- การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต้องเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่ายคือทั้งตัวพนักงานเอง และตัวองค์กรให้ความร่วมมือกันทั้งคู่
- พนักงาน: อยากเรียนรู้ตลอดเวลา, มีรายการสิ่งที่ต้องทำ, ใช้เทคโนโลยีช่วย, จัดเวลา, และอย่าลืมแบ่งของเจ๋งๆที่เจอด้วย
- องค์กร: ทำให้การแบ่งปันเป็นเรื่องง่าย, มีระบบการบริหารจัดการการเรียนรู้ที่ดี, กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในบริษัท
เรื่องโลกเปลี่ยนเร็วขนาดไหนนั้นเราคงไม่ต้องมานั่งอธิบายกันแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือเราจะสามารถทำให้องค์กรและคนในองค์กรของเรานั้นเปลี่ยนแปลงทันได้อย่างไร
ในบทความของ Harvard Business Review ชื่อ Making Learning a Part of Everyday Work ให้ข้อมูลว่าการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆในการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่พนักงานพึงพอใจเป็นอันดับที่สองในการทำงานเลยทีเดียว ยิ่งพนักงานพึงพอใจกับชีวิตการทำงานมากเท่าไร งานก็ดีขึ้นเท่านั้น
แต่ด้วยความยุ่งเหยิงของชีวิตในการทำงานทำให้การเรียนรู้ในเวลางานนั้นมีน้อยเต็มที
มีการคาดการณ์กันว่าตอนนี้โลกเรามีผู้ที่ใช้ความรู้ในการทำงาน (knowledge worker หรือจะเรียกว่า white collar ก็ได้) ประมาณ 780 ล้านคน ซึ่งคนในจำนวนนี้ใช้เวลา 28% ในการเช็คอีเมลล์ (ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงานมากเท่าไรด้วยซ้ำ) อีก 19% ใช้ไปในการหาข้อมูล อีก 14% ในการประชุมและติดต่อกับเพื่อนร่วมงาน และตัวเลข 14% นี้จะยิ่งสูงขึ้นไปอีกถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งบริหาร
ดังนั้นคนเราจะเหลือเวลาที่เอาไว้ใช้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ แค่วันละ “5 นาที” เท่านั้น!
5 นาทีจะไปพออะไรใช่ไหมครับ
แล้วแบบนี้เรามีทางเลือกเรามีอะไรบ้าง
ทางแรกคือส่งคนไปเรียนข้างนอกซึ่งก็เสียเวลามาก และหลายครั้งก็ไม่สามารถนำมาใช้งานได้โดยตรงด้วย ดังนั้นมันจะมีส่วนที่เรียนแล้วค่อนข้างเปล่าประโยชน์อยู่พอควร
อีกทางคือต้อง “เรียนรู้ไปด้วยทำงานไปด้วย” นี่แหละครับ ซึ่งสามารถทำได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายคือทั้งตัวพนักงานเอง และตัวองค์กรให้ความร่วมมือกันทั้งคู่ ซึ่งหมายถึงมันต้องมีทั้ง Top-Down และ Bottom-Up
จากล่างขึ้นข้างบน (Bottom-Up)
ขอเริ่มจากส่วนของพนักงานก่อนละกันนะครับ
คนเราส่วนใหญ่มีนิสัยอยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆอยู่แล้วครับ แค่บางทีต้องมีตัวกระตุ้นที่ถูกจุดเท่านั้นเอง อย่างเช่น
- มีสติอยากเรียนรู้ตลอดเวลา : การที่เราเดินเข้ามาด้วยทัศนคติและสติที่อยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆตลอดเวลานั้นจะทำให้เรามองเห็นอะไรต่างไปเยอะเลยครับ ถ้าเราประชุมกับฝ่ายการตลาดลองถามถึงเครื่องมือทางการตลาดใหม่ๆของเขาดู ถ้าเราได้คุยกับฝ่ายคลังสินค้าลองให้เขาเล่าระบบการบริหารคลังใหม่ดู คุณจะแปลกใจมากเลยว่าเกือบทุกเรื่องมันเกี่ยวข้องกับงานของคุณอย่างไม่น่าเชื่อ และถ้าเพื่อนร่วมงานของคุณไม่ยุ่งจนเกินไปนัก พวกเขายินดีที่จะเล่าเรื่องงานของพวกเขาให้คุณฟังอยู่แล้วครับ
