PSYCHOLOGYworklifeคำพูดของเขาทำใจเราเจ็บ ทำอย่างไรถึงจะเลิกคิดมากต่อคำพูดลบๆ ของคนอื่น

คำพูดของเขาทำใจเราเจ็บ ทำอย่างไรถึงจะเลิกคิดมากต่อคำพูดลบๆ ของคนอื่น

ไม่อยากเก็บเอามาคิดมาก แต่ห้ามความคิดตัวเองไม่ได้

ในภาษาอังกฤษมีสำนวน “Take Things Personally” หมายถึง การเก็บเอาคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นมาคิดมากและต่อว่าตัวเอง เพราะเราแปลการกระทำหรือคำพูดของคนอื่นว่า กำลัง “ทำร้าย” เรา

เหตุการณ์ที่ชวนให้เข้าใจผิดและอาจทำให้เรารู้สึกแย่ เช่น เมื่อหัวหน้าปฏิเสธไม่ให้เราทำงานใหญ่ เพราะคิดว่าเรายังไม่เหมาะสม เมื่อเพื่อนร่วมงานวิจารณ์งานของเรา เมื่อเพื่อนยกเลิกนัดเราในนาทีสุดท้าย และเมื่อคนสำคัญหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น ทั้งที่เรากำลังพูดเรื่องไม่สบายใจอยู่

เรื่องเหล่านี้อาจกระทบกระเทือนจิตใจของเรา รู้สึกราวกับว่าเรากำลัง “ไม่ได้รับความเคารพ” รู้สึกอับอาย สงสัย น้อยใจ โมโหและโกรธ ความรู้สึกเหล่านี้จะผสมไปกับภาพเหตุการณ์หรือคำพูดของคนอื่น จนเป็นความคิดวนเวียนอยู่แต่ในหัวของเรา ก่อตัวเป็นความกังวลและความรู้สึกผิด

เรื่องนี้ฝังมากับ DNA ของเรา เพราะธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม สัญชาตญาณการเอาตัวรอด ทำให้เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมกับคนรอบข้าง เราจึงกังวลและคาดหวังความเคารพ การยอมรับ การชื่นชม และความสนใจจากคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น “คนคิดมาก” กับคำพูดของคนอื่น เราอาจเคยมีเพื่อนบางคนที่ไม่ใส่ใจกับคำพูดหรือสายตาคนรอบข้างเลย ในบางครั้งเรื่องหนักใจของเรากลับเป็นเรื่องที่ง่ายดายสำหรับพวกเขา นั่นเพราะว่าแม้มนุษย์จะมี DNA ของความอยากเป็นส่วนร่วมในสังคม แต่มนุษย์ทุกคนเติบโตมาในสังคม สิ่งแวดล้อม และครอบครัวที่แตกต่างกัน จึงได้รับการบ่มเพาะให้มีนิสัยและมีความต้องการในใจแตกต่างกันไปด้วย

การที่เราคิดมากกับคำพูดของคนอื่น อาจเชื่อมโยงกับตัวตนของเรา

บางครั้งเหตุการณ์เหมือนกัน ก็สามารถทำให้คนที่พบเจอรู้สึกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่รับเหตุการณ์หรือคำพูดนั้น นำไปสารแปลต่อด้วย “ชุดความคิด” และ “ประสบการณ์” ของตนเองเช่นไร บางทีการที่เรามักจะคิดมากกับคำพูดของคนอื่น จึงอาจมาจากบุคลิกของเราเอง เช่น

[  ] เราอาจเป็นคนอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ (Highly Sensitive Person) : จึงสามารถรับรู้อารมณ์ของคนอื่น และแปลบรรยากาศได้อย่างรวดเร็วเกินไป อีกทั้งคนประเภทนี้มักมีความเห็นใจและความเข้าใจผู้อื่นสูง จนบางครั้งอารมณ์ของคนอื่นก็ซ้อนทับกับอารมณ์ของตนเองอย่างแยกได้ยาก

[  ] เราอาจเป็นนักเอาใจ (People Pleaser) : เราอยากให้คนอื่นประทับใจในตัวเราตลอดเวลา และจะรู้สึกไม่สบายใจหากคนรอบตัวมีท่าทีไม่พอใจ บางคำพูดของคนอื่นที่เราไม่จำเป็นต้องขอโทษ แต่เรากลับขอโทษจนเป็นนิสัย บางเรื่องที่ขอบคุณไปแล้ว เราก็ยังขอบคุณเขาซ้ำๆ

[  ] เราเป็นผู้รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) : ด้วยความเจ้าระเบียบและยึดมั่นในมาตรฐานของตนเอง เราจึงรับมือกับคำวิจารณ์ของคนอื่นลำบาก โดยเฉพาะเป็นคำวิจารณ์ที่เกี่ยวกับความผิดพลาดและข้อบกพร่องของตนเอง

