PODCASTMISSION TO THE MOONTea Room ธุรกิจโรงน้ำชา กับการผลักดันสิทธิสตรีในตะวันตก

Tea Room ธุรกิจโรงน้ำชา กับการผลักดันสิทธิสตรีในตะวันตก

หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่หลายคนอาจไม่รู้ “ห้องน้ำชา” คือพื้นที่แรกของเฟมินิสต์

เราจะมีเพื่อนอย่างน้อยหนึ่งคนในกลุ่มที่มักหลงใหลกับการค้นหาร้านกาแฟหรือร้านคาเฟ่ใหม่ๆ เป็นประจำ อาทิตย์ก่อนชวนไปเช็กอินอยู่ที่ร้านแถวสยาม ส่วนอาทิตย์นี้พากันไปเช็กอินร้านใหม่แถวสีลม สไตล์การท่องเที่ยวแบบนี้ในยุคสมัยใหม่เราเรียกกันว่า “Cafe Hopping” นอกจากจะเป็นการหาขนมและเครื่องดื่มใหม่ๆ กลุ่มคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบนี้มักจะตามหาร้านที่มีบรรยากาศน่านั่ง และมีมุมสวยๆ ไว้ถ่ายรูปให้กันเพื่อลงโซเชียลอีกด้วย

ก่อนจะมาเป็นร้านคาเฟ่แบบในปัจจุบัน ธุรกิจคาเฟ่ของประเทศตะวันตกในอดีต เคยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม ร้านกาแฟหรือร้านน้ำชาในสมัยนั้น เป็นสถานที่พบปะพูดคุยกันของเหล่านักการเมือง นักคิด และนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย หากเปรียบเทียบสถานที่เช่นนั้นในบริบทสังคมสมัยนี้ คงเป็นเหมือนกับทวิตเตอร์ที่มีทั้งโต๊ะ เก้าอี้ และสมุดเมนูให้เลือกเครื่องดื่มตามใจชอบ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ “Coffeehouse” หรือ “สภากาแฟ” เคยเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติในฝรั่งเศสมาแล้ว แต่ “Tea Room” หรือ “ห้องน้ำชา” กลับเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในแง่นี้เสียเท่าไหร่ แต่สำหรับสาวตะวันตกในยุคต้นศตวรรษที่ 19 แล้ว ธุรกิจโรงน้ำชาคือความภาคภูมิใจของผู้หญิงเลยทีเดียว

Tearoom ห้องน้ำชาของสุภาพสตรี

แม้ “ชา” จะเป็นเครื่องดื่มระดับต้นๆ ที่ชาวตะวันตกนิยมไม่แพ้กาแฟในตอนนั้น แต่กลับไม่มีโรงน้ำชาอยู่เลย เพราะโดยปกติแล้ว พวกเขาจะชงชาดื่มกันแต่ภายในบ้าน หรือเชิญแขกมาร่วมดื่มชาด้วยในสวนหลังบ้านเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม “กาแฟ” เป็นทั้งเครื่องดื่มที่แพร่หลายและทำให้เกิดสถานที่อย่าง “Coffeehouse” หรือ “สภากาแฟ” อยู่ทั่วทั้งอเมริกาและยุโรป  โดยร้านกาแฟแห่งแรกของลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดในปี ค.ศ. 1652 และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากตามมา จากการที่สังคมอังกฤษในยุคนั้นมีการแบ่งระดับชนชั้น การไปนั่งดื่มกาแฟร่วมกับผู้อื่นอย่างเสมอภาคได้จึงถูกมองว่าเป็นความคิดหัวรุนแรง

ในขณะที่สภากาแฟเป็นพื้นที่สำคัญในการหารือทั้งเรื่องธุรกิจ สังคมและการเมือง แต่กลับมีข้อจำกัดในกฎหมายสำหรับผู้หญิงไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ไม่เพียงร้านกาแฟ แต่ยังรวมถึงร้านอาหารและโรงแรม ที่จำกัดให้ผู้หญิงตะวันตกในสมัยนั้นไม่สามารถเข้าไปนั่งในร้านได้อย่างอิสระหากไม่มีผู้ชาย (อาจจะเป็นสามีหรือครอบครัว) ไปกับเธอด้วย

