BUSINESS10 เทคโนโลยีแห่งปี 2022 จาก MIT Technology Review

10 เทคโนโลยีแห่งปี 2022 จาก MIT Technology Review

โลกที่ไม่เคยหยุดหมุน นำมาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยนับไม่ถ้วน ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบชีวิตของผู้คนทั่วโลกให้ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกสบาย สร้างความมั่นคง และความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้เราอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ 10 เทคโนโลยีสุดล้ำแห่งปี 2022 จากนิตยสาร MIT Technology Review ซึ่งจะมีการจัดอันดับในทุกๆ ปี โดยปีที่ผ่านมามีการพูดถึงเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก อย่างวัคซีน mRNA, GPT-3, Green Hydogen เป็นต้น มาติดตามไปพร้อมๆ กันว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปี 2022 นี้จะมีอะไรบ้าง

FB 10 เทคโนโลยีแห่งปี 2022 จาก MIT Technology Review

1. การใช้รหัสผ่านน้อยลง (The End of Password)

เมื่อก่อนการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งานระบบต่างๆ บนเครือข่ายออนไลน์ (Authentication) ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ อีเมล หรือแอปฯ ต่างๆ จำเป็นต้องยืนยันด้วยรหัสผ่าน (Password) เท่านั้น แต่ทว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันอาจทำให้การยืนยันด้วย Password ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีช่องทางใหม่ๆ ที่ทั้งใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว และค่อนข้างปลอดภัยกว่าเข้ามาแทนที่ เช่น การส่งลิงก์ทางอีเมล (Link Sent via Email) การส่งแจ้งเตือนผ่านข้อความ (Push Notification) หรือการสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือ (Biometric Scan)

2. การติดตามเชื้อโควิด-19 ที่ง่ายขึ้น (Covid Variant Tracking)

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลาไปกว่า 2 ปีแล้วนั้น ทำให้เกิดการคิดค้นและเสาะหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การลงทุนเกี่ยวกับการศึกษาหาลำดับคู่เบสในสาย DNA ทั้งหมด (Genomic Sequencing) มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งช่วยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบและเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบ ติดตาม ระบุ และแจ้งเตือนข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ได้รวดเร็วและแม่นยำนิ่งขึ้น อย่างการค้นพบสายพันธุ์อัลฟา เดลตา หรือโอมิครอนที่ผ่านมา

Advertisements

3. แบตเตอรี่กริดที่ทนขึ้น (A Long-lasting Grid Battery)

ภายใต้สถานการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่แน่นอน ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต่างตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น อย่างการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อกังวลที่ว่าเมื่อพระอาทิตย์ตกหรือไม่มีลมพัด แล้วเราจะกักเก็บพลังงานไว้ใช้ได้อย่างไร?

จึงมีการพัฒนา “Iron-based Batteries” แบตฯ รูปแบบใหม่ เพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้า (Electricity) ไว้ภายหลัง ซึ่งมีราคาถูกกว่าและอาจเหมาะกับการใช้งานมากกว่าประเภทอื่นๆ เพราะมีคุณสมบัติในการจัดเก็บพลังงานหมุนเวียนภายใต้ความผันผวนทั้งสภาพแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆ ได้ดีกว่า โดยปี 2021 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัว “Grid-Scale Projects” ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแบตฯ ที่กักเก็บพลังงานได้นานถึง 100 ชั่วโมง โดยมีโรงงานต้นแบบในรัฐมินนิโซตาจะทำร่องติดตั้งครั้งแรกในขนาด 1 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2023

4. AI ช่วยหาโครงสร้างโปรตีน (AI for Protein Folding)

“DeepMind” บริษัทสัญชาติอังกฤษได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ “AlphaFold2” เพื่อช่วยทำนาย “โครงสร้างโปรตีน” (Protein Structure) และปัญหาการพับของโปรตีน ที่นับว่าเป็นปัญหาที่ยากและซับซ้อนอย่างมากทางชีวภาพ เพราะการหาโครงสร้างดังกล่าว มีต้นทุนสูงและใช้เวลานานหลายเดือน โดย AI ดังกล่าว ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาโครงสร้างและกระบวนการต่างๆ ของโปรตีนได้เร็วกว่าเดิมและใช้ต้นทุนไม่เยอะมาก ส่งผลให้สามารถค้นพบยาและแนวทางการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

5. วัคซีนป้องกันมาลาเรียตัวแรกของโลก (Malaria Vaccine)

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรอง “วัคซีนต้านมาลาเรีย” ตัวแรกของโลกจากความพยายามและการพัฒนามานานกว่า 30 ปี ซึ่งนับเป็นข่าวดีของทุกคนทั่วโลก เพราะวัคซีนดังกล่าวจะสามารถช่วยรักษาชีวิตคนได้กว่าแสนคนต่อปี

โดยโรคมาลาเรีย (Malaria) เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อร้ายแรงที่สร้างความกังวลใจให้ผู้คนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนกว่า 600,000 คนต่อปี และส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุไม่ถึง 5 ปี เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งโรคดังกล่าวมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค โดยสามารถพบได้ตามบ้านเรือน ป่า หรือภูเขา

