PODCASTMISSION TO THE MOONไม่ต้องเรียนจบก็สำเร็จได้ด้วย 3 ข้อคิดชีวิตสู่เป้าหมายจาก Henry Ford

ไม่ต้องเรียนจบก็สำเร็จได้ด้วย 3 ข้อคิดชีวิตสู่เป้าหมายจาก Henry Ford

วิถีสู่ความสำเร็จในความคิดของคุณคืออะไร? ตั้งใจเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ มุ่งมั่นปั้นเกรดให้ดีเพื่อสมัครเข้าทำงานในบริษัทชั้นนำ หรือสร้างชื่อเสียงให้โด่งดังและเป็นที่ยอมรับในสังคม?

สำหรับชาวเอเชียโดยทั่วไปแล้ว วุฒิการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่เสมอ โดยเฉพาะกับครอบครัวชนชั้นกลางที่ดิ้นรนเพื่อยกระดับชีวิตของตัวเองและครอบครัวแล้ว การศึกษาคือเครื่องการันตีความสำเร็จเพียงหนึ่งเดียว

ถ้าอยากทำงานสายไอทีก็ต้องเรียนต่อด้านคอมพิวเตอร์ ถ้าอยากทำงานวิศวกรรมก็ต้องเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าอยากทำงานสายสุขภาพก็ต้องเรียนวิทยาศาสตร์หรือคณะที่เกี่ยวกับสายสุขภาพ ยิ่งศึกษาต่อในระดับที่สูงเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นความคิดสูตรสำเร็จสำหรับเด็กไทยส่วนใหญ่

ในขณะที่ค่านิยมของชาวตะวันตกแทบเรียกได้ว่าหน้ามือเป็นหลังมือ การศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกไม่ได้เป็นเครื่องมือการันตีความสำเร็จ มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่เรียนจบมัธยมปลาย (Highschool) ก็สามารถทำงานได้เลย หรือจะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยก็ได้ จากการสำรวจของ Wealth X และงานศึกษาของสตีฟ ซีโบลด์ (Steve Siebold) พบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นมหาเศรษฐีที่มั่งคั่ง 1,200 คนทั่วโลกก็ประสบความสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งใบปริญญา

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกหนึ่งชื่อของมหาเศรษฐีและนักธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Ford Motor Company บริษัทเกี่ยวกับรถยนต์และเครื่องยนต์มีชื่อเสียงระดับโลก และสร้างยอดขายจนได้กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 5 ของโลก ตามบทความในปี 2016 ของ Medium มีพนักงานภายใต้การดูแลกว่า 200,000 คน ชื่อของเขาก็คือ ‘เฮนรี ฟอร์ด’ (Henry Ford) นั่นเอง

เด็กชายผู้หลงใหลในเครื่องยนต์และกลไก

เฮนรี ฟอร์ดเป็นลูกชายของชาวไร่ บ้านของเขามีกิจการไร่นาไว้คอยให้ลูกหลานมาสืบทอด แต่เขารู้ดีว่าตัวเองชื่นชอบในเครื่องยนต์และกลไกมากกว่า เมื่อรู้ตัวว่างานเรือกสวนไร่นาไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองหลงใหล เขาจึงตัดสินใจออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 16 ปี แล้วมุ่งหน้าสู่เมืองดีทรอยต์ เมืองอุตสาหกรรมในรัฐมิชิแกนเพื่อหางานทำ

เมื่อได้ทำงานในบริษัทของโธมัส เอดิสัน เขาได้รับหน้าที่ให้ดูแลระบบไฟฟ้าของเครื่องจักรไอน้ำ นั่นทำให้ฟอร์ดเริ่มสนใจในเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันขับเคลื่อน ซึ่งเสถียรกว่าการใช้ไอน้ำมาก หลังจากนั้นก็เริ่มทุ่มเทความสนใจให้กับการพัฒนารถ