- มีรายการสิ่งที่ต้องทำ : อันนี้แบ่งเป็นสองส่วนครับ ส่วนแรกคือเวลาเราเจอเรื่องที่เราอยากอ่าน อยากศึกษาถ้าเราไม่มีระบบเก็บรวบรวมที่ดีบางทีหาไม่เจอครับ หรือบางทีอ่านแล้วอยากกลับมาหาอ่านอีกรอบเพื่อทบทวนก็หาไม่เจออีก เพราะฉะนั้นของพวกนี้ต้องถูกรวมไว้ที่เดียวครับ ส่วนตัวผมใช้ notability (app ใน ios) ซึ่งเวลาจะรวบรวมอะไรก็ควรที่ต้องทำเป็นหมวดหมู่ด้วยนะครับ ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องของการเทรนนิ่ง ที่เราอยากเรียนจากภายนอกองค์กรครับ บางทีตอนแรกนึกออกแต่พอ HR มาถามว่าอยากเรียนอะไร ลืมหมดครับ ดังนั้นต้องบันทึกไว้ครับ
- ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ : ถ้าหากคุณใช้ Slack, Workplace หรือ tools อะไรก็แล้วแต่มันสามารถส่งบทความหรือเรีื่่องดีๆมากกระตุ้นการอยากเรียนรู้ของคุณได้อย่าง Harvard Business Review เองก็มี BOT ที่เชื่อมกับ Slack ที่ผมใช้ประจำครับ
- จัดเวลาเรียน : เราทุกคนต่างยุ่งกันทั้งนั้นครับ แต่คนที่สามารถเดินหน้าไปได้เร็วกว่าคนอื่นคือสามารถจัดเวลาเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในวันๆหนึ่งได้ ผมขอแนะนำให้คุณเริ่มจากเวลาที่คุณใช้ไถมือถือโดยไร้จุดหมาย เปลี่ยนมาเป็นเวลาหาความรู้แทนครั บ
- ใช้ Newsletter (จดหมายข่าว) ให้เป็นประโยชน์ : newsletter ทางอีเมลล์เป็นแหล่งข้อมูลที่โคตรดีครับ ตราบใดที่มันไม่เยอะเกินไป ผมแนะนำให้สมัครรับข่าวสารหรือบทความอยู่สองเรื่อง คือ เรื่องความรู้ทั่วไปที่คุณสนใจ กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุตสากรรมของคุณโดยตรง ของผมที่อ่านบ่อยๆคือ HBR, Inc, Euromonitors, MIT tech review, Medium, QZ, Time, Business Insider ฯลฯ
- ถ้าเจอของเจ๋งๆอย่าลืมเอามาแบ่งคนอื่นด้วย : เวลาเจอของเจ๋งผมมักมาโพสต์ใน communications tools (เครื่องมือที่ใช้ในข้อ 4.) ต่างๆ โดยอย่าลืมบอกด้วยนะครับว่าเรื่องนี้มันสำคัญกับชึีวิตเราหรือทำไมเราต้องรู้
จากข้างบนสู่ข้างล่าง (Top down)
อันนี้เป็นงานของส่วนของบริษัทก็ต้องสนับสนุนการเรียนรู้ทุกวันเช่นกัน
- มีระบบการบริหารจัดการการเรียนรู้ที่ดี : มีการทำคลังข้อมูลที่มีระบบ เวลาจะมาหาสิ่งที่ต้องการจะเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้จากโปรเจคเก่าๆ อันนี้ต้องมีพื้นที่ที่สามารถทำให้คนใหม่ๆหาได้ง่าย
- ทำให้การแบ่งปันเป็นเรื่องง่าย : ควรมีระบบการแบ่งปันความรู้กันให้เป็นเรื่องง่ายและเป็นเรื่องปรกติที่ใครๆก็สามารถใช้ได้และใช้กันเป็นเรื่องปรกติ โดยไม่เป็นสแปมเกินไป อย่าง Slack, Team , Atlassian etc เป็นตัวอย่างที่ดี
- กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในบริษัท : การได้ทำ knowledge sharing session (กิจกรรมที่แบ่งปันความรู้) กันภายในนั้นมีประโยชน์สองอย่างคือคนที่มาเรียนก็ได้ความรู้ ส่วนคนที่มาแชร์ก็ได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ตัวเองรู้อย่างลึกซึ้งขึ้นและยังได้ความภาคภูมิใจในตัวเองอีกด้วย
ด้วยความเร็วของการเปลี่ยนแปลงภายนอกของธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานอย่างมากในการตามให้ทัน การทำให้ทุกวันของการทำงานเป็นวันทีี่สามารถเรียนรู้เรื่องใหม่ๆได้จะช่วยให้เราเป็นคนไม่ตกยุคได้ครับ
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า
ช่างเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันจริงๆครับ