PSYCHOLOGYworklifeลาเธอได้สักที ลาออก! สำรวจ 8 เหตุผลที่ทำให้หลายคนลาออก

ลาเธอได้สักที ลาออก! สำรวจ 8 เหตุผลที่ทำให้หลายคนลาออก

จำได้ไหมว่า ตัวเรานั้นเคยลาออกด้วยเหตุผลอะไรบ้าง?

“ลาออก” จะเรียกว่าเป็นวงจรที่เกิดขึ้นเป็นปกติในโลกการทำงานก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อทำงานมาสักระยะหนึ่ง ก็มีเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งให้ต้องลาออก อาจจะเป็นเพราะอยากเติบโตในหน้าที่การงานกว่าที่เป็นอยู่ อาจจะเป็นเพราะเบื่องานที่ทำอยู่แล้ว หรือบางคนพอเห็นเพื่อนร่วมงานลาออกไปทีละคนๆ ก็เป็นเหตุผลให้รู้สึกอยากลาออกตามไปได้เหมือนกัน

เหตุผลในการลาออกของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป แต่ก็ไม่ถึงกับต่างกันคนละโยชน์ขนาดนั้น เพราะจริงๆ แล้วมันมีสิ่งที่เรียกว่า “Common Reasons” หรือเหตุผลที่คนลาออกร่วมกันอยู่

McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกได้ทำการสำรวจเรื่องนี้ในช่วงปี 2021 – 2022 ที่ผ่านมา ในบทความนี้เราจึงจะพาไปย้อนดูพร้อมกันว่า อะไรเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้หลายคนตัดสินใจลาออกจากงาน ผ่านผลสำรวจจากคนทำงานกว่า 13,000 คน ในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อินเดีย และสิงคโปร์

เราลองมาดูกันดีกว่าว่า จะมีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจลาออก แล้วมันจะมีเหตุผลไหนตรงกับที่เราเคยใช้ไปบ้างหรือเปล่า

1. ไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพ – 41%

“ทำงานที่เดิมมาตั้งหลายปี แต่ยังไม่เห็นวี่แววจะได้เลื่อนขั้นเสียที” – มีใครเคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ไหม?

ถ้าถามถึงความก้าวหน้ากับคนที่ทำงานมานานหลายๆ คน แน่นอนว่าก็คงไม่มีใครไม่อยากก้าวหน้าจริงไหม? แล้วยิ่งสมมติว่าบางคนเป็นพนักงานมานาน สั่งสมผลงานและประสบการณ์มาก็เยอะ เขาเหล่านั้นก็จะยิ่งมองว่าไม่เห็นมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ได้เลื่อนขั้น นอกเสียจากว่าโดนบริษัทแช่แข็งด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น เรื่องเงินเดือนหรือโครงสร้างของบริษัท

เมื่อโดนแช่แข็งไว้แบบนี้ เชื่อว่าคงมีหลายคนที่รู้สึกสูญเสียความมั่นใจและเริ่มเกิดคำถามกับตัวเองขึ้นมาว่า “หรือเราไม่เก่ง?” “หรือผลงานเราไม่ดีพอ?” และอีกสารพัดคำถามที่เกิดขึ้นมา แต่ในระหว่างนั้น พอลองตัดสินใจสมัครงานบริษัทใหม่ในตำแหน่งที่ดีกว่าและสุดท้ายได้งานจริงๆ คนเหล่านี้ก็จะเริ่มมองเห็นแล้วว่าตัวเองมีศักยภาพมากพอและที่อื่นมีโอกาสให้เติบโตมากกว่า

เมื่อพนักงานต้องการเรียนรู้ เติบโต และพัฒนา แต่บริษัทไม่เห็นค่าและไม่ทำให้พนักงานเห็นว่าตัวเองมีอนาคตในที่แห่งนี้ เขาเหล่านั้นก็จะตัดสินใจลาออกเพื่อไปสำรวจเส้นทางใหม่ๆ ที่ให้โอกาสตัวเองมากกว่า

