INSPIRATIONโอบกอดอดีต แล้วก้าวสู่ชีวิตใหม่ ด้วยวิถีแห่ง “Naikan”

โอบกอดอดีต แล้วก้าวสู่ชีวิตใหม่ ด้วยวิถีแห่ง “Naikan”

ช่วงเวลาปีใหม่ เป็นหนึ่งในช่วงเวลาแสนสำคัญของนักพัฒนาตนเองทั้งหลาย ราวกับเป็นพิธีกรรมแห่งการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ชำระล้าง และเริ่มต้นใหม่ไปพร้อมกับตัวเลขปีที่เปลี่ยนไป แต่ละปีเราก็มักจะสรรหาวิธีต่างๆ มายกระดับตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนตนเอง (Self-reflection) การเริ่มต้นแพลนเนอร์เล่มใหม่ หรือการตั้งเป้าหมายอย่าง ‘New Year Resolution’ เป็นต้น

ทว่าสิ่งหนึ่งที่นักพัฒนาตนเองจำนวนไม่น้อยเคยสัมผัส คือความว่างเปล่าในใจ ยิ่งวิ่งไล่ตามตัวตนที่อยากเป็นมากเท่าไรยิ่งดูห่างไกลออกไป ไม่รู้ว่าจะต้องวิ่งไล่เป้าหมายไปจนถึงเมื่อไร พัฒนาตนเองไปมากอีกสักเพียงใดจึงจะพอใจกับชีวิตที่มีเสียที

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดการพัฒนาตนเองส่วนมากนั้น มักมีแนวคิดที่ยึดกับตนเองเป็นหลักหรือ Self-center ซึ่งให้ความสนใจกับการมุ่งไปยังเป้าหมายของตนเองโดยละทิ้งสิ่งรอบข้างเอาไว้เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ให้ความสำคัญกับการกระทำและผลที่ตนเองจะได้รับจากการกระทำนั้นเป็นหลักเพียงเท่านั้น

แม้ว่าแนวทางเช่นนั้นอาจทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้จริง แต่สุดท้ายแล้วมักลงเอยที่ความรู้สึกว่างเปล่า ไม่ได้รับการเติมเต็มอย่างที่ใจคิด เพราะสูญเสียความเชื่อมโยงกับสิ่งรอบข้างไปจนหมด เหลือเพียงตนเองและความสำเร็จที่กลวงโบ๋แทน ถึงจุดหนึ่งในชีวิตที่คิดว่าประสบความสำเร็จ แต่เมื่อมองย้อนกลับมากลับพบว่าตนเองสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างให้กับเป้าหมายเดียวเยอะกว่าที่คิด

แต่ถึงแม้การพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอและมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้จะเป็นเรื่องดี แต่การเดินทางตรงโดยไม่มองรอบข้างเลยนั้นอาจนำพามาแต่ความเสียใจภายหลัง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่น่าภิรมย์เหล่านั้น Mission To The Moon จึงอยากแนะนำให้รู้จักกับ “Naikan Therapy” หรือ “การบำบัดวิถีไนกัง” เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับทุกคนกัน

กำเนิดแนวคิดการบำบัดแบบ “Naikan”

แนวคิด “Naikan” ริเริ่มมาจากยาชิโมโตะ อิชิน (Yashimoto Ishin) พระในศาสนาพุทธและนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่ยึดมั่นการบำเพ็ญตนแบบเคร่งครัดอย่าง ‘มิชิราเบะ’ (Mishirabe) ซึ่งคำว่า “Naikan” แปลว่า การมองเข้าไปข้างในหรือการมองตนเองด้วยดวงจิต หมายถึงการทบทวนความรู้และความคิด พินิจพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตนเองอย่างลึกซึ้ง

David Reynolds เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่นำแนวคิดนี้เผยแพร่ในแถบอเมริกาเหนือ จนกลายเป็นโปรแกรมบำบัดและแนวทางการรักษาทั่วสหรัฐอเมริกาและยุโรป จนกระทั่ง Greg Krech ได้เผยแพร่แนวคิดนี้สู่สาธารณชนผ่านหนังสือ ‘Naikan: Gratitude, Grace, and the Japanese Art of Self-Reflection’ (2002)

