คุยเรื่องการศึกษาไทยในยุคดิจิทัล กับ Learn Corporation

4169
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com

เรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องที่ทาง Mission to the Moon ของเราหยิบยกกันมาพูดคุยค่อนข้างบ่อยนะครับ เพราะมันเป็นประเด็นที่สำคัญมากจริงๆ 

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับแขกรับเชิญ 2 ท่านที่เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษามานาน นั่นก็คือ คุณโหน่ง สุธี อัศววิมล ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ ภายใต้ Learn Corporation และคุณแบงค์ เศรษฐพล ไกรคุณาศัย หัวหน้าโครงการ เลิร์น สาธิตพัฒนา ใน Mission to the Moon EP. 568 จึงขอนำมาเขียนสรุปเป็นบทความให้ทุกท่านอ่านกันครับ 

จุดเริ่มต้น 

ก่อนหน้าที่คุณโหน่งจะมาเป็น founder ที่ Learn Corporation คุณโหน่งเริ่มต้นจากการทำสถาบันกวดวิชาออนดีมานด์ในปี 2548 ซึ่งเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่เด่นในด้านวิทย์-คณิต มีตั้งแต่เรียนแบบตัวต่อตัว และแบบที่นำเทคโนโลยีมาใช้ (คือนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนแบบออนไลน์)

จากนั้นในปี 2554 ก็ได้เริ่มทำอีกบริษัทหนึ่งคือ Learn Education ที่ได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการทำออนดีมานด์มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบ วิธีการเรียนรู้ และทีมที่พัฒนาการเรียนการสอน โดยนำมาสร้างเป็นแพลทฟอร์มและใช้ในโรงเรียน และเปลี่ยนหน้าที่ของครูผู้สอนให้มาเป็น supervisor หรือ facilitator ในการช่วยเหลือเด็ก คอยแก้ปัญหาเพิ่มเติม โดยโครงการนี้ก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จจนได้รางวัล Social Venture Award of Asia ที่ National University of Singapore ก่อนจะได้มาเปิดตัว Ignite by OnDemand ในปี 2558

ส่วนคุณแบงค์เป็นผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นธุรกิจของที่บ้านที่จังหวัดสุพรรณ ผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษามานานทั้ง 3 รุ่นของที่บ้าน ประมาณ 60-70 ปี คุณแบงค์เป็นคนที่มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างโรงเรียนดีๆ มีคุณภาพ ในจังหวัดสุพรรณ เมื่อได้มารู้จักกัน คุณแบงค์ก็เริ่มเข้ามาแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้กับคุณโหน่ง ก่อนจะเริ่มทำ OnDemand Inter ที่ทั้งสอนและส่งนักเรียนไปเรียนที่ต่างประเทศ

และเมื่อราว 3-4 ปีที่แล้ว ก็ได้ไปชวนคุณต้า Skooldio ที่เคยเป็น Data Science ที่เฟซบุ๊ก ให้มาร่วมทำเรื่อง EdTech ด้วยกัน

คุณโหน่งบอกว่าการที่จะทำให้ภาพวงการการศึกษาเปลี่ยน คือคุณโหน่งต้องกระโดดเข้าไปทำในโรงเรียน และสร้างโรงเรียนต้นแบบขึ้นมา แทนที่จะไปรื้อกรอบเก่าขึ้นมาสร้างใหม่ คุณโหน่งและคุณแบงค์จึงสร้างโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า Dream School ขึ้นมาใหม่และทำใหม่

คุณแบงค์กล่าวว่านอกจากงานหลักที่บริหารโรงเรียนที่เป็นกิจการของที่บ้าน คุณแบงค์ต้องการสร้างโรงเรียนไทยที่ตีความการใช้หลักสูตรแบบไทยแต่ให้ตอบโจทย์มาตรฐานนานาชาติ และที่สำคัญต้องเป็นราคาที่จับต้องได้เพื่อให้คนต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงได้ด้วย 

Satit Pattana Top view
โรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม ภายใต้ Learn Corporation

นักเรียนไทยกับภาษาอังกฤษ

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่คุณแบงค์และคุณโหน่งกำลังพยายามทำร่วมกันกับ Cambridge คือเรื่องของ 4 Skills English (ทักษะ 4 อย่างในภาษาอังกฤษ ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน) 

ถึงแม้ว่าหลักสูตร Cambridge English จะเข้ามาที่ประเทศไทยเป็นที่แรกในอาเซียนตั้งแต่เมื่อ 20-30 ปีก่อน ที่โรงเรียนเซนต์จอห์น แต่ในตอนนี้ศูนย์ Cambridge English ในประเทศไทยกลับมีแค่ 8 ศูนย์ ในขณะที่เวียดนามไปไกลกว่าเรามากแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าจำนวนเด็กในวัยเรียนที่สามารถเข้าถึงภาษาอังกฤษแบบที่เป็นการเรียนเพื่อนำไปใช้จริงๆ ของประเทศเรายังสู้จำนวนของประเทศเวียดนามไม่ได้เลย 