ในร้านอาหารบางที่ถึงกับมีห้องแยกให้กับสุภาพสตรีนั่งต่างหาก และหากเธอต้องการจะซื้อใบชาจากร้านริมถนน เธอก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินเข้าไปในร้าน ทำได้เพียงนั่งในรถม้าและรอให้คนของเธอไปซื้อให้ ดังนั้นจึงเกิดความต้องการพื้นที่ให้ผู้หญิงสามารถมาดื่มชาและทานอาหารนอกบ้านได้ด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของธุรกิจ โรงน้ำชา (Tea Room) นั่นเอง

โรงน้ำชาเริ่มปรากฏในช่วง ค.ศ. 1860 และเริ่มเป็นที่นิยมในอเมริกากับอังกฤษในช่วงปี ค.ศ. 1880 จนกระทั่งความนิยมไต่ถึงระดับสูงสุดในช่วงปี ค.ศ. 1920 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเหตุการณ์ “คลื่นลูกแรก” ของเฟมินิสต์ในสหรัฐอเมริกา (ปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผู้หญิงชนชั้นกลางออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิในการเลือกตั้ง รวมถึงเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายในด้านธุรกิจและบทบาทอื่นๆ ในสังคม เพราะผู้หญิง ณ ขณะนั้นไม่สามารถมีธุรกิจเป็นของตนเองได้ และไม่สามารถกู้เงินมาลงทุนทำธุรกิจได้เองตามกฎหมาย หากไม่ใช้ชื่อของสามีร่วมด้วย เรียกได้ว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิสตรีในครั้งนั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดธุรกิจโรงน้ำชาซึ่งมีผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการขึ้นมาได้

แรกเริ่มนั้นธุรกิจโรงน้ำชาเรียกกันว่า “Tea Room” หรือ “ห้องน้ำชา” เพราะส่วนใหญ่แล้วจะใช้สถานที่ที่ไม่ต้องใช้เงินทุนช่วยมากนัก อาจเป็นห้องใดห้องหนึ่งของบ้าน หรือแค่ตั้งโต๊ะเล็กๆ ในสวน เสมือนธุรกิจครัวเรือนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหารายได้เล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงที่มีฐานะ เธออาจจะเช่าสถานที่หรือโรงเก็บของเก่าแล้วปรับปรุงให้เป็นห้องน้ำชา

ห้องน้ำชานั้นเป็นสถานที่ที่กลุ่มผู้มาเยือนส่วนใหญ่คือผู้หญิง และลูกจ้างกับเจ้าของธุรกิจเกือบทั้งหมดก็ยังเป็น “ผู้หญิง” อีกด้วย จุดประสงค์คือ สร้างสถานที่ในสาธารณะที่ผู้หญิงสามารถออกมาทานอาหารนอกบ้านด้วยตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพาผู้ชายมาด้วย ที่สำคัญคือต้องราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับร้านอาหาร

เมนูที่เสิร์ฟในห้องน้ำชา หลักๆ คือชาและขนมหวานสำหรับทานคู่กัน หรืออาจจะมีอาหารเบาๆ ร่วมด้วย เช่น สลัดและแซนวิช บรรยากาศภายในห้องจะตกแต่งอย่างอบอุ่นและเรียบง่าย มีการประดับเทียน ดอกไม้ งานฝีมือ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ โดยเน้นให้มีลักษณะที่ดูเหมือน “บ้าน” ซึ่งทำให้ลูกค้าผู้หญิงรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย

หากไปค้นดูไดอารี่หรือบันทึกความทรงจำของผู้หญิงที่เขียนในสมัยนั้น พวกเธอมักจะบรรยายถึงประสบการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการเกิดขึ้นของห้องน้ำชา เพราะพวกเธอจะได้พบทั้งเพื่อนใหม่ เพื่อนร่วมงาน นักพูดในที่สาธารณะ และนักสิทธิมนุษยชน

Advertisements

Tearoom กับการแสดงออกถึงจุดยืนเรื่องความเท่าเทียม

การเกิดขึ้นของห้องน้ำชาเป็นการปฏิวัติวงการธุรกิจที่เดิมมีแต่ชายครอบครอง และยังเป็นการเกิดขึ้นของโอกาสที่ผู้หญิงจะได้กลายเป็นผู้ริเริ่มบ้าง ธุรกิจห้องน้ำชาทำให้พวกเธอมีทั้ง “อาชีพ” ที่สร้างรายได้เป็นของตนเอง มี “พื้นที่” ให้แสดงฝีมือ และได้มี “โอกาส” สร้างตัวตนหรือจุดยืนในสังคมของพวกเธอเอง จากเริ่มต้นเป็นลูกค้าแวะเวียนมาจิบชาและทานอาหาร ต่อมาก็ขยับขยายกันเป็นพบปะเพื่อนฝูง จัดกิจกรรมเต้นรำ เกิดเป็นกลุ่มสังคมของผู้หญิงเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องสตรีนิยม