[  ] เราในวัยเด็กเคยเจอเรื่องกระทบจิตใจ (Childhood Trauma) : เราอาจเคยกลับบ้านมาพร้อมกับคะแนนสอบที่ภาคภูมิใจ แต่ครอบครัวอาจไม่ได้ภาคภูมิใจกับเรา จนเกิดเป็นความรู้สึกว่าตนเองยัง “ไม่ดีพอ” ตลอดเวลา เมื่อเติบโตขึ้นแต่จิตใจยังไม่ได้รับการเยียวยา เราจึงต้องการการยอมรับและความสนใจจากคนอื่น

[  ] เรามักต่อว่าตัวเองบ่อย (Negative Self Talke) : เราไม่มีความมั่นใจในความสามารถของตนเอง จึงมักดูถูกตนเองในใจเสมอ เมื่อเราได้ยินคำพูดเหล่านั้นจากคนอื่น เราเลยยิ่งเชื่อในความไร้ความสามารถของตนเอง และทำให้ตนเองรู้สึกเจ็บปวด

[  ] เรามีอีโก้ (Ego) : ตัวตนที่มีอัตตาสูงมักจะสอนความเชื่อผิดๆ ให้กับตัวเรา อีโก้จะโยนความรับผิดชอบไปไว้ที่คนอื่น และจะทำให้เราคิดว่า “เราจะต้องเป็นฝ่ายถูก” “คนอื่นต่างหากที่ผิด” “คนอื่นนิสัยไม่ดี” “คนอื่นทำให้เราต้องรู้สึกแบบนี้”

ความจริงแล้วไม่มีใครมีอำนาจเหนือเรา ไม่มีใครบงการเราได้ และไม่มีใครต้อง “รับผิดชอบ” ต่อความรู้สึกของเรา นอกจากตัวเราเอง ถ้าเราอยากเป็นอิสระ จากนิสัยเก็บคำพูดของคนอื่นมาใส่ใจจนใจหนัก เราอาจต้องลองฝืนธรรมชาติของตนเอง และปรับมุมมองใหม่

Advertisements

ทุกเหตุการณ์เหมือนกับเหรียญที่มี “สองด้าน” เสมอ

เฟรเดอริก อิมโบ (Frederik Imbo) กล่าวในรายการ TEDxMechelen หัวข้อ “How not to take things personally? ” โดยเล่าประสบการณ์ของตนเองเมื่อเป็นผู้ตัดสินในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล นอกจากจะต้องฝึกร่างกายให้แข็งแกร่งไม่ต่างจากนักกีฬา เขายังต้องฝึกฝนจิตใจให้แข็งแกร่ง เพื่อรอรับคำวิจารณ์จากแฟนคลับทีมฟุตบอลทั้งสองทีม เพราะในฐานะผู้ตัดสินการแข่งขัน ไม่ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร ย่อมมีคนไม่เห็นด้วยตลอดเวลา

อิมโบเปรียบเทียบคำวิจารณ์เหล่านั้นเหมือนกับเหรียญที่มี “สองด้าน” เพื่อช่วยให้เขาเป็น “อิสระ” จากความคาดหวังและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่น โดยสองด้านนั้นแบ่งเป็น “เรื่องของเขา” และ “เรื่องของเรา”

[  ] เรื่องของเขา (It’s not about me)

เราควรแยกธุระของคนอื่นออกจากธุระของเรา ในบางสถานการณ์เป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ ป้องกันไม่ได้และแก้ไขก็ไม่ได้ เพราะการกระทำและคำพูดของคนอื่น เกิดมาจากความตั้งใจและความต้องการของคนอื่น “ไม่ใช่มาจากเรา” ดังนั้น ให้เราลองสร้างระยะห่างก่อนปักใจ ลองพยายามมองในมุมของอีกฝ่ายดู

บางทีการที่เขาหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาขณะที่เรากำลังพูดอยู่ อาจเป็นไปได้ว่าข้อความนั้นสำคัญกับเขามาก เหมือนกับการที่แฟนบอลตะโกนต่อว่าผู้ตัดสิน ก็เพราะเขาอยากให้ทีมของตนเองชนะมาก บางทีการที่เจ้านายไม่อยากให้เราทำงานนี้ เพราะพิจารณาแล้วว่างานนี้ไม่เหมาะกับวิธีการทำงานของเรา เราจะพบว่า บางเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวตนของเราเลย แต่เป็นเรื่องความต้องการของอีกฝ่ายเพียงเท่านั้น

ในพอดแคสต์ Mission To The Moon คุณรวิศมักจะกล่าวว่า “จริงๆ แล้ว ไม่มีใครสนใจเราขนาดนั้น” บางทีเราเห็นคนแต่งตัวฉูดฉาดจนเผลอวิจารณ์เขาในใจ แต่เมื่อเขาเดินผ่านไปเราก็ลืมเกี่ยวกับเขาแล้ว เพราะฉะนั้นสายตา คำพูดและการกระทำของคนอื่น เราก็ไม่จำเป็นจะต้องยึดเอามาใส่ใจมากจนเกินไป