2. ค่าตอบแทนน้อย – 36%

ในยุคที่ข้าวยากหมากแพงและเศรษฐกิจไม่มีทีท่าจะดีขึ้นเช่นนี้ แน่นอนว่าปัจจัยที่คนให้ความสำคัญก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “เงิน” เพราะถ้าเราลองมาแจกแจงรายละเอียดรายรับ-รายจ่ายดู ก็จะรู้เลยว่าในแต่ละเดือนมีอะไรที่เราต้องจ่ายเยอะมาก แค่ค่าข้าว 3 มื้อก็เสียหลายบาทแล้ว แถมยังมีค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าจิปาถะอื่นๆ อีก ซึ่งสำหรับบางคนแล้วค่าใช้จ่ายเหล่านี้สวนทางกับรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือนเป็นอย่างมาก

แล้วถ้าใครเป็นคนทำงานที่อยู่ในช่วง Sandwich Generation ก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีกหลายเท่า! เพราะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งของพ่อแม่และลูก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเรื่องเงินถึงเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ทำให้หลายคนตัดสินใจลาออก

3. หัวหน้าไม่เอาใจใส่ – 34%

ทุกคนเคยได้ยินคำนี้กันไหม “People don’t quit a job, they quit a boss” หรือ หลายคนไม่ได้ลาออกจากงานเพราะงานที่ทำอยู่ แต่เขาลาออกเพราะ “หัวหน้า” ต่างหาก เชื่อว่าประโยคนี้คงจะโดนใจใครหลายๆ คนเป็นแน่ เพราะหัวหน้าเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตการทำงานของเราทุกคน

แค่ลองนึกภาพว่า เมื่อหัวหน้าเป็นคนที่ต้องมอบหมายงานและคอยให้คำปรึกษาเรา แต่พอถึงเวลามีปัญหาจริงๆ แล้วเขาไม่ใส่ใจเข้ามาดูแลหรือถามไถ่สิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยให้เรารับมือกับปัญหาและเผชิญชะตากรรมที่เกิดขึ้นด้วยตัวคนเดียว อะไรจะเกิดขึ้น?

เราก็จะเครียดกับงานมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีใครให้ปรึกษาและไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ขนาดผู้มีอำนาจเหนือเรายังไม่สนใจ แล้วความเครียดนั้นจะค่อยๆ กัดกินหัวใจจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ สุดท้ายก็จบลงด้วยการที่เราเดินจากไปเอง

4. งานไม่สร้างความหมายให้ชีวิต – 31%

ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนตามหา ไม่ว่าจะเป็นความสุขในการใช้ชีวิตหรือความสุขในการทำงาน แล้วทุกคนเชื่อไหมว่าหนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้มีความสุขในการทำงานสำหรับใครหลายๆ คนคือ “การทำงานที่มีความหมาย (Meaningful Work)”

จากข้อมูลโดย McKinsey พบว่า เมื่อพนักงานรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำอยู่สร้างความหมายให้กับชีวิต มันจะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นถึง 33% และมีโอกาสลาออกน้อยลง 49% ด้วย แล้วจากข้อมูลเดียวกันนี้ยังบอกอีกว่า บางคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เสียยิ่งกว่าเรื่องรายได้ ความมั่นคง และจำนวนชั่วโมงในการทำงานอีก!

ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็หมายความว่า สำหรับบางคนแล้วถ้างานที่ทำอยู่ไม่สร้างความหมายให้กับชีวิต เขาเหล่านั้นก็พร้อมจะลาออกเช่นกัน

Advertisements

5. หัวหน้าตั้งความคาดหวังไม่สมจริง  – 29%

เคยเจอหัวหน้าแบบนี้ไหม อยากให้พนักงานทำงานได้ 100 ชิ้น แต่มีเวลาให้ทำแค่เสี้ยววิ?

จริงๆ แล้วการตั้งเป้าหมายสูงๆ ไว้ไม่ใช่เรื่องผิด เหมือนกับการตั้ง OKR ที่เราตั้งให้สูงไว้ก่อนเพื่อสร้างความท้าทายให้กับคนในทีม แต่ทางที่ดีเราก็ไม่ควรตั้งสูงเกินไปจนไม่อาจเอื้อมถึงได้ เพราะมันจะเป็นการลดทอนกำลังใจพนักงานที่ต้องทำตามแผนนั้น

การตั้งเป้าหมายและมอบหมายงานของหัวหน้าก็เช่นเดียวกัน ถ้าตั้งเกินจริงจนเกินไป ก็อาจทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกเหนื่อยและท้อจนโบกมือลาออกจากองค์กรไปได้

