PODCAST3 กระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ หรือ "Decision Making"

3 กระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ หรือ “Decision Making”

เช้านี้ผมได้อ่านบทความจาก Entrepreneur.com เรื่อง วิธีการตัดสินใจที่ดีขึ้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของคุณไปข้างหน้า (How to make better decision to move your business forward) ซึ่งค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ผมคิดมาก เลยอยากเอามาเขียนขยายความต่อครับ 

เราสามารถแบ่งการตัดสินใจทางธุรกิจหรือ Decision Making ออกได้เป็นแบบใหญ่ๆ สามประเภทด้วยกัน อันได้แก่

  1. Reactive decision-making (การตัดสินใจเชิงโต้ตอบ)
  2. Proactive decision-making (การตัดสินใจเชิงรุก)
  3. Strategic decision-making (การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์)

ในช่วงแรกๆ ของการสร้างธุรกิจใหม่ หรือโปรเจคที่นอกเหนือจากความถนัดเดิมมากๆ เรามักจะตัดสินใจโดยการใช้ reactive thinking เพราะมันยากมากในการวางกลยุทธ์หรือวางแผนระบบอะไรซักอย่าง

แต่เราจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ เราต้องรีบพัฒนากระบวนการการตัดสินใจให้ก้าวหน้าเร็วที่สุด เพราะนี่คือส่วนสำคัญมากในการสร้างธุรกิจให้โตได้เร็วครับ 

1. Reactive decision-making (การตัดสินใจเชิงโต้ตอบ)

คนที่ทำงานแรกๆทุกคนจะต้องผ่านขั้นตอนนี้ คนทำธุรกิจทุกคนเริ่มต้นการตัดสินใจด้วยวิธีนี้ เพราะในช่วงแรกๆ ของการทำธุรกิจ เรื่องที่ไม่เป็นไปตามแผนการที่คุณวางไว้ก็จะเริ่มถาโถมเข้ามา

เรียกได้ว่าในช่วงแรกๆของการทำธุรกิจ ความรู้สึกจะเหมือนต้องวิ่งไล่ “ดับเพลิง” ที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไร หรือตรงไหน อยู่ตลอด คุณกลับบ้านทุกวันอย่างหมดพลัง และสิ่งที่อยากทำที่สุด คือ นอน

การที่คุณต้องตอบสนองกับทุกๆเรื่องรอบตัวคุณ นั่นหมายความว่า คุณใช้เวลาในการตัดสินใจสั้นมากๆ (เพราะเรื่องมันเยอะและด่วนตลอดๆ) คุณไม่เคยรู้สึกว่าเวลาแต่ละวันเพียงพอต่อการทำงานเลยเพราะงานมันท่วมไปหมด และการจัดลำดับความสำคัญของงานก็ทำได้แย่มาก 

และอย่างที่บอกไปตอนแรกครับ พอคุณรู้สึกว่าคุณทุ่มพลังงานลงไปเยอะมาก คุณจะเหนื่อยสุดๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ แถมบางทีกลายเป็นคนนิสัยไม่ดีเหวี่ยงใส่คนรอบข้างอีกต่างหาก 

เมื่อทุกอย่างดูวุ่นวาย ยุ่งเหยิงไปหมด คุณจึงรู้สึกไม่มีพลังเพียงพอกับการจัดการเรื่องสำคัญจริงๆในการทำธุรกิจ

ดังนั้นตราบใดที่คุณยังใช้การตัดสินใจโดยยึดกับสิ่งที่ถูกโยนเข้ามาหาคุณ มันยากที่จะขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นได้ เพราะคุณไม่ได้กำลัง “บริหาร” ธุรกิจ แต่จริงๆ แล้วคุณกำลัง “เร่งรีบ” ในการงานชิ้นหนึ่งให้เสร็จเพื่อที่จะได้ “เร่งรีบ” ในการทำงานอีกชิ้นหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าอยากโตเราจึงต้องเปลี่ยนจากการตัดสินใจแบบเชิงโต้ตอบที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ไปเป็นการตัดสินใจเชิงรุก เพราะธุรกิจที่เติบโตจริงๆ ไม่สามารถอยู่บนพื้นฐานของความวุ่นวาย (เพียงอย่างเดียว) ได้ครับ 

