเวลาที่เปลี่ยนไปช่วยให้สมองไม่รู้สึกจำเจ และเริ่มผลิตไอเดียสร้างสรรค์ได้มากขึ้น


ที่ผ่านมา หลายคนเหมือนกำลังใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ทุ่มเทไปกับการตามหาสิ่งใหม่ จนมองข้ามสิ่งที่เราเห็นมาหลายครั้ง แต่เมื่อเราลองปรับความคิดเล็กน้อย สิ่งต่างๆ ที่เคยเห็นมาเป็นล้านครั้งอาจมีความหมายกับเรามากกว่าที่คิด ดังนั้นลองมาเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ คิดแบบมีประสิทธิภาพ และเติมความสุขให้กับชีวิตด้วยมุมมองแบบ ‘Vuja Dé’ ดู


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
– ชีวิตที่สมบูรณ์แบบมีจริงไหม? ค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ กับหนังสือ ‘The Midnight Library’


อ้างอิง
https://bit.ly/3rKbkoe
https://bit.ly/3LuQlNN
https://bit.ly/3rGpcQ6
https://bit.ly/3HLkJBt
https://bit.ly/34zYoZd

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า