ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ ถ้าไม่เผลอกด ‘เลื่อนปลุก’

467
ว่าด้วยการจัดการเวลาชั่วโมงแรกของวันด้วยกฎ 20/20/20
 
เคยเป็นไหม…เช้าบางวันที่ได้นอนนานกว่าเวลาที่ตั้งปลุก แต่กลับตื่นมาแบบไม่สดใส หัวไม่แล่น ดูสะลึมสะลือหนักกว่าวันที่ตื่นตามนาฬิกาปลุกเสียอีก?
 
นั่นเป็นเพราะร่างกายมีช่วงเวลานอนที่เหมาะสมอยู่ โดยเฉลี่ยคือการนอนให้ครบ 7 ชั่วโมง ซึ่งหากใกล้ครบตามลูป ร่างกายจะเตรียมพร้อมสำหรับตื่นนอนอัตโนมัติ แต่ถ้าเมื่อไรที่นาฬิกาปลุกดังแล้วคุณกด ‘เลื่อนปลุก’ เพื่องีบต่อ ร่างกายจะเริ่มทำในสิ่งตรงกันข้าม นั่นคือมันจะพยายามหลับให้มากขึ้น เมื่อคุณตื่นครั้งต่อไปจึงรู้สึกเหนื่อยและง่วงกว่าเดิม แม้จะได้นอนนานขึ้นก็ตาม
 
นอกจากนี้ การได้ตื่นเช้าหลังจากนอนเต็มอิ่มยังมีข้อดีในเรื่องการทำงานของสมอง และยังช่วยเรื่องความสมดุลของร่างกายและจิตใจด้วย เราจึงควรจัดการเวลาหลังตื่นนอนให้ชีวิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยสูตรการแบ่งเวลา 20/20/20
 
ลองแบ่งเวลา 1 ชั่วโมงก่อนไปทำงานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนละ 20 นาที สำหรับกิจกรรมต่อไปนี้
 
20 นาทีแรก สำหรับการออกกำลังกายให้สมองให้ตื่นตัว และร่างกายแข็งแรง
 
สมองของเราสามารถเกิดภาวะ Transient Hypofrontality หรือ ‘ความสงบสุขชั่วขณะ’ ภาวะดังกล่าวนี้เป็นภาวะไร้ความกังวล มักเกิดขึ้นตอนที่เราทำกิจกรรมลื่นไหล ไม่ต้องขบคิดอะไรเยอะ เมื่อนั้นเราจะมีสมาธิมากขึ้น และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
 
เราสามารถสร้างภาวะความสงบสุขชั่วขณะนี้ได้ดีในช่วงเช้าหลังตื่นนอน ผ่านกิจกรรมอย่างการเดินหรือวิ่ง ซึ่งมันดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างไม่ต้องสงสัย และยังช่วย ‘ปลุก’ สมองให้ตื่นตัวด้วย
 
นอกจากนี้ความเงียบสงบในช่วงเช้าจะทำให้สารโดปามีนและเซโรโทนินเพิ่มขึ้น ทำให้เรารู้สึกทั้งมีพลังและรู้สึกสงบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะช่วยลดความเครียด เพิ่มพลังงานให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า และทำให้เรารู้สึกมีความสุขมากขึ้น
 
20 นาทีต่อมา สำหรับการทบทวนตัวเอง เพื่อหัวใจและจิตวิญญาณ
 
นอกจากร่างกายแล้ว ในช่วงเช้ายังเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เราสามารถปรับจูน ‘หัวใจ’ ของเราได้ โดยเปิดพื้นที่แสดงความรู้สึกของตัวเอง ผ่านการจดบันทึกในเรื่องที่ไม่สามารถบอกเล่าให้คนอื่นฟัง ลองฝึกเรียบเรียงเรื่องราวดังกล่าวทุกๆ เช้า เพื่อที่เราจะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น
 
นอกจากนี้ เรายังไปถึงการใคร่ครวญ ‘จิตวิญญาณ’ ของเรา ซึ่งอาจฟังดูยิ่งใหญ่และเหลือเชื่อ แต่จริงๆ แล้วมันคือการทบทวนคุณค่าของสิ่งที่เราทำอยู่ ลองใช้เวลาช่วงเช้าครุ่นคิดและบันทึกสิ่งที่เราได้รับในการกระทำบางอย่าง เช่น งาน ผู้คน สถานที่ เพราะในยามที่เกิดคำถามว่า เราทำสิ่งนั้นไปทำไม การทบทวนคุณค่าจะช่วยตอบคำถามนั้นได้ดีขึ้น
 
20 นาทีสุดท้าย สำหรับการเรียนรู้
 
เมื่อเราออกกำลังกายและทบทวนตัวเองเรียบร้อยแล้ว ลองใช้อีก 20 นาทีที่เหลือเพื่อเติมอาหารสมองให้ตัวเองบ้าง คุณอาจหาหนังสือมาอ่านทุกวัน ซึ่งเวลา 20 นาทีนี้อาจทำให้คุณอ่านไปได้ 2-3 บท และสามารถอ่านจบเล่มได้ในหนึ่งอาทิตย์ หรือใช้เวลาส่วนนี้ในการอัปเดตข่าวสารประจำวัน ฟังการวิเคราะห์ที่น่าสนใจ เพื่อให้ตัวเองตามโลกทันอยู่เสมอ ก็ถือเป็นการใช้เวลาหลังตื่นนอนอย่างมีค่า
 
ก่อนเข้านอนคืนนี้ ลองบอกตัวเองว่า เราจะตื่นตั้งแต่เสียงนาฬิกาปลุกแรกดังขึ้น และจะไม่กดเลื่อนปลุกอีก เพื่อจะได้ลองใช้ชีวิตในวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าทุกๆ วัน
 
อ้างอิง:
Advertisements