อีกขั้นของความสำเร็จ กับคำถามที่ว่า “เรากำลังทำอะไร?” และ “อยู่ถูกที่หรือไม่?”

288
ผมเชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก Michael Phelps นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติสหรัฐเจ้าของเหรียญโอลิมปิก 22 เหรียญ ในจำนวนนั้นเป็นเหรียญทองถึง 18 เหรียญ ซึ่งเป็นสถิติเหรียญที่เยอะที่สุดในทุกประเภทกีฬาที่นักกีฬาคนเดียวเคยทำได้ตลอดกาล
 
Michael Phelps ยังเป็นเจ้าของสถิติโลกในการว่ายนำ้ประเภทต่างๆ ถึง 39 รายการ ที่ยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์
 
ในการแข่งโอลิมปิกทั้งสามครั้งที่ผ่านมา ถ้าหากเปรียบ Michael คนเดียวเป็นประเทศ​หนึ่ง ประเทศนี้จะได้อันดับเหรียญอยู่ในอันดับที่ 12
 
Phelps ถือเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ดีที่สุดที่โลกนี้เลยก็ว่าได้
 
เขาสูง 193 เซนติเมตร หนัก 88 กิโลกรัม
 
เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังครับว่า ความสูงกับน้ำหนักเกี่ยวอะไรด้วย
 
ตอนนี้อยากเล่าเรื่องนักกีฬาอีกคน ที่อาจจะไม่ได้ดังเท่า Michael Phelps
 
นักกีฬาคนนี้คือ Hichem El Guerrouj เป็นนักวิ่งทีมชาติโมรอคโค เจ้าของสถิติโลกระยะ 1500 เมตร และ 2000 เมตร เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิค 2 เหรียญ​ และยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักวิ่งระยะกลางที่ดีที่สุดในโลกด้วย
 
ชื่อของเขาได้รับการบรรจุเข้าอยู่ใน IAAF (International Association of Athletics Federation) Hall of Fame
 
เขาสูง 175 เซนติเมตร หนัก 62 กิโลกรัม
 
ทั้ง Michael Phelps และ Hichem El Guerrouj ขึ้นชื่อว่าเป็นนักกีฬาที่ซ้อมหนักมากๆ
 
แต่แค่ซ้อมหนักอย่างเดียวจะพอหรือ?
 
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับทั้งคู่คือ ทั้งสองใส่กางเกงที่มีความยาวจากเป้าด้านล่างลงไปถึงปลายขากางเกงด้านใน (Inseam) เท่ากัน
 
มันเป็นไปได้ยังไงในเมื่อทั้งสองความสูงต่างกันตั้ง 18 เซนติเมตร
 
คำตอบคือ Michael Phelps นั้นมีขาที่ค่อนไปทางสั้นเมื่อเทียบกับความสูงโดยรวมของเขา นั่นหมายความว่าเขามีช่วงตัวที่ยาวมาก และน้ำหนักตัวเยอะ
 
ในขณะที่ Hichem El Guerrouj นั้นมีช่วงตัวที่ค่อนไปทางสั้นเมื่อเทียบกับความสูงของเขา นั่นทำให้เขามีช่วงขาที่ยาวมากเมื่อเทียบกับความสูงของเขา ประกอบกับน้ำหนักตัวน้อย
 
นักกีฬาที่ช่วงตัวยาวได้เปรียบมากตอนว่ายน้ำ และน้ำหนักตัวที่เยอะไม่ได้มีผลอะไรมากนักเพราะอยู่ในน้ำ
 
นักกีฬาที่ช่วงขายาวได้เปรียบมากตอนวิ่ง และน้ำหนักตัวที่น้อยมีผลมากที่ทำให้วิ่งได้เร็ว
 
ถ้าเราให้ Phelps มาวิ่ง และ Guerrouj ไปว่ายน้ำ ทั้งสองคงไม่ได้เป็นสุดยอดนักกีฬาแบบนี้แน่
 
การประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่แค่การทำงานหนักเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูให้ออกว่าเรากำลัง “ทำอะไร?” เรากำลัง “อยู่ในที่ที่ถูกหรือเปล่า?” เพราะถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางก็ยากที่จะสำเร็จ
 
แต่เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าตัวเองอยู่ถูกที่?”
 
อันนี้เป็นแนวทางส่วนตัวที่ผมใช้นะครับ ลองเอาไปปรับกันดูได้
 
1. เรื่องที่เราทำเรารู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติมากๆ:
คือไม่ได้ฝืนอะไรเลยตอนทำ เช่น ถ้าต้องพรีเซนต์งานเราก็สามารถทำได้โดยไม่รู้สึกว่ามีอะไรหนักใจ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ซ้อมหรือพัฒนาทักษะให้ดีขึ้น แต่เวลาทำเรารู้สึกว่ามันไม่ได้เหนื่อย ไม่ได้เคร่งเครียดมากมายอะไรขนาดนั้น
 
keyword ของอันนี้คือคำว่า “ธรรมชาติ” ครับ เราจะรู้เองเลยว่าฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้
 
 
2. เรื่องที่เราทำแล้วเราสนุก แต่คนอื่นมักมองว่ามันสนุกได้ยังไง :
บางคนชอบเขียน รู้สึกว่าตอนได้เขียนอะไรแล้วเวลาผ่านไปเร็วมาก รู้สึกเพลิน ในขณะที่เพื่อนร่วมงานของเราบอกว่างานนี้ช่างน่าเบื่อหน่ายเหลือเกิน อันนี้ก็เป็นสัญญาณที่ดีเหมือนกันครับว่า เราอาจจะเกิดมาเพื่อสิ่งนี้
 
 
3. เรื่องที่คนชอบมาหาเรา:
สมมติว่าเราเป็นคนที่ใครก็ตามที่มีปัญหาชีวิตเช่นเรื่องงาน เรื่องความรัก มักโทรมาปรึกษาเรา เรื่องนี้อาจจะทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเรามีความเข้าใจมนุษย์สูงและเป็นผู้ฟังที่ดี ทักษะอันนี้สามารถเอาไปต่อยอดเป็นงานได้เยอะมากครับ
 
 
4. เรื่องที่เรายิ่งทำยิ่งอยากศึกษาโดยไม่มีใครบังคับ:
เรื่องบางเรื่องตอนได้เรียนรู้ แม้เรายังไม่เก่งแต่เราอยากเรียนเพิ่มอีก อันนี้ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่กำลังบอกว่าเรามาถูกทางแล้ว
 
ประเด็นเรื่องว่าเราอยู่ถูกที่ไหม เป็นประเด็นที่สำคัญมากครับ แต่เราอาจจะยังไม่ได้มีโอกาสนึกถึงมันเท่าไร หรือไม่ก็รู้ว่า “สิ่งที่กำลังทำนั้นใช่” แต่อาจ “ไม่ใช่ที่ที่ชอบ” ถ้ายังไงก็ลองตัดสินใจดูครับ เพราะอย่างที่อธิบายไปว่า ตัวคุณเองจะรู้ดีที่สุด
 
อย่างที่อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง Eleanor Roosevelt เคยกล่าวไว้ว่า
 
“Do what you feel in your heart to be right – for you’ll be criticized anyway”
 
“ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร คุณก็จะโดนวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี ดังนั้นทำในสิ่งที่หัวใจคุณเรียกร้องเถอะ”
 
Advertisements