นับตั้งแต่สร้างกลไกทำให้รถม้าวิ่งได้โดยไม่ต้องใช้ม้า สร้างระบบสายพานเพื่อเพิ่มกำลังในการผลิต ไปจนถึงสร้างโรงงานรถยนต์ Ford Motor Company และทำให้ในยุคที่อุตสาหกรรมยานยนต์เฟื่องฟูมากๆ ในปี 1905 เมืองดีทรอยต์มีประชากรมากถึงเกือบ 2 ล้านคน

ถ้าย้อนกลับไปในวันนั้น หากเฮนรี ฟอร์ดในวัย 16 ปีตัดสินใจจะสืบต่อกิจการไร่นาของครอบครัว และปล่อยให้ความหลงใหลในเครื่องยนต์และกลไกเป็นเพียงงานอดิเรกยามว่าง แล้วนั่งแกะนาฬิกามาประกอบเล่นหลังทำงานเสร็จ หรือซ่อมเครื่องยนต์ให้กับรถไถในฟาร์มไปพลางๆ ก็คงไม่มีรถยนต์ยี่ห้อ Ford มาอย่างทุกวันนี้

คนฉลาดจะรู้ว่าตัวเองต้องรู้อะไร

คนที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลม เมื่อเราพูดถึงคนที่ฉลาดก็มักจะนึกถึงนักศึกษา ปัญญาชน คนที่เรียนจบสูงๆ หรือจบมหาวิทยาลัยจากเมืองนอก แต่ที่จริงแล้ววุฒิการศึกษาไม่ได้มีผลกับความสำเร็จขนาดนั้น

ฟอร์ดเชื่อว่าความรู้ที่สำคัญที่สุดคือความรู้เฉพาะทาง ไม่ใช่ความรู้ทั่วไปที่เราเรียนกันในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย และเขาได้กล่าวข้อความนี้ในชั้นศาลหลังจากที่สำนักพิมพ์ข่าวชิคาโกได้เผยแพร่บทความชุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และเรียกเฮนรี ฟอร์ดว่าเป็น ‘นักรักสงบที่ไม่รู้เรื่องอะไร’

ฟอร์ดฟ้องร้องสำนักพิมพ์ด้วยข้อความดังกล่าว ศาลจึงให้พิสูจน์ว่าเขาเป็น ‘ผู้มีความรู้’ ด้วยการให้ตอบคำถามต่างๆ เช่น “เบเนดิกต์ อาร์โนลด์ (Benedict Arnold) คือใคร?” หรือ “อังกฤษส่งทหารไปอเมริกากี่คนในการปราบกบฏปี 1776?” โดยที่ไม่สามารถตอบคำถามความรู้รอบตัวด้านประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้เลยสักข้อ

ฟอร์ดกล่าวต่อศาลว่าเขาไม่จำเป็นต้องตอบคำถามงี่เง่าพวกนั้น เพราะที่โต๊ะทำงานของเขามีกริ่งสัญญาณที่สามารถเรียกผู้ช่วยที่ตอบคำถามเหล่านี้ได้ให้มาตอบแทนเขาทันที คำถามที่ศาลต้องถามควรเป็นคำถามเกี่ยวกับรถยนต์หรือการทำธุรกิจ แน่นอนว่าฟอร์ดสามารถตอบคำถามและอธิบายให้ศาลเข้าใจหลักการทำงานของเครื่องยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

นี่ทำให้เฮนรี ฟอร์ดเป็นคนที่มี Master Mind หรือคนฉลาดหลักแหลมที่รู้จักใช้ทรัพยากรรอบตัวให้เกิดประโยชน์ ทั้งทรัพยากรที่เป็นทุนและเป็นคน หรือถ้าให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง หรือเก่งในเรื่องทั่วๆ ไป แต่เราควรเสริมความเก่งเฉพาะด้าน เชี่ยวชาญในเรื่องเรื่องหนึ่งอย่างแท้จริงและนำความชำนาญนั้นไปทำประโยชน์จะสร้างคุณค่าได้มากกว่า

Advertisements

3 ข้อคิดที่เฮนรี ฟอร์ดยึดเป็นหลักการดำเนินธุรกิจของตัวเอง

เฮนรี ฟอร์ดเริ่มก่อตั้ง Ford Motor Company เมื่อปี 1903 หลังจากนั้นเขาได้เขียนอัตชีวประวัติของตัวเองในหนังสือ My Life and Work และได้กล่าวถึงหลักการดำเนินธุรกิจที่ทำให้รถยนต์ Ford สามารถสร้างยอดขายและผลกำไรได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