และจำนวนนักเรียนในวัยเรียนทั้งระบบในโรงเรียนไทยทั่วประเทศ มีความสามารถในการนำภาษาไปต่อยอดในชีวิตจริง (ในที่นี้หมายถึงการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ในชีวิต) ถือเป็นจำนวนที่น่าเป็นห่วง และถ้ามองแบบเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศกับอัตราเรื่องความสามารถในการแข่งขัน นับว่าเด็กไทยยังมีความสามารถตรงนี้ต่ำอยู่

student at Satit Pattana
นักเรียนหลากหลายระดับชั้นของโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม

เรียนในสิ่งที่ควรเรียน

คีย์เวิร์ดของการออกแบบการศึกษาที่ Learn Corporation ทำร่วมกับโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม จึงเป็นเรื่องของการ “เรียนในสิ่งที่ควรจะต้องเรียน” และทำอย่างไรที่เด็กที่เรียนในระบบไทยจะสามารถเลือกเรียนมหาวิทยาลัยไทย, มหาวิทยาลัยอินเตอร์, หรือเลือกไปเรียนที่ต่างประเทศก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องให้เด็กเรียนเท่าที่จำเป็นต้องเรียน ไม่ต้องเรียนมากเกินไป และทำยังไงให้เด็กไม่ต้องไปเรียนกวดวิชา

ดังนั้นคุณแบงค์กับคุณโหน่งจึงตัดสินใจนำออนดีมานด์เข้าไปในระบบโรงเรียน แต่ดีไซน์ใหม่ให้กลมกลืนสอดคล้องไปกับหลักสูตร การเรียนจะจบที่ 7-8 คาบ โดยที่ไม่ต้องออกไปเรียนพิเศษข้างนอก ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็นจุดที่ท้าทาย เพราะถึงแม้คอนเทนต์ทั้งหมดของออนดีมานด์จะไล่ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการเก็งข้อสอบ แต่การที่จะนำโมเดลนี้เข้าไปทำในโรงเรียนจะต้องใช้ความชำนาญในการดูแลเด็กตลอดเวลาที่เขาอยู่ในโรงเรียน

Backward Design

ผลกระทบจากการ disruption ด้านอาชีพที่ค่อนข้างรุนแรงทำให้ผู้ใหญ่หลายคนค่อนข้างเป็นกังวลเรื่องอาชีพที่ใช่ของลูกหลาน รวมถึงตัวเด็กเองซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญ คุณโหน่งและคุณแบงค์จึงคิดเรื่อง Backward Design คือคิดถอยกลับจากระบบอาชีพ โดยเริ่มจากการยึดตัวเด็กเป็นศูนย์กลางในการคิดหลักสูตรการเรียนการสอน แล้วถอยกลับมาที่การถอดรหัสอาชีพที่ควรจะเป็น ถอยกลับมาที่การศึกษา (ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นมหาวิทยาลัยหรือคณะที่เขาควรเข้า แต่สามารถเป็นสถานบันได้ เช่น สถาบันอาหาร) ถอยกลับมาเป็นเรื่องของรหัสในการสร้างอาชีพ และถอยจนกลับมาเป็นรหัสเรื่องบุคลิกภาพ 

ดังนั้นเด็กทุกคนก็จะมี IDP ก็คือ Individual Development Plan (แผนการพัฒนาส่วนบุคคล) เพื่อใช้สำหรับทายอาชีพในอนาคต แล้วก็ดีไซน์โดยคิดแบบย้อนกลับมาว่าการจะทำอาชีพนั้นแล้วประสบความสำเร็จ มีความสุข มันมีมหาวิทยาลัยไหน หรือรูปแบบการเรียนอุดมศึกษาไหนอยู่บ้าง

พอถอยกลับมาตรงนี้ จึงเกิดการรวมกันของความชำนาญในการบริหารดูแลโรงเรียน เชี่ยวชาญในเรื่องของการสร้างทักษะภาษาอังกฤษผ่าน Cambridge 4 Skills English รวมกับคอนเทนต์ที่รับประกันเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ จากออนดีมานด์ และระบบ Digital Tech 21st century skill จาก Skooldio ทำให้ทาง Learn Corporation สามารถแปลงเป็น “Coding” เพื่อนำหลักสูตรนี้ไปใช้ในโรงเรียนได้ทันที 