6. PoS ระบบตรวจสอบและบันทึกธุรกรรม (Proof of Stake)

คนในแวดวงการลงทุนจะทราบกันดีว่าการขุดคริปโทเคอร์เรนซี อย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพิเศษที่มีความสามารถในการถอดรหัส Algorithm และประมวลผลระดับสูง ซึ่งในการขุดแต่ละครั้งนั้นก่อให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าและก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล จึงเกิดการพัฒนา “ระบบ Proof of Stake” (PoS) ที่ช่วยลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองจากการถอดรหัสและประมวลผลได้ โดย Ethereum วางแผนที่จะเปลี่ยนไปใช้ระบบดังกล่าวในปีนี้ เพื่อลดการใช้พลังงาน 99.95%

Advertisements

7. ยาเม็ดรักษาโควิด-19 (A Pill for Covid)

“Pfizer” บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ได้เปิดตัว “Paxlovid” ยาเม็ดสำหรับรักษาโควิด-19 โดยระบุว่า ยาดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันไวรัสโคโรนาและสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดอัตราความรุนแรงในการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% นอกจากนี้ หลายๆ บริษัทต่างก็กำลังพัฒนายาเม็ดเพื่อรักษาโควิด-19 ด้วยเช่นกัน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยาวนานครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความหวังที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก เชื่อว่าการพัฒนายาเม็ดควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนจะช่วยให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและดีขึ้นในเร็ววัน

8. การผลิตนิวเคลียร์ฟิวชันทุบสถิติ (Practical Fusion Reactors)

นับเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ เมื่อ “Commonwealth Fusion Systems” สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันได้ประกาศถึงความสำเร็จไปอีกขั้นของการทดสอบแม่เหล็กชนิดใหม่ที่สามารถสร้างสนามแม่เหล็กกว่า 20 เทสลา ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าและต้นทุนต่ำกว่าเดิม ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของโลกในการผลิต “พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน” (Fusion Power) ที่นักวิจัยตั้งตารอคอยมาหลายทศวรรษ สู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืน ไร้คาร์บอน ด้วยพลังงานสะอาด เพื่อให้โลกมีพลังงานในปริมาณมหาศาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

9. การฝึกฝน AI ด้วยข้อมูลสังเคราะห์ (Synthetic Data for AI)

สำหรับการฝึก “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” ให้เกิดการเรียนรู้และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องอาศัยชุดข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือข้อมูลต่างๆ มีความซับซ้อน และมีข้อจำกัดด้านความปลอดภัย ทำให้หลายบริษัทเริ่มหันมาพัฒนาและขาย “ข้อมูลสังเคราะห์” หรือ “Synthetic Data” กันอย่างแพร่หลาย เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

โดย Synthetic Data เป็นการสร้างข้อมูลให้ระบบคอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้ข้อมูลสังเคราะห์ที่สร้างจากการจำลอง แทนข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีข้อจำกัดมากมาย ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว แม้จะไม่ใช่ตัวเลือกที่สมบูรณ์นัก แต่ก็นับเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง เช่น รถไร้คนขับที่ฝึกจากถนนเสมือนจริง ที่จำลองสถานการณ์ต่างๆ บนท้องถนนด้วยเทคโนโลยี เป็นต้น

10. โรงงานกำจัดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (A Carbon Removal Factor)

“Orca” โรงงานกำจัดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จาก “Climeworks AG” สตาร์ทอัพสัญชาติสวิส ร่วมมือกับ “Carbfix” สตาร์ทอัพสัญชาติไอซ์แลนด์ สู่โรงงานที่สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4,000 ตันต่อไป โดยตั้งอยู่ที่เมือง Reykjavik ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งใช้พลังงานสะอาดและปราศจากคาร์บอนในทุกกระบวนการ สำหรับการดักจับคาร์บอนจะมีใบพัดขนาดใหญ่คอยดูดอากาศผ่านตัวกรองที่มีวัสดุพิเศษช่วยดักจับโมเลกุลของ CO2 หลังจากนั้นจะนำก๊าซดังกล่าวไปเก็บที่ใต้ดินต่อไป

อย่างที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งหากเรานำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมก็จะส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นวงกว้างในระยะยาว นำไปสู่การคิดค้น ทดลอง และพัฒนาที่มีคุณค่าต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกทั้ง 10 อันดับจาก MIT ที่พัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามความเคลื่อนไหวของโลก สามารถตอบสนองต่อความไม่แน่นอนและความต้องการของผู้คนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี พร้อมช่วยอำนวยความสะดวก ให้ความมั่นคง และความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
10 ทักษะด้าน IT ที่มาแรงในปี 2022
เปิด 10 อาชีพมาแรงและรายได้ดีในอีกสิบปีข้างหน้า

แปลและเรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/3HxPY1R

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า