การเมืองในที่ทำงาน ปัญหาที่เลี่ยงยาก แต่บริหารจัดการได้

2185
หากพูดถึง “การเมืองในที่ทำงาน” เชื่อว่าคงเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับใครหลายๆ คน แม้ปัญหาจะเกิดจากหลากหลายสาเหตุ แต่ทุกสาเหตุล้วนนำไปสู่สิ่งที่ย่ำแย่ต่อทั้งตัวเราและองค์กรได้ทั้งสิ้น มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง?
 
1. การแต่งตั้งบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้า
เป็นที่รู้กันดีว่าเป้าหมายของบริษัทล้วนขับเคลื่อนไปได้ด้วยคน และคนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าก็ต้องมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นด้วย
 
การเมืองจะเกิดขึ้นได้ทันที ถ้าบุคคลที่ถูกเลือกมานั้นไม่มีความสามารถ หรือความสามารถไม่พอ ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือ คนคนนั้นจะถูกผลักดันให้ต้องพยายามเอาตัวรอด อาจเป็นการกระทำผ่านวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การสร้างผลงานด้วยกระบวนการทำงานจริงๆ เช่น การวิ่งเต้น การนำเสนอ หรือซุกสิ่งที่ผิดพลาดเอาไว้
 
แน่นอนว่าลูกน้องหรือทีมงานเองก็จะไม่มีความนับถือ เกิดการซุบซิบนินทา และการทำงานที่ไม่ราบรื่น
 
2. การทำงานในระบบห่วงโซ่
ระบบห่วงโซ่ คือการสร้างมูลค่าและส่งต่องานระหว่างแผนก ซึ่งหากมีแผนกใดที่ทำงาน แต่ไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับงานนั้นจริงๆ ก็มีโอกาสเกิดการเมืองในที่ทำงานได้เช่นกัน
 
เพราะแผนกอื่นจะรู้สึกถึงการเปรียบเทียบ ว่าทำไมตัวเองต้องทำงานหนัก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับห่วงโซ่นี้อยู่ฝ่ายเดียว
 
ดังนั้นหัวหน้าหรือผู้บริหารจึงจำเป็นต้องเข้าไปอธิบายให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจ อาจด้วยการทำให้ทั่งคู่รับรู้ถึงรายละเอียดการทำงานของอีกฝ่าย (เดิมทีไม่รู้ จึงรู้สึกไม่พอใจ) และตระหนักรู้ว่า งานของทุกแผนกล้วนมีความจำเป็นต่อห่วงโซ่การบริหารจัดการของบริษัททั้งสิ้น
 
3. มุ่งสนใจแต่ภาพรวม ละเลยรายละเอียด
ข้อนี้เปรียบได้กับเชื้อไฟภายใน ที่อาจทำให้ทีมงานบางคนรวมกันตั้งกลุ่มก้อน และเลือกจะผลิตผลงานออกมายังไงก็ได้ขอเพียงให้ถูกใจนาย อาจก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาว่า “ถ้าคุณดีมาก ก็ไม่ต้องมาเข้าพวกกับเรา” ทำให้คนดีๆ อยู่ลำบาก และกลายเป็นปัญหาภายในที่แก้ไม่ตก
 
ดังนั้น ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการควรมุ่งสนใจในรายละเอียดด้วยการได้มาของข้อมูล ซึ่งการได้มาของผลที่ดีควรจะมาจากวิธีการที่ดีและถูกต้อง เพื่อสร้างผลที่ดีต่อไปในกระบวนการ และความยั่งยืนในอนาคต
 
4. เป้าหมายขององค์กรมีความสำคัญน้อยกว่าเป้าหมายส่วนตัว
เมื่อใดก็ตามที่พนักงานในองค์กรหรือบริษัทสนใจแต่ KPI ของตัวเองเป็นหลัก นั่นหมายความถึงองค์กรนั้นกำลังเข้าสู่ภาวะไซโล (Silo) กลายเป็น Siloed Organization หรือ Siloed Company ที่แผนกต่างๆ ในองค์กรไม่สนใจกัน หรือแม้แต่แผนกเดียวกัน ไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือองค์ความรู้ระหว่างกัน
 
และพวกเขาก็จะใช้วิธีการอะไรก็ได้ เพียงเพื่อให้ตัวเองมีผลงาน (คล้ายกับข้อ 3) ซึ่งสามารถแบ่งที่มาได้ดังนี้
 
4.1 มาจากการสื่อสารของผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทที่ไม่ดีพอ เช่น การบอกว่า บริษัทมีเป้าหมายต้องการจะเป็นที่หนึ่งของตลาด แต่ไม่ได้บอกวิธีการว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ทำให้คนเกิดคำถามและไปตีความกันเอาเอง ซึ่งแน่นอนว่ามีโอกาสเป็นไปคนละทิศละทางสูงมาก
 
4.2 ระบบการจัดการระหว่างแผนก ทั้งระบบงานและเป้าหมายภายใน ไม่เอื้อให้เกิดความสำเร็จร่วมกันและเป็นผลงานร่วมกัน คนจึงสนใจแต่ผลงานของตัวเองเป็นหลัก
 
4.3 เป้าหมายส่วนตัวถูกตั้งไว้สูง และมีรายละเอียดยิบย่อยเกินไป ทำให้คนในองค์กรจับต้นชนปลายไม่ถูก และในแต่ละวันก็จะสนแค่ให้ตัวเองทำงานถึงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ สามารถมีชีวิตรอดผ่านการประเมินผลนั้นไปได้
 
ดังนั้นการวาง KPI รวมไปถึง OKRs จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสามารถบูรณาการกันให้ได้ ว่า เป้าหมายส่วนตัวมีผลต่อการประเมินเป้าหมายของแผนก และเป้าหมายของแผนกมีผลต่อการประเมินเป้าหมายของทั้งองค์กร และไม่ควรวางเป้าหมายสามส่วนนี้แยกออกจากกัน
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ต้องใช้เครื่องมือในการตั้งเป้าหมายอย่างเข้าใจ มีความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายของบุคคล แผนก และองค์กร เพื่อท้ายที่สุด จะช่วยลดปัญหาต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงานได้
 
5. ระยะห่าง
ดังที่กล่าวไปบ้างแล้วในข้อ 2 ที่แผนกหนึ่งอาจไม่เห็นว่าอีกแผนกยุ่ง หรือทำงานหนักมากแค่ไหน (เข้าใจไปเองหรือเข้าใจผิดระหว่างกัน) ก็อาจไปสร้างการเมืองในที่ทำงานได้ ดังนั้น การทำให้แต่ละแผนกมีโอกาสได้เจอกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวิร์กชอป การพาไปเอาท์ติ้ง หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ให้เจอกันบ่อยขึ้น ก็จะช่วยทำลายกำแพงตรงนี้ และคนในองค์กรก็สามารถเปิดใจ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ดีได้
 
สามารถฟังต่อได้ที่: https://bit.ly/2ZvYlaB
 
Advertisements