ฟรานเซส เวอร์จีเนีย (Frances Virginia) เธอคือหนึ่งในเจ้าของธุรกิจห้องน้ำชา ในช่วงปี ค.ศ. 1920 และมีบทบาทโดดเด่นอย่างมากในการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ เธอทุ่มเทพลังทั้งหมดที่มีเพื่อให้ลูกค้าได้รับอาหารที่ทั้งอร่อย ราคาถูก และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งยังต้องได้รับการบริการที่ดีอย่างทั่วถึงโดยไม่แบ่งแยกเพศด้วย เธอต้อนรับลูกค้าที่เป็น LGBTQ+ อย่างดี และพนักงานส่วนใหญ่ในร้านก็เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน

เวอร์จีเนียเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการกลุ่มแรกๆ ที่เสนอให้พนักงานชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันกับพนักงานผิวขาว มีสวัสดิการและเงินเดือนที่เท่าเทียมกัน เวอร์จีเนียยังจ่ายค่าแรงพนักงานผู้หญิงในอัตราที่เท่ากับค่าแรงปกติของพนักงานผู้ชาย ทั้งยังให้คำปรึกษาและสนับสนุนทุนการศึกษาในกลุ่มคอมมิวนิตีผู้หญิงด้วยกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากต้องรักษาผลประกอบการของร้าน เธอยังแจกอาหารฟรีให้กับคนทั่วไปซึ่งรวมๆ แล้วมีมูลค่าถึงหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กระแสธุรกิจห้องน้ำชาจะซบเซาลง แต่ก็มาจากเหตุผลที่น่ายินดีคือ สิทธิในด้านธุรกิจและการประกอบอาชีพของผู้ชายและของผู้หญิงมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นแล้ว
โดยการสำรวจในช่วงปี 1940 ถึง 1945 พบว่าตลาดแรงงานมีลูกจ้างและผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องการทดแทนแรงงานชายในตลาดที่ลดลงจากการเกณฑ์ทหาร

การเพิ่มขึ้นของความต้องการแรงงานผู้หญิงนี้ได้เปิดโอกาสให้พวกเธอได้มีอาชีพที่กว้างขวางมากขึ้น จากเดิมสิทธิในการดำเนินธุรกิจของผู้หญิงจะเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่ห้ามเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอลล์ และขนาดไม่ใหญ่โตไปกว่าภัตตาคาร แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเธอสามารถทำได้ตั้งแต่งานเย็บผ้าไปจนถึงงานซ่อมเครื่องบิน และยังสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่ใหญ่โตขึ้นยิ่งกว่าห้องน้ำชาได้ด้วย

คาเฟ่ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบันก็ยังคงเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการพบเจอผู้คนเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกันและกัน เป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดการตกผลึกซึ่งนำไปสู่แนวคิดของการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ จากเดิมงานเสิร์ฟน้ำชาและขนมเป็นเพียงงานในบ้านที่ผู้หญิงเป็นคนดูแล สู่ห้องน้ำชาที่ทำให้พวกเธอมีทั้งรายได้และจุดยืนในสังคม เช่นเดียวกันกับสภากาแฟ ห้องน้ำชาของผู้หญิงตะวันตกในสมัยนั้นเองก็อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของความเจริญทางปัญญา เพราะพวกเธอได้สร้างสังคมผู้หญิงที่ทั้งแข็งแกร่งและมีความรู้มาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง
– How Coffee Fueled Revolutions—and Revolutionary Ideas : Jessica Pearce Rotondi – https://bit.ly/46a9HlE
– Tearoom Revolution: The Weapon of Women’s Rights and Entrepreneurship: Peter Keen – https://bit.ly/3NaOdwx
– The Top-Secret Feminist History of Tea Rooms : JSTOR Daily – https://bit.ly/3NcTHXG
– LOOKING BACK: Tea rooms offered independence to women : John Marks – https://bit.ly/43M4ChM
– Women Entrepreneurs: History of Women in Business : Makayla Seger – https://rb.gy/o5m4c
– Women’s Suffrage in the Progressive Era : Library of Congress – https://rb.gy/gus11

#trend
#society
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า