ถ้าเราอยากแน่ใจว่า คำพูดหรือการกระทำของเขา เราได้แปลตรงตามที่เขาตั้งใจหรือเปล่า? เราอาจจะลองรวบรวมความกล้า ถามพวกเขาดูด้วยถ้อยคำสุภาพและเป็นมิตร เช่น ขอคำอธิบายกับหัวหน้าเรื่องที่ไม่ให้เรารับผิดชอบงานนี้ ขอคำอธิบายละเอียดจากเพื่อนร่วมงานที่วิจารณ์งานของเรา เพราะคำว่า “ไม่เหมาะสม” “ไม่ชอบ” “ไปแก้มาใหม่” อาจไม่ได้หมายถึงตัวตนของเราที่ไม่ดีพอ

หากมีการกระทำหรือบางคำพูดที่รุนแรง ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ และรู้สึกว่าเรากำลังไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร เราสามารถบอกอีกฝ่ายเพื่อสร้างขอบเขตของตนเองได้ แต่ต้องไม่ใช้ถ้อยคำที่กล่าวโทษหรือกล่าวหาอีกฝ่ายก่อน

[  ] เรื่องของเรา (It’s about me)

ถ้าลองมองจากมุมเขาแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าเรื่องนี้กระทบกับเราอยู่ เราอาจจะต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่า เราอาจ “มีส่วนเกี่ยวข้อง” ในเหตุการณ์นี้เช่นกัน เพราะบางทีลึกๆ ในใจของเราแล้ว เวลาที่รู้สึกเจ็บหรือรู้สึกโมโหกับคำพูดของคนอื่น เป็นเพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เขาพูดมันมี “เรื่องจริง” อยู่ในนั้น

สมมติหัวหน้าพูดลอยๆ กลางที่ประชุมว่า “อยากให้ทุกคนขยันทำงานกันมากกว่านี้” หากเราคอยประเมินผลงานและพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ เราจะรู้ว่าหัวหน้าน่าจะกำลังหมายถึงคนอื่น เพราะตัวเราเองขยันทำงานอยู่แล้ว แต่ถ้างานของเราช่วงนี้ มีเพื่อนร่วมงานวิจารณ์บ่อยๆ หรือตัวเราเองยังรู้สึกว่าเรามักขาดความรับผิดชอบประจำ เราคงเก็บคำพูดกลางๆ ของหัวหน้าไปคิดมากว่า “เขาหมายถึงเราแน่เลย เราไม่ขยันแน่เลย”

บางครั้งคำพูดของคนอื่นก็สามารถสะท้อนความผิดพลาดของตัวเราเองได้ ถ้าเรารู้สึกโกรธหรือเสียใจกับคำพูดของคนอื่น เราอาจต้องกลับมาพิจารณาว่าคำพูดนั้นมีส่วนไหนที่จริงบ้าง? ความสามารถตรงไหนที่เราต้องเติม? และเราเป็นคนอย่างที่เขากล่าวหาจริงหรือเปล่า?

บางทีนี่อาจเป็นโอกาสให้เราได้ปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่เราเป็นอยู่ แต่เป็นการแก้ไขในแบบของเราเพื่อตัวตนใหม่ของเราที่ดีกว่าเดิม ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้คนอื่นพอใจ

ในพอดแคสต์ Mission To The Moon Remaster EP.18 “อย่าคิดเยอะ ว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเรา” คุณอั้ม ศุภกร กล่าวถึงการรับมือกับสายตาและเสียงวิจารณ์ของคนอื่น โดยการกำหนด “เข็มทิศ” ของตัวเอง เพราะถ้าเรารู้ว่า “คุณค่า” ที่เรายึดถือในชีวิตคืออะไร รู้ว่าตัวตนที่เราอยากเป็นคือแบบไหน เราจะ “มั่นใจ” ในเป้าหมายและ “เชื่อมั่น” ในตัวตนของเรามากขึ้น

ผู้คนอาจวิพากษ์วิจารณ์เราอย่างเสียหาย ดูถูกเหยียดหยาม หมิ่นเกียรติ และทำให้เรารู้สึกไร้ค่า จนเราต้องหวาดกลัวคำพูดของคนอื่นตลอดเวลา แต่หากเรารู้ว่าตัวตนของเราที่แท้จริงเป็นอย่างไร เราจะเปรียบเสมือนกับมีบ้านที่อบอุ่นและแข็งแกร่ง ซึ่งจะไม่โอนอ่อนไปกับพายุ คำสบประมาท และความคาดหวังของผู้อื่น

อ้างอิง
– อย่าคิดเยอะ ว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเรา | Mission To The Moon Remaster EP.18 : รวิศ หาญอุตสาหะ และ ศุภกร เทพวิชัยศิลปกุล – https://bit.ly/3szyhgo
– How not to take things personally? | TEDxMechelen : Frederik Imbo – https://bit.ly/3KXEn0G
– How to Not Take Things Personally : Barbara Field – https://bit.ly/44vwHtf

#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า