Krech อธิบายแนวคิด “Naikan” ว่า เป็นแนวทางในการสะท้อนตนเองที่ช่วยให้เราเข้าใจตนเอง เข้าใจความสัมพันธ์กับผู้อื่นและสิ่งต่างๆ และเข้าใจธรรมชาติพื้นฐานของการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งมีงานวิจัยมากมายกล่าวว่าการบำบัดตามแนวคิด “Naikan” เป็นประโยชน์กับคนหลายกลุ่ม รวมถึงอาชญากรและผู้ป่วยโรคจิตเวชด้วยเช่นกัน

การตรึกตรองสะท้อนตนเองในแบบของ “Naikan” นั้น ไม่เพียงแค่ทำให้เราเข้าใจและรู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ของตนเองมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเราขยายมุมมองที่มีต่อสิ่งรอบข้างและกอบกู้ความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิดและคนที่เราให้ความสำคัญ

การสะท้อนตนเองผ่านการเชื่อมโยงกับผู้อื่น

ขณะที่แนวคิดตะวันตกมากมาย เช่น การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ให้ความสำคัญกับการพิจารณาโดยมีตนเองเป็นศูนย์กลาง จนบางครั้งทำให้เราเน้นย้ำความรู้สึกของตนเองมากเกินไปจนทำให้มองโลกผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง นำไปสู่พลังงานลบมากมายเพราะอคติของตนเอง

กรณีที่เราเป็นผู้มองโลกในแง่ลบหรือในช่วงนั้นประสบแต่พลังงานลบจนพาให้สะกดจิตตนเองว่าโลกใบนี้ช่างโหดร้าย การตอบคำถามสะท้อนตนเองอย่าง “วันนี้ฉันรู้สึกขอบคุณ…” หรือ “วันนี้รู้สึก…” ก็อาจจะออกมาในแง่ลบด้วยเช่นกัน เช่น วันนี้ฉันรู้สึกขอบคุณตนเองที่ยังไม่ตาย หรือวันนี้ฉันรู้สึกหดหู่

สำหรับแนวคิด “Naikan” แล้ว มุมมองที่ยึดติดกับตนเองราวกับเป็นตัวละครหลักในโลกนี้เพียงผู้เดียวไม่ใช่การมองและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แต่เป็นการมองผ่านฟิลเตอร์ที่ตนเองอยากจะมองเพียงเท่านั้น และวิธีดังกล่าวไม่ได้ยกระดับหรือพัฒนาตนเองได้ดั่งที่หวัง

ด้วยเหตุนั้นเอง ศิลปะการสะท้อนตนเองสไตล์ญี่ปุ่นอย่าง “Naikan” จึงให้ความสำคัญกับการพินิจพิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ต่างๆ ที่เราเคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เพื่อตระหนักถึงความดีงามที่ผู้อื่นมีต่อเราและผลกระทบจากการกระทำของเราต่อสิ่งรอบตัว

หนึ่งในหลักการสำคัญของแนวคิดนี้คือความรู้สึกขอบคุณ เพราะโลกที่ซับซ้อนขึ้นทำให้ผู้คนต่างหมางเมินและเย็นชาต่อกัน จนหลงลืมวิธีการแสดงความรู้สึกขอบคุณ ด้วยเหตุผลมากมายและชุดความคิดต่างๆ ที่ถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น

[ ] การขาดการตระหนักรู้และการสะท้อนการกระทำตนเอง
[ ] การคิดไปเองว่าผู้อื่นน่าจะรู้สึกได้ถึงความรู้สึกขอบคุณของตนเอง
[ ] การผัดวันประกันพรุ่งว่าจะแสดงความขอบคุณคราวหน้าก็ได้
[ ] การคิดไปว่าเป็นเรื่องสมควรอยู่แล้วที่จะได้รับสิ่งนี้หรือการกระทำนี้
[ ] การคิดไปว่าเป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องขอบคุณ
[ ] การคิดไปว่าเขาคงไม่ได้เปลืองแรงอะไรมากในการทำสิ่งนี้ให้เรา

