INSPIRATION 6 เรื่องที่นักจิตวิทยาอยากบอกกับคนวัย 20-30

 6 เรื่องที่นักจิตวิทยาอยากบอกกับคนวัย 20-30

เคยจินตนาการ “ชีวิตวัยผู้ใหญ่” ของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง?

พอเรียนจบเราจะทำงาน เก็บเงิน มีบ้าน มีรถ และมีครอบครัว เช่นเดียวกับพ่อแม่ หรือคนจากเจเนอเรชันก่อนหน้าหรือเปล่า หรือคิดว่าจะได้แต่งงานตั้งแต่อายุ 27-28 จะไม่เหมือนเหมยลี่ในหนังรถไฟฟ้ามาหานะเธอที่ยังโสดตอน 30 ใช่ไหม

แต่พอเราได้มาอยู่ในวัยนี้เอง เราก็รู้ว่ามันไม่ได้ง่ายเช่นนั้น

เมื่อเปิดหนังสือที่ชื่อว่า “ชีวิตหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย” เราพบว่ามันไม่ได้มี 5 บท ​(ทำงาน เก็บเงิน มีบ้าน มีรถ และมีครอบครัว) อย่างที่เคยจินตนาการไว้ตอนเด็ก แต่กลับเป็นหน้ากระดาษอันว่างเปล่า ที่คอยให้เราวาดเรื่องราวออกมาด้วยตนเอง พร้อมๆ กับข้อจำกัดและคำถามที่ต้องตอบมากมาย

จะเรียนต่อหรือทำงาน? จะทำงานที่ได้เงินเยอะหรืองานที่ได้ทำตามฝัน? จะย้ายออกมาอยู่คนเดียวหรืออยู่กับพ่อแม่? คำถามสารพัดเหล่านี้ มาพร้อมปัญหาอย่างเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง อสังหาริมทรัพย์ราคาสูงลิ่ว ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคระบาด และการสูญเสีย ที่มีตั้งแต่การสูญเสียคนสำคัญ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างการสูญเสียโอกาสในการใช้ชีวิตปกติ แบบตอนไม่มีโควิด

“ความวิตกกังวล ความเศร้าซึม ความปวดร้าว และการหลงทาง ได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่” Satya Boyle Byok นักบำบัดวัย 39 ปี กล่าว เขาพบว่าในระยะหลัง คนวัย 16-36 ปี มาปรึกษาเขาด้วยปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

“Existensial Crisis” หรือปัญหาชีวิตที่คิดไม่ตกเช่นนี้เคยเป็นของผู้ใหญ่วัยกลางคน แต่ตอนนี้มันได้กลายมาเป็นปัญหาของคนหนุ่มสาวเสียแล้ว
แต่พวกเขาจะผ่านช่วงเวลาอันน่าสับสนนี้และเติบโตต่อไปได้อย่างไร? บทความเรื่อง What Psychologists Want Today’s Young Adults to Know จากเว็บไซต์ The New York Times ได้แนะนำ 6 เรื่องที่นักจิตวิทยาอยากให้คนหนุ่มสาวยุคนี้รู้ไว้ ดังนี้..

1) จริงจังกับตัวเองบ้าง

ชีวิตปัจจุบันเต็มไปด้วยความบันเทิง ข่าวสาร และสิ่งรบกวนเต็มไปหมด ทำให้บางครั้งเราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ และวันหยุดของเราก็หมดไปกับหน้าจอ โดยละเลยหลายสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ
แน่นอนว่ามีหลายคนพึงพอใจในชีวิตแบบนี้ แต่ก็มีหลายๆ คนที่มักจะรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่เอาไหน” และเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นบ่อยๆ จนไม่มีความสุข

หากเราคือหนึ่งคนที่รู้สึกเช่นนี้ จะทำอย่างไรดี?
“แบ่งเวลาให้เรามีเวลาเห็นแก่ตัวบ้าง” Angela Neal-Barnett ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Kent แนะนำ

“เวลาเห็นแก่ตัว” ของเธอนั้นหมายถึงช่วงเวลาที่เราได้กลับมาสำรวจตัวเอง ดูว่าตอนนี้ชีวิตเราเป็นอย่างไร เรารู้สึกไม่พึงพอใจหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ก้าวหน้าไปไหนหรือเปล่า? จากนั้นก็ค่อยหาว่าด้านไหนในชีวิตที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนี้ และเราจะแก้ไขมันอย่างไร?

