SOCIETYรู้จัก ‘24/7 Digital Availability’ เมื่อเทคโนโลยีทำให้คิดว่า ทุกคนต้องออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง

รู้จัก ‘24/7 Digital Availability’ เมื่อเทคโนโลยีทำให้คิดว่า ทุกคนต้องออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง

“วันหยุดก็ต้องตอบแชต งานเดินทุกวันนะ อ้างว่าไม่ว่างไม่ได้”
“เสียเวลาตอบแชตแค่สองสามวินาที มันยากขนาดนั้นเลยเหรอ?”
“ทักแชตไปตอนสามทุ่ม ต้องรอครึ่งชั่วโมงกว่าจะตอบกลับ รู้ไหมพี่มีเรื่องด่วน”

ไม่ว่าจะทำงานแล้ว หรือยังเป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นเพื่อนร่วมงาน พ่อแม่ หรือลูกหลานของใครสักคน คงต้องเคยเจอกับเหตุการณ์ที่ส่งข้อความหรือ ‘ทักแชต’ ถึงคู่สนทนา แล้วคาดหวังให้ทางโน้นรีบตอบกลับทันที ทว่าบางครั้งเวลาผ่านไปห้านาที สิบนาที บางทีหนึ่งชั่วโมงแล้ว ก็ยังไม่มีข้อความตอบกลับมา

บางคนอาจเฉยๆ กับเรื่องนี้ แต่หลายคนถึงกับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ทำไมต้องให้รอเป็นชั่วโมง ถ้าไม่ว่างก็ตอบมาสิว่า ‘ไม่ว่าง เดี๋ยวมาตอบ’ สละเวลาตอบแชตแป๊บเดียวมันยากตรงไหน?

อารมณ์ที่แปรปรวนจากการตอบแชตช้าหรือโดน ‘ดองแชต’ เช่นนี้ เป็นเหตุจากทัศนคติ ‘24/7 Digital Availability’ หรือความคาดหวังที่ต้องการให้คู่สนทนาตอบข้อความในทันทีและติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง

24/7 Digital Availability ได้เปลี่ยนบรรทัดฐานของการสื่อสาร เพราะเราไม่จำเป็นต้องคอยรอจดหมายนานนับเดือน ไม่ต้องหยอดเงินผ่านตู้โทรศัพท์เพื่อโทรหาใครสักคน เพียงมี ‘อินเทอร์เน็ต’ และ ‘สมาร์ตโฟน’ ก็สามารถติดต่อได้ในอึดใจเพียงปลายนิ้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะช่วยให้ผู้คนจากอีกฟากโลกเข้าหากันง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างความเครียดและมีปัจจัยส่งเสริมพฤติกรรมแนวก้าวร้าว บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นที่บ่อนอาจทำลายความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายเลยทีเดียว
แล้ว 24/7 Digital Availability สร้างผลกระทบใดกับเราบ้าง?

1. บังคับให้เรา ‘ว่างตอบกลับ 24 ชั่วโมง’

การติดต่อสื่อสารที่สามารถทำได้รวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง ก็เหมือนเป็นการบังคับกลายๆ ให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าต้อง ‘ว่าง’ ที่จะตอบกลับหรือรับสายตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่จำกัดแนวทางการใช้ชีวิต การอยู่กับโทรศัพท์มือถือและโลกโซเชียลจึงกลายเป็นช่องทางติดต่อเดียวสำหรับหลายๆ คน ซึ่งมีผลสำรวจในปี 2021 พบว่า ชาวอเมริกันกว่า 30% ออนไลน์ ‘แทบจะตลอดเวลา’ ดังนั้น การออนไลน์ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยาก

และดูเหมือนว่า ในด้านการทำงานจะถูกคาดหวังมากที่สุด เมื่อการตอบกลับที่รวดเร็วสร้างทัศนคติใหม่ว่า ‘ตอบช้า = ไม่ใส่ใจ’ ผู้คนจึงต้องรีบตอบกลับข้อความเพื่อที่จะไม่ถูกมองว่าเป็นคน ‘ขี้เกียจทำงาน’ ซึ่งอาจส่งผลต่อความคิดของเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน จนกระทบต่อการตัดสินใจขององค์กรว่าจะปรับลดเงินเดือน หรือถึงขั้นไล่ออก เพียงเพราะตอบแชตช้ากว่าคนอื่น

2. ทำให้เรากระวนกระวายและหงุดหงิดง่ายขึ้น

ความหงุดหงิดกระวนกระวายเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เพียงแต่เทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความรู้สึกบ่อยครั้งขึ้น เพราะเราจะรู้สึกว่า เสียเวลาพิมพ์ 2-3 วินาทีไม่เห็นยากตรงไหนเลย บางคนถึงขั้นจินตนาการไปว่าที่อีกฝ่ายไม่ตอบแชตที่เราส่งไปเมื่อชั่วโมงที่แล้ว เป็นเพราะเขาเกลียดเราแน่ๆ ซึ่งที่จริงแล้วเขาอาจแค่หลับอยู่ หรือติดภาระงานจนไม่ว่างก็เท่านั้น

