SOFT SKILLหัดเป็นคนที่ตัดสินใจได้ชาญฉลาดด้วยกฎ 10-10-10

หัดเป็นคนที่ตัดสินใจได้ชาญฉลาดด้วยกฎ 10-10-10

ชีวิตของคนเราในแต่ละวันเต็มไปด้วย “ทางเลือก” และการ “ตัดสินใจ”

วันนี้จะใส่เสื้อสีอะไร จะใส่รองเท้าคู่ไหน จะกินอะไรเป็นข้าวเช้าดี ทั้งหมดนี้เป็นแค่เศษเสี้ยวของ “การตัดสินใจ” ที่เราต้องเลือกกันอยู่ทุกวัน

การตัดสินใจบางครั้งก็ดูเหมือนว่าเป็นกิจกรรมที่ผ่านมาและก็ผ่านไป  แต่รู้ไหมว่าการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งหล่อหลอมให้เราเป็นเราในปัจจุบัน ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นไปทีละน้อย ทำให้เรารู้ว่าชอบกินอะไร ชอบทำอะไร ชอบคนแบบไหน หรือไม่ชอบอะไรเมื่อตัดสินใจผิดพลาดไป
นอกจากการตัดสินใจเรื่องเล็กน้อย การตัดสินใจที่สำคัญอย่างการไปเรียนต่อ การลาออก หรือการแต่งงาน การตัดสินใจทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ ที่เป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิตต่อไปของเราในอนาคต ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า แต่ละอย่างที่เราได้ตัดสินใจลงไปนั้น มันจะถูกหรือผิด จะดีหรือร้าย
แต่พอหันกลับมามองตัวเอง ลำพังแค่เย็นนี้จะกินอะไรยังเลือกไม่ได้ นับประสาอะไรกับการเลือกว่าจะเรียนต่อหรือทำงาน โดยการตัดสินใจหลายครั้งที่ผ่านมานั้น เรามักใช้เวลาในการตัดสินใจเร็วเกินไปจนตัดสินใจผิดพลาด หรือไม่ก็รู้สึกดีกับการตัดสินใจของตัวเองแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่สุดท้ายก็มารู้สึกเสียใจในภายหลัง

Advertisements

“อารมณ์ชั่ววูบ” รู้สึกดี 5 นาที รู้สึกผิดทั้งชีวิต

ก่อนอื่น เพื่อให้เราพร้อมที่จะพัฒนาทักษะการตัดสินใจให้ดีขึ้นนั้นเราต้องรู้จัก และเข้าใจกระบวนการตัดสินใจของตัวเราเองก่อน ซึ่งที่จริงแล้ว กระบวนการตัดสินใจพื้นฐานของมนุษย์นั้นค่อนข้างที่จะเรียบง่ายเลยทีเดียว Moreno Zugaro จากเว็บไซต์ Medium.com บอกว่า กระบวนการตัดสินใจของมนุษย์นั้นมี 5 ระดับด้วยกัน เริ่มจาก 

1.รับรู้ความต้องการ (Need)
2.ค้นหาทางเลือก (Option)
3.ประเมินทางเลือก (Evaluation)
4.ตัดสินใจ (Choice)
5.ประเมินความรู้สึกหลังตัดสินใจ Reflection)

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเรารู้สึกหิว (Need) สมองจะสั่งให้เราหาอาหาร (Option) ทำให้เราคิดแล้วว่าเราสามารถกินอะไรได้บ้าง จากนั้นเราก็จะมองดูแล้วว่าเราอยากกินอะไร (Evaluation) โดยอาจจะประเมินจากรสชาติ ราคา และคุณค่าทางอาหาร ต่อมาจึงค่อยตัดสินใจ (Choice) และสุดท้ายหลังจากกินเสร็จแล้ว เราก็จะมาประเมินความรู้สึกว่าเราพึงพอใจกับอาหารที่เราเลือกกินไปมากน้อยแค่ไหน (Reflection) 

Zugaro บอกต่อว่า ส่วนใหญ่แล้ว มนุษย์เราจะตัดสินใจจากอารมณ์ โดยเฉพาะ “อารมณ์ชั่ววูบ” ซึ่งเป็นการตอบสนองแบบระยะสั้นเพียงเท่านั้น โดยปราศจากการไตร่ตรอง ถ้าเรารู้สึกอย่างไร เราก็กระทำไปอย่างนั้น มันจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเวลาคนเราตัดสินใจอะไรจากอารมณ์ชั่ววูบ เรามักจะรู้สึกดีเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ แต่หลังจากนั้นเราก็เสียใจกับสิ่งที่เราทำลงไป 