และจริงๆ แล้วเราสนใจอะไรเป็นพิเศษไหม? มีความฝันว่าอยากไปเที่ยวที่ไหน หรือเรียนภาษาอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า? ลองเอาตัวเองออกจากโลกที่วุ่นวาย และสำรวจความต้องการภายในใจดูบ้าง
เธอยังแนะนำอีกว่า คนหนุ่มสาวควรกลับมาเช็กอินกับตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ทุกๆ สามเดือน

2) อย่ารีบร้อน

หลายคนอาจรู้สึกถึงแรงกดดันให้รีบก้าวหน้าไปยังอีกขั้นของชีวิต จนลืมไปว่าบางเรื่องในชีวิตต้องใช้เวลา ดังนั้นอย่ารีบ “ทำให้เสร็จ” ราวกับว่าชีวิตคือการเช็กถูกในลิสต์ “สิ่งที่ต้องทำ” แต่ปล่อยให้ตัวเองได้โต้คลื่นไปพร้อมกับจังหวะชีวิตที่ขึ้นๆ ลงๆ บ้าง

Advertisements

3) ถามตัวเองว่ามีอะไรที่ขาดหายไป?

Satya Boyle Byok นักบำบัดที่เราพูดถึงในตอนต้นได้แบ่งคนวัยหนุ่มสาวไว้สองประเภท คือ กลุ่มที่เน้นความมั่นคง และ กลุ่มที่เน้นความหมาย

“กลุ่มที่เน้นความมั่นคง” มักจะให้ความสำคัญความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต พวกเขาก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีแผนชีวิตที่ค่อนข้างมั่นคง และอาจกำลังคิดถึงเรื่องการสร้างครอบครัวอยู่ แต่ลึกๆ ในใจ พวกเขามักจะรู้สึกว่างเปล่า และได้แต่สงสัยว่า ‘ชีวิตมันก็แค่นี้หรือ?’

มองไปยังขั้วตรงข้ามอย่าง “กลุ่มที่เน้นความหมาย” ซึ่งเป็นกลุ่มคนช่างฝันที่โดดจากงานหนึ่ง ไปอีกงานหนึ่งเรื่อยๆ มองว่าชีวิตคือการตามหาแรงบันดาลใจและ Passion พวกเขาขยาดการใช้ชีวิตที่ต้องทำงานเข้าเช้า-ออกค่ำแสนน่าเบื่อ แต่สิ่งที่คนเหล่านี้มักจะรู้สึกคือ ความต้องการของสังคมนั้นช่างน่ากดดันและสวนทางกับตัวตนของพวกเขาเหลือเกิน

Satya Boyle Byok บอกว่าหากเราเป็นคนกลุ่มแรก ลองหันมาใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความฝัน แรงบันดาลใจ และPassion บ้าง แต่ถ้าหากเราเป็นคนกลุ่มหลัง ต้องลองหาความมั่นคงให้ชีวิตบ้าง ทั้งสองกลุ่มจึงจะมี ‘ความพอดี’ และเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปได้นั่นเอง

4) สร้างความแน่นอนบนความไม่แน่นอน

โลกนี้เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และนั่นอาจทำให้เหล่าคนหนุ่มสาวหนักใจยิ่งกว่าเดิม งานก็เปลี่ยน คนรอบตัวก็เปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน ไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลย!