2. Proactive decision-making (การตัดสินใจเชิงรุก)

คือการย้ายตัวเองจากกระบวนการการตัดสินใจที่ยุ่งเหยิงเข้าสู่กระบวนการนี้ เพื่อให้อย่างน้อยมีเวลาคิดและวางแผนสิ่งที่กำลังจะทำ จะทำให้คุณมีเวลาคิดถึงสิ่งที่คุณต้องการจะทำในอีกอย่างน้อยๆ หนึ่งไตรมาส และไม่ต้องตื่นเช้าแล้วเดินเข้ามาที่ออฟฟิศเพื่อคอยดับเพลิงตลอดทั้งวันอีกต่อไป

คุณจะมีเวลานั่งที่โต๊ะทำงานเพื่อคิด วางแผน และตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ตามความสำคัญ และตามขนาดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณ

เรื่องราววุ่นวายต่างๆ ไม่ใช่ว่าจะหายไป แน่นอนว่ามันยังมีกองไฟให้ต้องดับอยู่เสมอ เพียงแต่คุณไม่ต้องดับมันเองอีกต่อไป คุณจะมีทีมที่มีหน้าที่ทำงานนี้โดยเฉพาะ และพวกเขาจะทำงานนี้ได้อย่างมีระบบ ดีไม่ดีอาจจะ “ดับเพลิง” ได้เก่งกว่าคุณทำเองด้วย 

การเข้าสู่ขั้นตอนการตัดสินใจแบบเชิงรุกนั้น ถือเป็นก้าวที่สำคัญของนักธุรกิจทุกคน ซึ่งจริงๆก็ไม่ใช่แค่เฉพาะธุรกิจ แต่รวมถึงการเติบโตในหน้าที่การงานของคุณด้วย เพราะมันหมายความว่าคุณจะได้มีโอกาสในการวางแผนอนาคตให้ธุรกิจคุณ มันยังหมายความว่าพลังของคุณจะถูกใช้ไปในเรื่องที่สำคัญมากๆจริงๆ

ในขั้นตอนนี้คุณจะมีเวลาดูเรื่องกระแสเงินสด การลดค่าใช้จ่าย การวางแผนการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้องค์กรของคุณเดินจากจุดที่ยืนอยู่วันนี้ไปยังเป้าหมายที่วางไว้ด้วย 

Advertisements

เมื่อทำธุรกิจคุณต้องพยายามมาถึงการตัดสินใจเชิงรุกให้ได้เร็วที่สุด เพราะเมื่อคุณทำได้ คุณจะเห็นสิ่งที่กำลังจะมาถึง “ก่อน” ที่มันจะมาถึงจริงๆ ซึ่งจะทำให้คุณสามารถบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อรองรับเรื่องราวต่างๆ ได้ดีขึ้น และถ้ามีเรื่องร้ายเกิดขึ้น มันก็จะถูกทำให้เบาลงด้วยเพราะคุณสามารถเห็นอะไรชัดกว่าเดิม

และที่น่าแปลกคือ แม้ว่าเวลาการทำงานของคุณอาจจะไม่ได้ทำงานน้อยลง แต่ “พลัง” ของคุณจะไม่หมดเหมือนตอนทำการตัดสินใจเชิงโต้ตอบ

คุณจะกลับบ้านไปพร้อมกับแรงที่ยังเหลือพอที่จะทำอะไรอย่างอื่นได้ และยังมีเวลาเตรียมแผนการสำหรับอนาคตด้วย

ในขั้นตอนการตัดสินใจนี้ คุณเริ่มควบคุมธุรกิจของคุณได้ประมาณหนึ่งแล้ว แต่การเป็น “เจ้าของ” ธุรกิจ คุณต้องสามารถตัดสินใจแบบเชิงกลยุทธ์ให้ได้