ความรู้สึกและจินตนาการด้านลบนี้เกิดขึ้นเพราะ ‘เราเอานิสัยของตัวเองไปครอบคนอื่น’ แน่นอนว่าแทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือติดตัว หรือบางคนชอบตอบแชตทันทีที่มีเสียงแจ้งเตือน บางคนพร้อมจะหยุดทำทุกอย่างเพื่อแชตกับใครสักคน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนพร้อมที่เป็นหรือมีนิสัยแบบนั้น

อีกทั้งการรีบตอบกลับไม่ได้แปลว่าผู้ส่งรู้สึกอย่างเดียวกับข้อความที่ส่ง การส่งสติกเกอร์หรืออีโมจิรูปแบบต่างๆ เช่น หัวเราะ ร้องไห้ ยิ้ม หลายครั้งเป็นเพียงการส่งตามมารยาท ส่งเพื่อบอกว่า ‘เห็นข้อความแล้วนะ’ ซึ่งผู้ส่งข้อความตอบกลับอาจรู้สึกรำคาญเสียด้วยซ้ำที่ต้องตอบตามมารยาทเช่นนี้

การเหมาเอาว่าทุกคนต้องเป็นเหมือนตัวเอง จะยิ่งสร้างความเครียดและความวิตกกังวล อาจรุนแรงระดับนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวต่อบุคคลอื่น เพียงเพราะพวกเขาไม่ชอบแชตเร็วเท่าตัวเรา ซึ่งสร้างผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ได้

Advertisements
Advertisements

3. การตอบไวกลายเป็นวัฒนธรรมที่ Toxic

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนบรรทัดฐานและพฤติกรรมการสื่อสาร ก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องปกติ หากไล่ย้อนดูการสื่อสารในแต่ละยุคตั้งแต่จดหมาย โทรเลข โทรศัพท์บ้าน จนมาถึงสมาร์ตโฟน จะเห็นได้ว่าระยะเวลาในการติดต่อค่อยๆ สั้นลงทีละนิดทีละหน่อย เพียงแต่การสื่อสารที่ฉับไวนี้เร็วเกินกว่าที่มนุษย์ทุกคนจะปรับตัวได้ทัน ถึงกระนั้นเราทุกคนก็รับมันเข้ามาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโดยไม่รู้ตัว

แม้การตอบเร็วตอบไวได้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของการสื่อสาร ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะปฏิบัติตัวตามนี้ เพราะการตอบเร็วไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีหรือสนุกเสมอไป สำหรับบางคน การที่ต้องบังคับตัวให้จดจ่อกับโทรศัพท์เพื่อตอบข้อความตลอดเวลา สร้างความเครียดสูงมาก กระทบถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจ

อีกอย่าง วัฒนธรรมการตอบกลับไวไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว คนหนึ่งมองว่าตอบกลับใน 5 นาทีคือเร็ว อีกคนอาจมองว่าช้า ขึ้นกับแนวทางการใช้ชีวิตและทัศนคติของแต่ละคน และการสื่อสารมีหลายรูปแบบ แม้คนหนึ่งจะตอบแชตเรื่อยเปื่อยจนดึกดื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาพร้อมจะตอบอีเมลงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะงานคืองาน ไม่ใช่ชีวิตส่วนตัว

ดังนั้น แม้เราทุกคนจะรับวัฒนธรรมนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก็ต้องไม่ลืมเบ่งขอบเขตให้ชัดเจน งานส่วนงาน ชีวิตส่วนตัวต้องแยก และไม่ใช่ทุกคนที่จะตอบเร็วเหมือนกับเรา สิ่งที่ควรทำคือ หาจุดร่วมกับทุกฝ่ายให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เช่น กำหนดการตอบอีเมลหรือตอบแชตนอกเวลางาน ไม่บังคับให้คนอื่นต้องพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเรามีเรื่องด่วนให้ลองโทรหาแทนการแชตจะดีกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเขาตอบช้า ช่างมันเสียบ้างก็ไม่เห็นเป็นไร

เราอาจโมโหเมื่อแฟนโทรกลับช้าไป 10 นาที เราอาจหงุดหงิดเพื่อนร่วมงานที่ตอบแชตช้าไปครึ่งชั่วโมง เราอาจเซ็งที่ลูกน้องไม่ตอบอีเมลตอนสองทุ่ม แต่ก่อนจะอารมณ์ไม่ดีไปมากกว่านี้ ลองถอยสักก้าว ลดอารมณ์ด้านลบลงสักหน่อย อย่าลืมว่าคนอื่นไม่ใช่ตัวเรา พวกเขาไม่ได้มีนิสัยเหมือนเรา ปล่อยมันไปบ้างเพื่อที่เราจะได้สบายใจ เพราะท้ายที่สุดแล้ว วัฒนธรรมการตอบไวไม่ใช่เรื่องตายตัว

แม้เราชอบทำงานดึกดื่น เราก็ไม่มีสิทธิ์ตัดสินว่าทุกคนต้องพร้อมตอบแชตงานเหมือนเรา พยายามไม่เอามาตรฐานตัวเองไปครอบงำคนอื่น แต่ควรหาวิธีปรับตัวเข้าหาซึ่งกันและกันเพื่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

เพราะเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละวันก็เครียดพอแล้ว ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าทำให้ตัวเอง (และคนอื่น) เครียดไปกว่านี้เลย

แปลและเรียบเรียงจาก
https://bbc.in/3qoLgxV

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า