แต่รู้ไหมว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ เราสามารถสร้างความแน่นอนเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันได้ ยกตัวอย่างเช่น การมี Self-care routine การคอยจดบันทึกสิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณ (Gratitude Journal) การฝึกควบคุมการหายใจ การทานอาหารสุขภาพดี และการออกกำลังกายเป็นประจำ
สิ่งเล็กๆ ที่เราควบคุมได้นี่แหละจะคอยยึดเหนี่ยวจิตใจเราท่ามกลางความผันผวนของชีวิต

Advertisements

5) อย่ากลัวที่จะเปลี่ยน

ชีวิตนี้มีหลายอย่างที่เราเปลี่ยนไม่ได้ เช่น หัวหน้าที่น่ารำคาญ เพื่อนร่วมงานที่นิสัยไม่ดี หรือแฟนที่ไม่ค่อยเอาใจใส่ เป็นต้น การคาดหวังว่าเราจะสามารถเปลี่ยนคนอื่น หรือ คนอื่นจะเปลี่ยนเพื่อเรา ทำให้เราทุกข์ใจเสียมากกว่า

ในขณะเดียวกัน อย่าลืมว่ายังมีอีกหลายแง่มุมของชีวิตที่เราสามารถเปลี่ยนได้ เช่น การเปลี่ยนงาน การย้ายที่อยู่ หรือการยุติความสัมพันธ์
แน่นอน หลายคนเลือกที่จะอยู่ที่เดิมเพราะเรื่องพวกนี้พูดง่ายกว่าทำ และบางครั้งเราไม่พร้อมที่จะแลก (เช่น การยุติความสัมพันธ์อาจต้องแลกกับความเสียใจและความโดดเดี่ยวในช่วงแรก)

แต่สำหรับใครหลายๆ คนที่รู้ลึกๆ ในใจว่าเราอยากเปลี่ยนจริงๆ อย่ากลัวที่จะตัดสินใจ เชื่อเถอะว่าแม้จะยาก แต่เราก็รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว

6) รู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องพึ่งคนอื่น และ เมื่อไหร่ที่ต้องพึ่งตัวเอง

พอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เราเริ่มพึ่งพาคนอื่นน้อยลง (โดยเฉพาะคนในครอบครัว) หันมาเผชิญหน้าและแก้ปัญหาด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ เพราะในชีวิตนี้ ไม่มีใครที่จะสามารถอยู่กับเราและให้ความช่วยเหลือเราได้ตลอดเวลา ในช่วงเวลาวิกฤต ทางออกของเราอาจมีแค่ตัวเราเอง

ดังนั้นเราต้องหัดอยู่คนเดียวให้ได้
แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่าแม้จะอยู่คนเดียว เราก็ยังมีเพื่อน ครอบครัว คนรัก และสัตว์เลี้ยงคอยให้กำลังใจเราอยู่เสมอ และพวกเขาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ เมื่อเราต้องการจริงๆ

“อยู่คนเดียวให้ได้โดยที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยว” เป็นอีกหนึ่งทักษะที่ต้องฝึกฝนเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
โลกที่เปลี่ยนไปนำมาซึ่งความท้าทายอย่าง “Quarterlife Crisis” ให้คนหนุ่มสาวได้เผชิญเร็วกว่าเดิม แต่แทนที่จะท้อแท้และยอมแพ้ ลองใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ ปรับตัว (และนำ 6 คำแนะนำนี้ไปใช้!) เราจะเผชิญหน้ากับความท้าทายและก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ ด้วยความเข้มแข็งและประสบการณ์ที่มากกว่าเดิมแน่นอน


อ้างอิง
https://nyti.ms/3wqItHt

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 คำถามที่ตอบตัวเองแล้วจะมีความสุขกับวันนี้มากขึ้น :: https://bit.ly/3pIyObe
อายุเท่านี้ ไม่ต้องมีเท่านั้นก็ได้! โบกมือลาความกดดันจากนาฬิกาทางสังคม :: https://bit.ly/3TdxNWs

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration

 

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Tanyaporn Thasak
Tanyaporn Thasak
ผู้โดยสารคนหนึ่งบนยาน Mission To The Moon ที่หลงใหลในวรรณกรรม ภาพยนตร์ บทกวี การอ่าน การเขียน และการนอน

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า