[ ] อย่ากลัวอนาคต และอย่ายึดติดกับอดีต

ฟอร์ดมองว่าความกลัวต่ออนาคตก็คือความกลัวที่มีต่อความล้มเหลว ถ้าเรากลัวล้มเหลว กลัวทำพลาด หรือกลัวว่าจะขาดทุน เราก็จะไม่ได้ลงมือทำสักที ในทางกลับกันความล้มเหลวและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นคือบทเรียนที่ทำให้เรามีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น และมอบโอกาสให้ตัวเองได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

[ ] ไม่สร้างบรรยากาศของการแข่งขัน

ฟอร์ดเชื่อว่าคนแต่ละคนมีความถนัดและความเชี่ยวชาญของตัวเอง พนักงานในบริษัท Ford Motor Company จึงได้รับการส่งเสริมให้ทำงานในส่วนที่ตัวเองถนัดจริงๆ นอกจากนี้การแข่งขันยังทำให้พนักงานโฟกัสที่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ขององค์กร และการแย่งผลงานหรือหน้าที่ของคนอื่นมาทำโดยที่เราไม่ได้ชำนาญในเรื่องนั้นก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อชิ้นงานได้ โดยเฉพาะกับธุรกิจเครื่องยนต์และกลไกในรถยนต์

[ ] ให้การบริการที่ดีมาก่อนผลกำไร

จริงอยู่ว่าหากขาดผลกำไรก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ฟอร์ดเชื่อว่าการบริการที่ดีจะทำให้ธุรกิจนั้นได้กำไรอย่างแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ ตรงใจลูกค้า แล้วยังสร้างประสบการณ์ที่ดีด้วยบริการจากผู้ขายจะยิ่งทำให้ลูกค้าประทับใจในตัวแบรนด์มากขึ้น

หลักการทั้งสามข้อนี้อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จของการบริหารธุรกิจของเฮนรี ฟอร์ด แต่ก็เป็นหลักการที่นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตและสร้างชุดความคิดแบบคนสำเร็จได้จริงยิ่งกว่าค่านิยมการเรียนจบสูงๆ โดยที่ผู้เรียนไม่เข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงของตัวเอง

เฮนรี ฟอร์ดอาจเป็นเด็กชายที่เรียนไม่จบมัธยมปลาย ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และดูเหมือนจะเป็นเด็กที่ล้มเหลวทางการศึกษาในสายตาของผู้ใหญ่ แต่เขาเชื่อว่าความรู้ที่จะพาเขาประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายจนกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงระดับโลกได้คือความรู้เฉพาะทางที่ลึกซึ้ง ซึ่งหาได้จากโลกภายนอก และในชีวิตของการทำงานอย่างแท้จริง

โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กๆ และมีประโยชน์มากในการสร้างสังคม จะเรียกว่าเป็นกลุ่มสังคมย่อยๆ ให้เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิตก่อนจะต้องออกไปเผชิญโลกกว้างจริงๆ ก็ได้ แต่สำหรับโลกตะวันตก มหาวิทยาลัยเป็นเพียงอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ของคน ซึ่งในความคิดของชาวตะวันตก มนุษย์อย่างเราๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด

อย่าเพิ่งยึดติดกับสูตรสำเร็จของค่านิยมสังคมจนลืมเรียนรู้จากความสุขและความหลงใหลรอบตัวคุณ

อ้างอิง
– 3 Principles of Henry Ford and how they can help you on YouTube : Eudaimonia, Medium – https://bit.ly/3uaDEna
– Ignorance Is Not Knowing Everything: Henry Ford Model : Atahan Aslan, Medium – https://bit.ly/40IgnFB
– Nearly a third of the world’s billionaires didn’t graduate college : Kathleen Elkins, CNBC – https://cnb.cx/3MMjQx7

#biography
#henryford
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า