“เมื่อไหร่ถึงจะมีความสุขเสียที”
หลายๆ คนอาจถามคำถามนี้กับตัวเองตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อโลกผันผวนและทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ บางคนต้องสูญเสียคนสำคัญ บางคนต้องออกจากงาน และบางคนต้องปิดกิจการ สูญเสียรายได้ไปจำนวนมาก
ปัญหาส่วนตัวที่ต้องเจอก็หนักมากแล้ว พอหันไปมองรอบๆ ก็ต้องเจอกับเศรษฐกิจซบเซา การเมืองน่าปวดหัว ชีวิตติดเคอร์ฟิว และภัยน้ำท่วมที่กำลังจะมาถึง เรายิ่งรู้สึกสิ้นหวังไปอีก
จะมี ‘ความสุข’ ได้อย่างไรในสถานการณ์ที่มืดมนเช่นนี้
รู้จักกับ Nightbirde ผู้หญิงที่เชื่อว่าชีวิตนี้มีโอกาสอยู่เสมอ
ในช่วงเวลาแบบนี้ ผู้เขียนเองพบว่าเผลอนอนไถโทรศัพท์อย่างไร้จุดหมายอยู่บ่อยๆ ไม่แน่ใจนักว่าเป็นความพยายามในการหนีออกจากโลกความเป็นจริงหรือเปล่า แต่ในช่วงดึกของคืนหนึ่ง วิดีโอหนึ่งใน Youtube ก็สะดุดตาเข้า
เป็นไฮไลท์จากรายการ America’s Got Talent ชื่อคลิปว่า ‘เพลงแต่งเองของ Nightbirde ทำให้ Simon Cowell ซึ้งสุดๆ’
แม้จะเลิกดูรายการนี้ไปนานหลายปีแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดถึงตัดสินใจกดเข้าไปดู เพราะคลิปนี้พึ่งปล่อยตัวไม่กี่เดือนแต่มียอดผู้ชมกว่า 30 ล้านคน เพราะอยากเห็น Simon Cowell กรรมการจอมโหดเสียน้ำตา หรือเพราะ ‘รอยยิ้ม’ ของผู้หญิงบนหน้าปก
“สวัสดี ฉันชื่อเจน แต่เวลาร้องเพลงจะเรียกตัวเองว่า Nightbirde” เธอแนะนำตัวเมื่อก้าวขึ้นบนเวที รูปร่างของเธอดูบอบบาง ผมสั้นจนแทบจะคล้ายทรงสกินเฮดทำให้เธอดูตัวเล็กเข้าไปใหญ่ แต่เรารู้สึกถึงความมั่นใจจากดวงตาและรอยยิ้มอันเป็นประกายอยู่ตลอดเวลา
กรรมการเริ่มถามคำถามเธอตามปกติ เมื่อพวกเขาถามว่าเธอทำอาชีพอะไร เธอยิ้มพร้อมตอบว่า “ฉันไม่ได้ทำงานมาสักพักแล้ว เพราะต้องรับมือกับโรคมะเร็ง”
‘โรคมะเร็ง’ ทั้งห้องส่งเงียบไปพักใหญ่ราวกับไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อ ไม่มีใครคาดหวังว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ พร้อมรอยยิ้มสดใสจะต้องต่อสู้กับมะเร็งในปอด กระดูกสันหลัง และตับ
ทว่าความกระอักกระอ่วนและความเห็นใจได้แปรเปลี่ยนเป็น ‘ความประทับใจ’ เมื่อเธอเริ่มร้องเพลง ‘It’s OK’ เพลงที่เธอแต่งเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นโรคมะเร็งของเธอ เรื่องราวถูกถ่ายทอดผ่านเสียงหวานและแววตาที่เต็มไปด้วยความหวัง ทำเอาผู้คนในห้องส่งทราบซึ้งไปตามๆ กัน
เสียงปรบมือดังก้องเมื่อบทเพลงจบลง กรรมการต่างบอกว่าเสียงของเธอไพเราะมาก และการที่เธอถ่ายทอดเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เธอต้องเจอ ผ่านรอยยิ้มและเนื้อหาของเพลงที่ปลอบประโลมเช่นนี้ ถือเป็นการกระทำที่กล้าหาญมาก
เจนยิ้มก่อนจะพูดประโยคที่ตรึงใจคนฟังว่า
“You can’t wait until life isn’t hard anymore before you decide to be happy.”