3. Strategic decision-making (การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์)

การมาถึงจุดนี้ได้ จะเป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจสามารถก้าวกระโดดได้จริงๆ เพราะด้วยวิธีการคิดแบบนี้ งานที่คุณทำคือการวางแผนกลยุทธ์ให้องค์กร เป็นปีหรือหลายปีล่วงหน้า

คนที่ทำได้ถึงจุดนี้จะมีเวลา พลังงาน และอิสระจากภาระต่างๆในการทำงานขั้นสูงสุด ในขณะเดียวการผลของการตัดสินใจก็จะส่งผลอย่างมากมายต่อองค์กรเช่นกัน

ในการตัดสินใจขั้นนี้คุณจะมองเห็นภาพขององค์กรของคุณในอีกหลายๆ ปีข้างหน้า มองเห็นภาพธุรกิจ มองเห็นความเปลี่ยนแปลง มองเห็นวงจรการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป 

การคิดของคุณจะสุขุม รอบคอบ คุณจะมีเวลาพูดคุยกับผู้รอบรู้จากหลากหลายวงการ คุณจะใช้เวลาปรึกษากับผู้ให้คำปรึกษาเก่งๆ หรือถ้าคุณสนใจเรื่องอะไร คุณจะมีเวลามากพอที่จะศึกษามันอย่างจริงจัง 

นอกจากนี้ คุณจะเห็นความเชื่อมโยงของทุกอย่างทั้งในและนอกองค์กรของคุณ โดยเฉพาะในองค์กรของคุณ คุณจะเข้าใจว่าทำไมการมีส่วนร่วมของพนักงานถึงส่งผลต่อกำไรของบริษัทโดยตรง เป็นต้น 

ในขั้นตอนนี้คุณจะเห็นผลกระทบของการตัดสินใจของคุณในอนาคต ต่อคนของคุณ องค์กรของคุณ สังคม ประเทศ หรือแม้กระทั่งโลก 

คุณจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความหมายที่แท้จริงของงานของคุณ

แต่นักธุรกิจหลายคนจะไม่มาถึงจุดนี้ หากไม่ได้วางแผนดีพอ 

ข่าวดีก็คือ การเปลี่ยนจากขั้นนึงมากอีกขั้นนึงไม่ได้เกี่ยวกับทักษะหรือพรสวรรค์มากนัก แต่เกี่ยวกับทัศนคติเสียมากกว่า คุณสามารถพัฒนาในเรื่องนี้อย่างรวดเร็วหากคุณคิดและต้องการพัฒนาเรื่องนี้อยู่ทุกวัน อย่างต่อเนื่อง และมีวินัย

ทัศนคติที่ไม่ว่าคุณ “ยุ่ง” กับการดับเพลิงแค่ไหนก็ตาม คุณจะต้องหาเวลาคิดเพื่อวางแผนอนาคต หาคนทำงานแทนคุณในเรื่องที่คุณไม่ต้องทำเอง เพื่อให้วันหนึ่งคุณจะมีทีมที่บริหารจัดการตัวเองได้ ถึงวันนั้นคุณจะมีเวลาคิดกลยุทธ์เพื่อวางแผนอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่ตามสิ่งที่คุณฝันไว้จริงๆ

เหมือนที่โฮดา คอตบ์ Hoda Kotb เคยกล่าวไว้ว่า

เหตุการณ์ต่างๆในอดีตที่เราเคยทำที่ผ่านมาทั้งหมดแล้ว ในที่สุดแล้วมันจะเหมือนกับรูปโพลารอยด์ที่จะค่อยๆเปิดเผยว่ามันมีผลกระทบต่อเหตุการณ์และการตัดสินใจ ที่ในที่สุดแล้วมันสร้างตัวตนและชีวิตของเราขึ้นมาได้อย่างไรโฮดา คอตบ์
The days, months, and years eventually reveal, like a Polaroid, a clear picture of how significant events and decisions ultimately shape our lives.Hoda Kotb
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Rawit Hanutsaha
Rawit Hanutsaha
CEO : Srichand United Dispensary Co.,Ltd. CEO & Co Founder : Mission to the Moon Media Author , Podcaster , Speaker , Guest Lecturer

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า