ชุดความคิดเหล่านี้คอยกันเราไม่ให้รู้สึกชื่นชมกับสิ่งรอบตัวเท่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายแล้วเมื่อเราลืมเลือนวิธีการชื่นชมและขอบคุณสิ่งต่างๆ ก็ยิ่งมีแต่จะทำให้เรารู้สึกว่างเปล่าและโดดเดี่ยวอยู่บนลู่วิ่งไปสู่เป้าหมายที่ทอดยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด

Advertisements

มองความเป็นจริง ผ่านคำถามสะท้อนตนเอง

เพื่อให้การเดินทางสู่เป้าหมายของเราเปี่ยมไปด้วยความหมายและเพื่อไม่ให้ตนเองต้องรู้สึกท้อไประหว่างทาง การให้ความสำคัญกับทุกก้าวเดินระหว่างทางจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับนักพัฒนาตนเองที่ต้องการมีชีวิตที่สมบูรณ์และภาคภูมิใจ

ดังนั้น หากเรากำลังติดอยู่ในหล่มแห่งการยึดติดกับตนเองอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์? จะทำอย่างไรหากเราหลงลืมวิธีการเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งรอบตัวไปหมดสิ้น? ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะยังมีชีวิตที่น่าภาคภูมิดั่งใจหวังได้อยู่หรือไม่?

การบำบัดแบบ “Naikan” ใช้การตอบคำถามเพียง 3 ข้อก็พอสำหรับการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรอบข้าง

Advertisements

1. เราได้รับอะไรจาก ….. ?

คำถามข้อนี้จะช่วยรื้อฟื้นความรู้สึกขอบคุณด้วยการพิจารณาความสัมพันธ์ตนเองกับสิ่งอื่น ว่าเราได้รับอะไรบ้างจากสิ่งเหล่านั้นในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น เมื่อวานฉันได้รับคำขอบคุณจากเพื่อนร่วมชั้น วันนี้ฉันได้รับความเป็นห่วงจากแม่ ปีนี้ฉันได้รับแรงบันดาลใจจากน้ำตก เป็นต้น โดยเราอาจจะเริ่มจากการตระหนักถึงสิ่งใกล้ตัวก่อนแล้วค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไป

ยกตัวอย่างเช่น วันนี้บาริสต้ายื่นกาแฟให้พร้อมรอยยิ้ม พนักงานหลังร้านล้างแก้วให้ฉัน ขอบคุณที่เจ้าของร้านตั้งร้านนี้ขึ้นมา ช่างก่อสร้างช่วยสร้างสถานที่สวยๆ ที่ฉันนั่งอยู่ ช่างฝีมือออกแบบแก้วสวยๆ นี่ออกมา คนงานในไร่เป็นผู้ปลูกกาแฟรสชาติดีแก้วนี้ เป็นต้น

การถามคำถามนี้จะช่วยให้เราเอาสติออกจากตนเองแล้วหันมองสิ่งรอบข้างมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างรอบตัวเรา สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบตัวเราอย่างไร และท่ามกลางความเร่งรีบในแต่ละวันเราพลาดอะไรไปบ้าง วิธีนี้จะทำให้เราลดอคติหรือลบฟิลเตอร์ในการมองโลกออกไปได้ทีละเล็กน้อยนั่นเอง

2. เราได้ให้อะไรกับ …. ?