6. เพื่อนร่วมงานแย่ – 26%

สภาพแวดล้อมในที่ทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และคนที่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดได้ว่าองค์กรนั้นมีสภาพแวดล้อมที่ดีหรือแย่ ก็เป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก “คนในองค์กร” หรือ “เพื่อนร่วมงาน” เพราะนอกจากหัวหน้าแล้ว คนที่เราต้องพูดคุยหรือทำงานด้วยบ่อยๆ คือคนเหล่านี้

ปัญหาเรื่องเพื่อนทำงานนั้นเป็นเรื่องคลาสสิกที่พบได้ในทุกๆ องค์กรเลย บางคนเจอเพื่อนร่วมงานที่ Toxic ชอบนินทาว่าร้าย หรือบางคนเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่เคยซัปพอร์ตกันเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องสภาพจิตใจ เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลใหญ่ที่ทำให้บางคนทนไม่ไหวและตัดสินใจลาออกจากงานไปดีกว่า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเจอหน้ากันอีก

7. ไม่มีความยืดหยุ่น – 26%

โควิด-19 นั้นเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นคือ พนักงานต้องการ “ความยืดหยุ่น” มากขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยให้คนทำงานมี Work-Life Balance หรือมีความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว

ปัจจุบันหลายบริษัทเริ่มนำนโยบายเรื่อง “ความยืดหยุ่น” อย่างเช่นนโยบายการทำงานทางไกล มาปรับใช้กันมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายองค์กรเช่นกันที่ยังคงให้พนักงานทำงานที่ออฟฟิศแบบ 100% อยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้บางคนจึงลาออกเพื่อไปอยู่กับองค์กรที่มอบความยืดหยุ่นให้มากกว่า

8. ขาดการสนับสนุนด้านสุขภาพ – 26%

วัยทำงานเป็นวัยที่ต้องเจอปัญหาและความท้าทายที่เข้ามาในแต่ละวันเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้มันทำให้บางคนต้องเผชิญกับความวิตกกังวล ซึมเศร้า และหมดไฟในการทำงานได้

เมื่อพนักงานเผชิญกับปัญหาสุขภาพเช่นนี้ แล้วบริษัทไม่ให้ความสำคัญหรือไม่มีการสนับสนุนเรื่องสุขภาพใดๆ พนักงานเหล่านั้นก็อาจเริ่มคิดแล้วว่า “หรือถึงเวลาแล้วที่ต้องหางานใหม่?”

และประกอบกับการที่หลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 หลายคนนั้นเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองมากขึ้นแล้วด้วย ดังนั้นถ้าบางคนจะลาออกด้วยเหตุผล “ขาดการสนับสนุนด้านสุขภาพ” ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนี้เลย

ทั้งหมดนี้คือสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในโลกแห่งการทำงาน ที่เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ใครหลายคนลาออก ถ้าใครลาออกไปแล้วเจองานที่ตรงเงื่อนไขทุกอย่างที่ต้องการ ก็ถือเป็นความโชคดีครั้งใหญ่

แต่ถ้ามีใครกำลังเผชิญกับปัญหาข้างต้นที่กล่าวมาและอยู่ในช่วงที่กำลังตัดสินใจว่าจะลาออกดีไหม หรือกำลังกลัวอยู่ว่า “ถ้าย้ายไปแล้วแย่กว่าเดิมควรทำอย่างไร” ก็ขอแนะนำว่า อย่าเพิ่งกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะปัญหาที่เรากังวลมันอาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ เรามาโฟกัสกับการจัดการปัญหาตรงหน้าก่อนดีกว่า

หวังว่าก้าวเดินต่อไปของทุกคนจะเจอกับงาน เพื่อนร่วมงาน และองค์กรที่เหมาะกับตัวเองนะ (:

อ้างอิง
– Why are Americans quitting their jobs? : World Economic Forum – https://bit.ly/3PZcxV0
– Why People Really Quit Their Jobs : Harvard Business Review – https://bit.ly/44s89lS
– Making work meaningful from the C-suite to the frontline : McKinsey – https://bit.ly/3pNRWZa

#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า