BUSINESSการระดมทุน SME-PO คืออะไร? ทำความเข้าใจอีกหนึ่งทางเลือกเสริมการเติบโตของ SME

การระดมทุน SME-PO คืออะไร? ทำความเข้าใจอีกหนึ่งทางเลือกเสริมการเติบโตของ SME

เมื่อ “เงินทุน” เป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของธุรกิจ แล้ว SME ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง จะเข้าถึง “แหล่งเงินทุน” ได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวน SME อยู่กว่า 3 ล้านราย ซึ่งนับว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด แต่จากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เหล่า SME หลายรายต้องเผชิญกับความท้าทายจากพิษเศรษฐกิจ หลายรายต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการก้าวข้ามความยากลำบาก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของ “เงินทุน” ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ SME สามารถพัฒนาและอยู่รอดภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

ทำให้เกิดคำถามว่า “SME จะเข้าถึงเงินทุนได้ผ่านช่องทางใดบ้าง?”

เราจึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับ “SME Public Offering (SME-PO)” หรือ “การระดมทุนในวงกว้างสำหรับ SME” อีกหนึ่งช่องทางสำหรับเหล่า SME ขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการระดมทุนในตลาดทุน

Advertisements

SME-PO คืออะไร? แตกต่างจาก IPO อย่างไร?

หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินคำว่า IPO หรือ Initial Public Offering กันมาบ้างแล้ว ซึ่งการทำ IPO เป็นการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก สำหรับ “SME-PO” ก็มีคอนเซ็ปต์เดียวกับการทำ IPO แต่เป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรกสำหรับ SME โดยเฉพาะแทน

เมื่อเสนอขายแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ? หุ้นของ SME จะถูกนำไปจดทะเบียนในตลาดที่มีชื่อว่า “LiVE Exchange” ซึ่งทำหน้าที่เป็นตลาดรองสำหรับซื้อขายหุ้น SME เป็นการเฉพาะ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ SME ขนาดกลาง (Medium) รวมถึงเหล่า Startup ที่มี Private Equity (PE) หรือ Venture Capital (VC) ซึ่งถือเป็นธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่ได้เข้าไปลงทุนในกิจการ SME นั้น ๆ แล้วอย่างน้อยหนึ่งรอบ ซึ่งเราเรียกกิจการ SME ที่ได้รับการลงทุนจาก PE หรือ VC เหล่านี้ว่าเป็นกลุ่ม “Post Series-A”

LiVE Exchange มีประโยชน์ต่อ SME อย่างไร?

เชื่อว่า SME และ Startup หลายรายมีเป้าหมายทางธุรกิจที่อยากจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลาย ๆ ด้านทำให้ไม่สามารถทำได้ ซึ่งการสร้างตลาด LiVE Exchange ขึ้นมา เป็นการเปิดโอกาสให้เหล่า SME สามารถระดมทุนและเข้าสู่ตลาดทุนได้ ไม่ต่างกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยตลาด LiVE Exchange เป็นตลาดที่มีการปรับปรุงและลดทอนกฎเกณฑ์บางประการให้เหมาะสมกับ SME และ Startup มากขึ้น เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่ใช้กับ mai อาจจะไม่เหมาะสมกับข้อจำกัดต่าง ๆ ของธุรกิจ SME และ Startup

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการทำ SME-PO

พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเริ่มสนใจที่จะเอาบริษัทของตัวเองเข้าตลาดบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มอย่างไร และควรรู้เรื่องอะไรบ้าง ซึ่งจากคำแนะนำของคุณไพบูลย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Mission To The Moon ระบุว่า สิ่งเริ่มแรกที่ธุรกิจควรทำคือ “ศึกษาข้อมูลเบื้องต้น” ในส่วนของการเตรียมตัวขั้นพื้นฐาน เนื่องจากนี่อาจเป็นครั้งแรกที่ธุรกิจได้ทำความรู้จักกับการระดมทุนแบบ SME-PO ซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาได้จากเว็บไซต์ starttogrow.sec.or.th

อย่างที่สอง คือ เรื่องของการเตรียมตัวด้านการ “เปิดเผยข้อมูล” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องพื้นฐานสำคัญที่ธุรกิจควรรู้ เพราะหากธุรกิจเปลี่ยนเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่วนของงบการเงิน ที่จะต้องมีการเปิดเผยในทุก ๆ 6 เดือน

ข้อกังวลของ SME ต่อการเข้าตลาด

แน่นอนว่าการเข้าตลาดก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับธุรกิจ เราก็จะพบเจอกับข้อกังวลของเหล่า SME กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสียสัดส่วนหุ้นความเป็นเจ้าของไปบางส่วนหรือเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ SME ในการที่จะเริ่มต้นทำ SME-PO ..แล้วจะปรับข้อกังวลนี้อย่างไรดี?