(อย่ารอจนถึงวันที่ชีวิตไม่ลำบากแล้วค่อยตัดสินใจว่า ‘จะมีความสุข’)
ตามหาแสงของความหวังในวันที่มืดมน
แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนที่จะรับมือกับเรื่องร้ายๆ ด้วยรอยยิ้มได้ การมีความสุขในสถานการณ์แย่ๆ อาจเป็นก้าวที่ใหญ่ไปสำหรับใครหลายคน เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนและใช้เวลา เราอาจเริ่มด้วยก้าวเล็กๆ อย่างการ ‘ไม่สิ้นหวัง’ กันก่อน
ความหวังสำคัญอย่างไร? ความหวังจะนำมาซึ่งความสุขเพราะการไม่สิ้นหวังทำให้เรามีความยืดหยุ่น (Resilience) ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ในขณะที่ความสิ้นหวัง ความยอมจำนน หรือความเชื่อว่าเราไร้ความสามารถ สิ่งเหล่านี้มีแต่จะทำให้เรารู้สึกเศร้า
“ความหวังช่วยให้จิตใจเรามั่นคงและประคองความสุขไว้เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ตึงเครียด” Mark Manson ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความหวังและความสุขกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ยากลำบากแบบนี้เราจะมีความหวังได้อย่างไรแบบ ‘ไม่หลอกตัวเอง’
การมองโลกในแง่ดีไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำเป็นมองไม่เห็นเรื่องร้ายๆ ไม่ได้หมายความว่าต้อง ‘ฝืนยิ้ม’ ในวันที่อยากร้องไห้ แต่หมายความว่าเราสามารถมีหวังว่าอนาคตจะดีขึ้น พร้อมๆ กับรับรู้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร
พูดง่ายๆ ก็คือมีความหวังแม้ปัจจุบันเราจะรู้อยู่เต็มอกว่ามันเลวร้ายแค่ไหนนั่นเอง แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะมีวิธีไหนบ้างให้เราฝึกรับมือกับมันได้
6 วิธีคิดสร้างความสุข
1) ควบคุมสิ่งที่ ‘ควบคุมได้’
หลายครั้งเรารู้สึกแย่เพราะจมอยู่กับความคิด เช่น ‘ฉันไม่น่าทำแบบนั้นเลย’ หรือ ‘เขาจะว่าอย่างไรนะ’ แต่ถ้าหากเราตั้งสติและหายใจเข้าลึกๆ เราจะพบว่าเรากำลังกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ การคิดอยู่ซ้ำๆ ไม่ได้ช่วยอะไรนอกจากทำให้เรารู้สึกหมดหนทาง
เราควรหันกลับมาโฟกัสในสิ่งที่เรา ‘ควบคุมได้’ จะดีกว่า อย่างการตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่ทำได้ไม่ยาก หากเราทำสำเร็จ ความรู้สึกว่าเรามีความสามารถจะกลับมาอีกครั้ง สิ่งนี้แหละจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
จำไว้เสมอว่า บนโลกนี้มีหลายสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น การกระทำของผู้อื่น และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นกังวลเรื่องพวกนี้ไปคงไม่ช่วยอะไร หันมาควบคุมสิ่งที่ควบคุมได้ ซึ่งก็คือการกระทำของเราในปัจจุบัน จะดีกว่า
2) ฝึกใจดีกับตัวเอง (Self-compassion)
ช่วงแย่ๆ เรามักจะมีความคิดในแง่ลบผุดขึ้นในหัวเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นความคิดโทษตัวเอง โทษผู้อื่น หรือการจินตนาการถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุด สิ่งที่เราทำได้คือการหยุดความคิดเหล่านี้ และแทนที่มันด้วยสิ่งอื่นแทน เช่น การโฟกัสกับลมหายใจเข้า-ออก การพาตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ หรือการพูดจาดีๆ กับตัวเอง
ด็อกเตอร์ Sarah Kate McGowan ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งคณะจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เสนอว่า การคุยกับตัวเองขณะรับมือกับปัญหาช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาอันมืดมนไปได้ อย่างการปลอบตัวเองว่า ‘เราค่อยๆ ทำไปทีละอย่างได้’ หรือ ‘เรื่องนี้น่ากังวลก็จริง แต่ฉันรับมือไหว’ คำพูดเช่นนี้แหละจะช่วยให้เราออกจากวนลูปความคิดแย่ๆ ไม่ว่าเราจะพูดออกมาหรือเขียนลงไปก็ตาม
