แนวคิด “ความว่างเปล่า” แบบตะวันออก สามารถช่วยให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร?

4863
ในโลกตะวันตกความรู้สึกว่างเปล่าถูกมองเป็น “เงื่อนไขเชิงลบ” ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ที่ไม่ค่อยดี อย่าง ความรู้สึกไม่แยแส หรือการทำลายล้าง แต่ในโลกตะวันออก โดยเฉพาะแถบเอเชียนั้นต่างออกไป
 
จากบทความชื่อ How The Eastern Concept of “Emptiness” Can Help You Live a Fuller Life ของ Alvin Ang ได้พาเราไปทำความรู้จักแนวคิด “ความว่างเปล่า” แบบตะวันออก ที่ไม่เพียงชี้นำคุณไปสู่ความสงบภายในใจเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย
 
โดยเริ่มจากทำความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น การถูกไล่ออกจากงาน เสียเงินจากการพนัน หรือแม้แต่ถูกแฟนที่คบกันมานานบอกเลิก
 
จิตใจของเรากำลังแยกความคิดเรื่อง “ดี” หรือ “ไม่ดี” สมองของเรากำลังบิดเบือนสิ่งที่รับรู้เกินไปกว่าความเป็นจริง และตอบสนองผ่านความวิตกกังวล โกรธ หรือเศร้าเสียใจ
 
ทำให้เราต้องเรียนรู้วิธีควบคุมจิตใจของตัวเอง เพราะ “สิ่งที่ทำให้เราเสียใจตั้งแต่แรก (จิตใจ) ก็คือสิ่งที่จะสามารถรักษาความเจ็บ (ในใจ) ได้”
 
สอดคล้องกับสิ่งที่ Marcus Aurelius เขียนไว้ใน Meditations ของเขาว่า “ถ้าคุณมีความทุกข์จากสิ่งที่อยู่ “ภายนอก” ความเจ็บปวดไม่ได้เกิดจากสิ่งนั้น แต่เป็นการประมาณการของคุณเอง และคุณมีอำนาจที่จะเพิกถอนมันได้ทุกเมื่อ”
 
หรือในหมู่นักจิตวิทยาสมัยใหม่ ก็ได้เชื่อมโยงความคิดกับหลักการ “Cognitive Reframing” ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการบำบัดผู้ป่วยอาการซึมเศร้า แต่ภายหลังถูกนำมาใช้รักษาความผิดปกติทางจิตอย่างอื่นด้วย
 
โดยผู้ป่วยจะได้รับการสอนให้มองสิ่งต่างๆ จากมุมมองอื่น หรือมุมมองของผู้สังเกตการณ์ เพื่อให้การมองเหตุการณ์เดียวกันเห็นในมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยปรับปรุงการพูดและพฤติกรรมของผู้มีความผิดปกติทางจิตได้จริง
 
แน่นอนว่าหลักการเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่เรามักมองข้าม โดยเฉพาะในโลกตะวันออก การแยกตัวเองออกจากความคิดและอารมณ์ เป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา การนั่งสมาธิ ช่วยให้จิตว่าง ช่วยให้เราเข้าใจว่าร่างกายของตัวเองแท้จริงแล้วไม่มีอะไรมากไปกว่ารูปลักษณ์ทางมายาคติ
 
หรือในปรัชญาของญี่ปุ่น 五輪書 (go rin no sho) ที่ใครหลายคนรู้จักในชื่อ “คัมภีร์ 5 ห่วง” ซึ่งเขียนขึ้นโดย Miyamoto Musashi ซามูไรผู้ “ไร้พ่าย” กับการกล่าวถึงสมดุลทั้ง 5
 
ดิน (地) : จิตวิญญาณแห่งความ ”แข็งแกร่ง” หนักแน่น
 
น้ำ (水) : จิตวิญญาณของความ “ยืดหยุ่น” ปรับเปลี่ยน
 
ไฟ (火) : จิตวิญญาณของความ “มุ่งมั่น” มีฝัน
 
ลม (風) : จิตวิญญาณของความ “เปลี่ยนแปลง”
 
และที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ความว่าง หรือท้องฟ้า (空) : จิตวิญญาณของความ “ไร้ตัวตน”
 
สรรพสิ่งกลมกลืน ไร้อัตตา ไร้ตัวตน = ว่าง (สุญญตา) ไม่มีสิ่งใดทำลายได้
 
จุดสูงสุด เป็นการใช้ชีวิตแบบ “ไร้อัตตา”
 
จาก “วิถีแห่งซามูไร” (บูชิโด) ที่เอาชนะคู่ต่อสู้ กลายมาเป็น “วิถีชีวิต”
 
เพราะว่างจึงเกิดประโยชน์ แก้วว่าง จึงเติมน้ำได้ ห้องว่าง จึงอยู่ได้ สมองว่าง จึงเรียนรู้ได้
 
และไม่มีคำพูดหรือคำวิจารณ์ไหนที่จะทำร้ายเราได้นอกจากเราคิดให้เป็นเดือดเป็นร้อนใจเอง
 
Cus Dámato ผู้ฝึกสอนมวยในตำนานยังคิดว่าการทำให้จิตว่างเปล่าเป็นประโยชน์อย่างมาก โดย Cus คิดว่าจุดเด่นของมืออาชีพที่สมบูรณ์ก็คือคนที่สามารถควบคุมหรือระงับอารมณ์ได้เมื่อจำเป็น เขาเคยบอกหนุ่มไมค์ ไทสัน ว่า
 
“There are no emotions in this game.”
 
หรือการบอกให้ไม่มีอารมณ์ร่วมในเกม ซึ่งในที่นี้ก็คงหมายถึง การเล่นให้เต็มที่ตามที่ซ้อมมา อย่าไปเกรงศักดิ์ศรี อย่าไปคิดแต่ว่าเขาเก่งกว่า อย่าไปสนใจคำวิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้นก็จะกดดัน เล่นไม่ออก หรือคำพูดคมๆ ที่คนมักพูดกันว่า “แพ้ตั้งแต่ยังไม่ลงแข่ง”
 
ดังนั้นจงเรียนรู้ที่จะแยกตัวเองออกจากอารมณ์เมื่อจำเป็น ค้นหาจุดที่ว่างเปล่าในตัวเอง จุดที่อยู่เหนือความคิดร้ายๆ หรือความอ่อนแอของตัวเอง แล้วคุณจะพบกับความสุขในทุกที่ ทุกสิ่งที่ได้ทำลงไป
 
อ้างอิง : https://bit.ly/39eibf2
Advertisements