ตั้งแต่การใช้เงินจำนวนมากเวลาชอปปิงออนไลน์ เผลอกินเค้กเข้าไปทั้งก้อนขณะที่ไดเอตอยู่ ไปจนถึงการลาออกจากงานแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ล้วนแต่ทำให้เรามีความสุขในช่วงสั้นๆ แต่เมื่อหักลบระยะแล้ว ความสุขที่ได้ อาจจะไม่คุ้มกับสิ่งที่เราต้องเสียไป เช่น การเงิน สุขภาพ และการงาน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากเสียใจแบบนี้อีกบ่อยๆ กฎ 10-10-10 อาจช่วยได้

เราจะตัดสินใจแบบเดิมอยู่ไหม ในปี 10 วัน 10 เดือน และ 10 ปี

กฎ 10-10-10 นั้น ถูกคิดค้นโดย Suzy Welch นักเขียนชาวอเมริกัน โดยเธอได้พูดถึงกฎนี้ในหนังสือ “10-10-10: A Life Transforming Idea” ซึ่งเป็นหนังสือขายดีของ New York Times เลยทีเดียว

Advertisements

Welch บอกว่า วิธีคิดของกฎ 10-10-10 นั้นง่ายมาก โดยเมื่อถึงเวลาที่เราจะตัดสินใจในเรื่องใดก็ตาม ให้เราแบ่งการตัดสินใจนั้นออกเป็น 3 ส่วน ก็คือ

  1. เราจะรู้สึกอย่างไรกับการตัดสินใจนี้ภายใน 10 นาที?
  1. เราจะรู้สึกอย่างไรกับการตัดสินใจนี้ในอีก 10 เดือนข้างหน้า?
  1. เราจะรู้สึกอย่างไรกับการตัดสินใจนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า?

ซึ่งความพิเศษของการแบ่งการตัดสินใจออกเป็น 3 ช่วงเวลาแบบนี้คือ มันจะช่วยให้เราประเมินการตัดสินใจของตัวเองจากมุมมองที่แตกต่างกันสามแบบ ทำให้เรามองภาพรวมได้อย่างครอบคลุม โดย 10 นาทีจากนี้เป็นการมองที่ปัจจุบัน เราจะประเมินได้เลยว่าเราจะรู้สึกอย่างไรกับการตัดสินใจนี้ในทันที ชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี
สำหรับ 10 เดือน จะเป็นการมองภาพระยะกลาง เราจะเริ่มเห็นผลกระทบจากการตัดสินใจของเราแล้วว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้างในอนาคตข้างหน้าอย่างไม่ไกลเกินไป
ส่วน 10 ปีข้างหน้า จะเป็นเหมือนการทำให้ถอยออกมามองสถานการณ์ปัจจุบันในมุมที่กว้างกว่าเดิมมาก โดยปราศจากอารมณ์ชั่ววูบ เพราะว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะรู้ได้เลยว่าการตัดสินใจของเรานั้น จะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่มากขนาดไหนให้กับตัวเราในอนาคตข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตัดสินใจกินข้าวกะเพราเป็นข้าวกลางวันมันคงไม่มีผลอะไรมากในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเราเลือกที่จะลาออกจากงานประจำ มันก็อาจจะมีผลกระทบกับชีวิตของเราเป็นอย่างมากในอีก 10 ปีข้างหน้านั่นเอง

แก่นสำคัญของกฎ 10-10-10 นี้ก็คือเป็นการขจัดอคติ และอารมณ์ชั่ววูบออกไปจากกระบวนการตัดสินใจของเรา เป็นการใช้วิธีคิดบางอย่างเพื่อให้เรามองเห็นภาพรวมได้ดีขึ้นในระยะยาวแทน ซึ่งทุกคนสามารถนำเอากฎ 10-10-10 นี้มาใช้ได้กับทุกการตัดสินใจในชีวิต ไม่ว่าจะเล็กใหญ่แค่ไหน จะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องงาน ให้ลองคิดดูว่า ในอีก 10 นาที 10 เดือน และ 10 ปี เราจะรู้สึกอย่างไร จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจ

เพราะฉะนั้น ถ้าหากเรารู้ตัวว่า เป็นคนที่พ่ายแพ้ให้กับอารมณ์ชั่ววูบเสียเป็นส่วนใหญ่ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ลองนำกฎ 10-10-10 นี้ไปปรับใช้ในชีวิตดู ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าการอยู่กับปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพียงแต่ว่าถ้าเราอยากจะมีความสุขกับปัจจุบันต่อไปเรื่อยๆ การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด และมองถึงผลระยะยาวในบางครั้งเอง ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเหมือนกัน

อ้างอิง

https://bit.ly/3RgOfEb
https://bit.ly/3alWzBS
https://bit.ly/3ytLl6G

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#101010rule
#softskill

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า