ชีวิตมีรับก็ต้องมีให้ ทว่าการยึดติดกับตนเองจะทำให้เรามองแต่สิ่งที่เราได้รับจนลืมไปว่าเราไม่ได้มีสิทธิในทุกอย่างบนโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นก็ควรจะให้อะไรกับคนอื่นหรือสิ่งรอบตัวเราคืนกลับไปบ้าง เพราะการให้จะช่วยเพิ่มความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและนำไปสู่การมีชีวิตที่เราภูมิใจ

การตอบคำถามว่าเราได้ให้อะไรกับสิ่งอื่นบ้างจะเป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีให้เราหันกลับมามองสิ่งที่กำลังทำอยู่ว่าเป็นไปตามที่เราจินตนาการหรือไม่ เราใช่คนที่เราคิดว่าเป็นและอยากเป็นหรือเปล่า โดยการกระทำให้ผู้อื่นนั้นจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ย่อมสร้างผลกระทบให้กับโลกนี้ได้

ยกตัวอย่างเช่น ฉันเก็บขยะ ก็นับเป็นหนึ่งสิ่งที่เราได้ทำให้สังคม ฉันเปิดประตูให้คนข้างหลัง ฉันจ่ายบิลตรงเวลา ฉันรดน้ำต้นไม้ ฉันเล่นกับแมวจรจัด เป็นต้น การพิจารณาสิ่งที่ตนเองได้มอบให้รอบข้างเป็นการยืนยันกับตนเองว่าสิ่งใดที่ควรทำต่อไปเพื่อมีชีวิตที่ภูมิใจ

3. เราสร้างความเดือดร้อนอะไรให้ … ?

นับเป็นหนึ่งในคำถามที่มักไม่พบในแนวคิดการสะท้อนตนเองหรือพัฒนาตนเองศาสตร์อื่น เนื่องจากแนวคิดส่วนมากให้ความสำคัญกับสิ่งดีๆ ที่เราทำและเราได้รับ แต่สำหรับแนวคิดการบำบัดแบบ “Naikan” การพิจารณาว่าตนเองส่งผลกระทบใดกับโลกนี้บ้างจะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้น

เพราะบางครั้งเรามักจะเมินเฉยกับเรื่องไม่ดีที่เราก่อให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน ด้วยเหตุผลหลายประการที่เรามักจะอ้างขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง แต่แนวคิดแบบ “Naikan” จะไม่ยอมให้เราลืมการกระทำเหล่านั้นเพื่อคอยย้ำเตือนตนเองเสมอว่าเราเป็นคนที่ดีกว่านั้นได้

เช่นเดียวกับที่ Krech กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า “หากเราไม่สามารถมองเห็นและยอมรับว่าตนเองเป็นต้นตอความยากลำบากของผู้อื่น เราก็ไม่สามารถรู้จักตนเองอย่างแท้จริง รวมถึงไม่สามารถตระหนักถึงความภาคภูมิใจในชีวิตของเราด้วยเช่นกัน”

คำถามข้อนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้เราตอกย้ำตนเองว่าเป็นคนเลวร้ายหรืออย่างไร แต่เป็นการหยิบยกความไม่น่าภิรมย์ของตนเองออกมาพินิจพิจารณา เรียนรู้และคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอ จนกระทั่งนำไปสู่การยอมรับตนเอง มองเห็นตนเองอย่างเป็นกลาง และมุ่งไปสู่การพัฒนาตนเองให้เป็นในแบบที่อยากเป็นในที่สุด

นับว่าแนวคิดการบำบัดแบบ “Naikan” เป็นอีกหนึ่งศาสตร์การเข้าใจและยอมรับตนเองตามความเป็นจริง เพื่อไตร่ตรองว่าอันที่จริงแล้วเราอยู่ตรงไหนของแผนที่ชีวิตและเลือกทางเดินที่มุ่งไปสู่ชีวิตที่อยากเป็นอย่างแท้จริง ปีใหม่นี้ก็นับเป็นโอกาสดีที่จะได้ลองนำแนวคิดนี้มาใช้เริ่มต้นชีวิตใหม่ไปด้วยกัน

ที่มา
– Naikan Therapy: Applying the Japanese Art of Self-Reflection : Jeremy Putton Ph.D., Positive Psychology.com – https://bit.ly/47nGRhr
– Naikan Therapy: The Journey Within : Naikan Retreat Centre – https://bit.ly/3FT0ylI
– Naikan – the Japanese Art of Self-reflection : Ikigai Tribe – https://bit.ly/47rtE7k

#inspiration
#naikantherapy
#selfreflection
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า