สำหรับข้อกังวลด้านการเสียสัดส่วนหุ้น เราอาจจะต้องเข้าใจในส่วนนี้ก่อนว่า หากก่อนหน้านี้ เราเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทตัวเอง 100% แต่เมื่อเข้าตลาด เราอาจจะเป็นเจ้าของหุ้นอยู่แค่ 75% เท่านั้น ถึงแม้สัดส่วนจะลดลงไป แต่มันก็ยังมีข้อดีที่เจ้าของธุรกิจจะต้องมา Trade Off กันไป เช่น เดิม กิจการ เรามีมูลค่า 100,000 บาทและเราถือหุ้น 100% แต่พอเข้าตลาด เราอาจจะถือหุ้นลดลงเหลือ 75% ทำให้ได้ปันผลน้อยลง แต่ในอีกแง่หนึ่ง มูลค่ากิจการเราอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 200,000 บาท ทำให้มูลค่าหุ้นที่เราถืออาจจะเป็น 150,000 บาท ไม่ใช่ 100,000 บาท อีกต่อไป

อีกเรื่องที่ SME หลายราย เป็นกังวล คือเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล หากลองนึกดูว่า ถ้าเราต้องการจะไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าสักชิ้น เราก็คงอยากจะได้ข้อมูลของสินค้านั้น ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่นเดียวกันกับการเข้าตลาด นักลงทุนก็มีความคาดหวังที่จะได้ข้อมูลเพื่อไปประกอบการตัดสินใจเพื่อลงทุนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisements

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า บริษัทจะต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ทาง ก.ล.ต. ก็มีเกณฑ์มาให้ว่า
ข้อมูลอะไรที่บริษัทควรจะเปิดเผยบ้าง แต่ในส่วนของข้อมูลความลับทางการค้าที่อาจมีผลด้านการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด ก.ล.ต. ก็ไม่ได้ให้ทางบริษัทเปิดเผยในส่วนนี้ ทำให้ธุรกิจไม่ต้องกังวลเลยว่า ข้อมูลที่เปิดเผยออกไปจะทำให้ธุรกิจเสียเปรียบด้านการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเลยคือ ตามเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ธุรกิจก็ควรที่จะเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน และโปร่งใสต่อนักลงทุนมากที่สุด เพราะอาจเกิดผลเสียต่อธุรกิจของเรา หากเราเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่น เรื่องของการฟ้องร้อง เรื่องของความเชื่อมั่น เป็นต้น

ทำไมถึงต้องเข้ากระดาน LIVE Exchange?

หลายคนอาจจะสงสัยว่าแทนที่จะเข้ากระดาน LiVE Exchange ทำไมไม่เข้ากระดาน mai หรือ SET ไปเลย?

คำตอบคือ ตลาด LiVE Exchange จะเป็นกระดานที่เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในช่วงต้นมาก ๆ ในช่วงที่ผลประกอบการยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ก็สามารถเข้ามาซื้อขายในกระดานนี้ได้ ซึ่งนี่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อธุรกิจเข้ามาใน LiVE Exchange แล้วจะเป็นจุดสุดท้าย แต่สามารถที่จะพัฒนาไปต่อได้ยังตลาด mai หรือ SET อีกทั้ง การเข้ากระดานนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจก่อนด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะเข้าไป IPO ใน mai หรือ SET ในอนาคต

นักลงทุนในตลาด LiVE Exchange ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

สำหรับตลาด LiVE Exchange ผู้ที่สามารถจะเข้ามาลงทุนได้จะต้องมี “ความรู้และความเข้าใจ” ในเรื่องการลงทุนในระดับหนึ่ง ซึ่ง ก.ล.ต. ได้มีการกำหนดนิยามไว้ ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีสินทรัพย์หรือความมั่งคั่งสุทธิ ระดับ 30 ล้านขึ้นไป รวมถึงมีการกำหนดคุณสมบัติในด้านความรู้และประสบการณ์อื่น ๆ อาทิ CFA หรือ CPA เป็นต้นโดยนักลงทุนเหล่านี้จะถูกสกรีนโดยบริษัทหลักทรัพย์

แต่แล้วอะไรที่ดึงดูดให้นักลงทุนเหล่านี้มาลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในช่วงขั้นต้น?

โดยส่วนมากแล้ว เป้าหมายของนักลงทุนเหล่านี้ต้องการที่จะลงทุนในธุรกิจ SME ที่มองแล้วว่ามีศักยภาพในการเติบโต หรือเป็นกลุ่ม Startup ที่มีศักยภาพในการเป็นยูนิคอร์น ซึ่งถึงแม้ว่าความเสี่ยงจะสูง แต่ก็ต้องเป็นจุดที่นักลงทุนต้อง Trade Off ระหว่าง “Risk” หรือ “ความเสี่ยงที่จะขาดทุนกับเงินที่ลงทุนไป” กับ “Return” ซึ่งถือเป็น “ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในธุรกิจนี้” นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนถึงจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในตลาดและการลงทุนมาก่อนในระดับหนึ่งในการลงทุนในตลาด LiVE Exchange

สุดท้ายนี้ ผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่า ก.ล.ต. หรือ “ตลาดทุน” เป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของตลาดทุน เป็นเรื่องใกล้ตัว SME ค่อนข้างมาก เพราะในการที่ธุรกิจจะเติบโตไปได้ เรื่องของเงินทุนเป็นเรื่องสำคัญ และ SME ไม่รู้ว่าตัวเองสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ผ่านช่องทางใดบ้าง ซึ่งในปัจจุบัน ก.ล.ต. ก็ได้ส่งเสริมให้ SME รวมถึง Startup ได้รู้จักกับช่องทางระดมทุนมากขึ้น อย่างการระดมทุนแบบ SME-PO อีกทั้งยังมีการออกแบบตลาด LiVE Exchange ซึ่งเป็นตลาดรองที่มีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมและเอื้อต่อกลุ่ม SME และ Startup มากยิ่งขึ้น

หากใครต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SME-PO
สามารถเข้าไปศึกษาต่อได้ที่ https://bit.ly/3vOpqXW

Mission To The Moon x สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า