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตระหนักว่าสถานการณ์มันไม่ง่ายแต่เราทำเท่าที่ทำได้ และสิ่งที่เราต้องการจากตัวเองเป็นพิเศษคือความเข้าใจ ความใส่ใจและการดูแลตัวเอง
3) ฝึกมองหาสิ่งดีด้วยๆ Gratitude Journal
ในหนังสือ The Happiness Advantage ผู้เขียนได้แนะนำให้เขียน “สิ่งดีๆ 3 อย่าง” ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเหตุการณ์ใหญ่โต แค่เรื่องเล็กจิ๋วก็ถือว่าเป็นสิ่งดีๆ แล้ว เช่น ‘วันนี้อาหารเช้าที่กินไปอร่อยมาก’ หรือ ‘วันนี้คนแปลกหน้ายิ้มให้’ เป็นต้น ผลวิจัยพบว่าการเขียนบันทึกเรื่องดีๆ เช่นนี้เป็นประจำทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
4) มองเรื่องแย่ๆ ให้เป็นบทเรียน
ในงานวิจัยงานหนึ่ง ผู้ทดลองต้องเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ฝังใจของตน 15 นาทีต่อวัน ผลพบว่าคนที่สามารถหา ‘ความหมาย’ หรือ ‘บทเรียน’ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้นั้นมักจะมีความเครียดลดลง อารมณ์ดีมากขึ้น และเจ็บป่วยน้อยลง
แทนที่เราจะนั่งทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้น เรามาลองหาความหมายของมันดูไหมว่ามันให้บทเรียนอะไรแก่เราบ้าง ช่วยให้เราเติบโตได้อย่างไร และในอนาคตเราจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกได้อย่างไร บางทีเราอาจค้นพบสัจธรรมบางอย่างและปล่อยวางมากขึ้นก็ได้นะ
5) ให้อะไรแก่สังคมบ้าง
ในช่วงเวลายากลำบาก หากเราได้ช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าเรา นอกจากเราจะได้ช่วยพวกเขาแล้ว งานวิจัยยังพบว่าการช่วยเหลือคนอื่นทำให้เรารู้สึกดีขึ้นและรู้สึกเป็นมนุษย์มากขึ้นอีกด้วย
จริงอยู่ที่หลายคนมองว่าการที่ประชาชนต้องออกมาบริจาคในสถานการณ์เช่นนี้แสดงถึงความล้มเหลวของภาครัฐ แต่การ ‘ให้สังคม’ ของเราไม่จำเป็นต้องเป็นการบริจาคเงินก้อนใหญ่ แค่ช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ในสิ่งที่เราถนัด อย่างการช่วยกระจายข่าวที่ถูกต้องแก่เพื่อนฝูง หรือการสรุปเรื่องวัคซีนในแบบเข้าใจง่ายแก่คนสูงอายุในครอบครัว ก็เป็นการช่วยเหลืออย่างหนึ่ง
อย่างน้อยในวันแย่ๆ การกระทำเล็กๆ ของเราอาจช่วยให้คนอื่นรู้สึกดีขึ้นนะ
6) อย่าทำเป็นไม่รู้สึก
หากเรารู้สึกไม่ดี โมโหหรือเสียใจ อย่าเก็บความรู้สึกนั้นไว้แล้วฝืนยิ้ม การกระทำเช่นนั้นมีแต่จะทำให้ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายเราเสื่อมเสียเพราะอารมณ์ที่เก็บกดไว้ ที่ถูกต้องคือระบายออกมาให้ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้ออกมา คุยกับคนอื่น หรือเขียนระบายในสมุดบันทึก
จะลบจะบวก ท้ายที่สุดมันก็คือความรู้สึกของเราและเราต้องซื่อสัตย์กับมันด้วย
ในตอนท้ายราย Nightbirde ผู้เข้าแข่งขัน American’s Got Talent ได้เผยเคล็ดลับในการมองโลกในแง่ดีในขณะที่ต้องเผชิญกับโลกร้ายไว้
“ฉันมีโอกาสรอดแค่ 2%” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้มเช่นเคย “แต่ 2% ไม่ใช่ 0% ถึงจะเป็นแค่ 2% แต่มันก็มีความหมายบางอย่าง และฉันอยากให้คนอื่นรู้ว่ามันมหัศจรรย์แค่ไหน”
การตามหาความสุขในช่วงนี้อาจไม่ต่างจากการเดินทางขึ้นภูเขาสูงชันที่แทบจะมองไม่เห็นยอด หนทางเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย จนเราอยากจะถอดใจกลางทาง แต่จำไว้เสมอว่าเมื่อเราขึ้นไปถึงยอดเขา เราอาจเห็นวิวอันงดงามที่ทำให้ความทุกข์ใจที่ผ่านมามลายหายไป จนเรารู้สึกว่าคุ้มค่าเหลือเกินที่ได้สู้ต่อ
ชีวิตยังมีสิ่งสวยงามรอคอยอยู่เสมอนะ
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
– “โตแล้ว ไม่ร้องนะ” ความเป็นผู้ใหญ่กำลังทำร้ายคุณอยู่หรือเปล่า?
– ฝึกสมองให้มองเห็นความสุขได้ด้วย “The Tetris Effect”
อ้างอิง
https://bit.ly/2XRbugJ
https://nyti.ms/3i4W6oo
https://nyti.ms/3m24ZAo
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/