เปิดฉาก! ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จับตารัฐตอบคำถาม ชี้แจงการทำงานแก่ประชาชน

61
ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เปิดฉากขึ้นแล้วสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2021 และในวันที่ 4 กันยายน 2021 ที่จะถึงนี้ จะมีการลงมติไม่ไว้วางใจโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางบรรยากาศการคลายล็อกดาวน์ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ปรากฏรายชื่อรัฐมนตรี 6 รายด้วยกัน ประกอบด้วย

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
2. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
3. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
4. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
5. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
6. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

รายงานระบุว่า สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านมีผู้อภิปรายรวม 34 คน และมีเวลารวม 40 ชั่วโมง โดยรัฐมนตรีคนแรกที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี พ่วงด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นการแก้ปัญหาและการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพร้อมที่สุดในการอภิปราย พร้อมเชิญชวนประชาชนให้เฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนในเรื่องของการลงมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นายสุทินเชื่อว่าแต่ละพรรคมีมติภายในพรรค จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมีมติพรรคร่วมฝ่ายค้านในเรื่องของการลงมติไม่ไว้วางใจในวันที่ 4 กันยายน 2021 นี้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เดินทางมาเข้าร่วมการซักฟอกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเช้า ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ว่า พร้อมชี้แจงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เช่นเดียวกันกับฝากฝั่งของพรรคพลังประชารัฐที่ได้มอบหมายให้ ส.ส. บางส่วนลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนผลงานของรัฐบาล อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสิระ เจนจาคะ

สำหรับประเด็นในการติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจของประชาชน รศ. ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพีบีเอสว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเวทีที่สำคัญทางการเมืองในการสะท้อนถึงปัญหาของประชาชนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความขัดแย้งทางการเมือง อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็สามารถใช้เวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในการตอบคำถามหรือชี้แจงต่อข้อสงสัยให้เกิดความชัดเจนต่อสังคม

Advertisements

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยตรงอาจจะยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากคะแนนเสียงห่างกันมาก แต่สิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือ การตอบคำถามและการชี้แจงจากฝั่งรัฐบาลถึงความชัดเจนในข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และประชาชนจะได้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานของพรรคฝ่ายค้านในการซักถามให้ตรงตามประเด็นความเดือดร้อนของสังคมมากกว่าประเด็นทางการเมือง และข้อมูลจากการอภิปรายจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้จริงหรือไม่ หลังจากการลงมติเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ รศ. ยุทธพร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา มีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างแรงขับเคลื่อนของประชาชนภายนอกสภา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมเป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนในหลายภาคส่วนสามารถนำประเด็นซักถามในสภาไปเชื่อมโยงขยายผลต่อการเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายนอกสภาได้

อ้างอิง:
https://bbc.in/3kC319c
https://bit.ly/3jv9svq
https://bit.ly/38rYlNi
https://bit.ly/3jqpAy5

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#thailandnews

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/

Advertisements