พอกลับมาที่การถอดรหัส รหัสตรงนี้จะใช้ในการถอดบุคลิกและสมรรถนะของเด็กแต่ละคน เพื่อหาตัวตนของเขาให้เจอ แล้วสร้าง flow ให้เด็กแตจ่ละคนมีแผนการเรียนประจำตัว เลยเกิดคำว่า “ID School” ขึ้นมา ซึ่งมันเกิดจากปัญหาที่ตารางสอนของโรงเรียนมักจะเป็นลักษณะที่ให้เด็กห้องหนึ่งที่มีจำนวนเด็ก 30-50 คน ไปเรียนวิชาเดียวกันพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น วิชาคณิตศาสตร์ เด็กทุกคนในห้องก็จะต้องเรียนวิชาคณิตศาสตร์พร้อมกัน แต่ความจริงแล้ว จากเด็ก 50 คน มีเด็กที่พร้อมเรียนวิชาคณิตศาสตร์เพียงไม่กี่คนเท่านั้น 

IDP
โปรแกรมวางแผนการเรียนตามเป้าหมายรายบุคคล

ID School

ระบบ ID School คือเด็กทุกคนจะมีแผนการเรียนรู้รายบุคคล ดังนั้นบทบาทของโรงเรียน นอกจากจะมีครูประจำชั้นแล้ว ยังมี Advisor (คนให้คำแนะนำ) ประจำกลุ่ม โดยที่พี่ Advisor จะเป็น Gateway ที่รู้จักนักเรียนดีรองจากผู้ปกครองเลย เพราะเขาจะต้องคอยประกบอยู่ตลอด ทำให้รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีคาแรกเตอร์เป็นอย่างไร มีจุดแข็งด้านไหน มีสกิลด้านอาชีพอะไรที่โดดเด่นเพื่อที่จะได้ถอดรหัสกันออกมา 

การถอดรหัสตรงนี้ใช้เวลาเป็นปีเพื่อที่จะได้มา คุณแบงค์กล่าวว่าถ้าเข้าเรียนที่ ม.1 กว่าจะถอดรหัสเสร็จแล้วสร้างเป็นแผน IDP ก็ ม. 4 แต่ถ้าเข้าที่ม. 3 ทางโรงเรียนจะใช้เวลา 1 ปีในการพัฒนาแผน พอพัฒนาแผนเสร็จก็นำไปใช่จริงตรงที่เด็กแต่ละคนเขาจะมีตารางเรียนกำหนดที่ท่าเรียนของตัวเองได้เลย 

Advertisements

การเรียนวิชาภาคทฤษฎีที่เป็นภาคเลคเชอร์ เป็นลักษณะที่ว่าแทนที่จะเป็นบล็อกรายคาบ เด็กจะสามารถเลือกเจาะเป็น Module ได้ อย่างตอนเช้าก็จะเรียนผ่านระบบไอแพดโดยตัวที่เรียกว่า Lecture Sky Hall โดยมี Module วิชาที่ตกลงกับคุณครูไว้โดยมี Advisor และระบบช่วยประมวลผล และช่วย Reflect ให้เขารู้อาทิตย์ต่ออาทิตย์ 

ส่วนผู้ปกครองเองก็จะเห็นผลการเรียนของลูกแบบ Real-time เช่นกัน เพราะมีการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล เช่นถ้าในสัปดาห์นี้มีวิชาคณิตศาสตร์ 10 Modules มีวิชาสังคม 4 modules แล้วลูกเลือกเก็บ Modules วิชาคณิตศาสตร์หมดเลยตั้งแต่วันจันทร์ แสดงว่าลูกชอบทางนี้

ซึ่งการเรียนแบบนี้จะช่วยร่นเวลาให้นักเรียนมีเวลาที่เหลือในโรงเรียนมาให้เด็กได้เรียน 4 skills ของ Cambridge CAE, เรียนวิทย์คณิตเพื่อจะเตรียมสอบ IGCSE O Level, A level ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนของภาคทฤษฎีที่จะเรียนจบกันทั้งหมดในคาบเช้า

หลังจากนั้นภาคบ่ายสามารถฝึกทักษะภาคปฏิบัติได้ และได้ลงมือทำจริงๆ คือตลอดทั้งบ่าย ทาง Learn Corporation จะมี IDP Electives คือวิชาเลือกที่จับคู่ตาม IDP เขา และมี Life Skill electives ซึ่งตรงนี้เด็กแต่ละคนจะสามารถเลือกและจับกลุ่มเรียนได้ตามแผนของเขาตามแนวทางทั้งหมดเป็นแบบ Project Based

พอไปถึงช่วงหนึ่ง ทางโรงเรียนก็จะไปเชิญกูรูมาคอมเมนต์ผลงานที่เขาได้ฝึกภาคปฏิบัติไว้ แล้วก็เก็บเป็นพอร์ตโฟลิโอให้นักเรียน คุณครูก็เขียน recommend ผลงานของนักเรียนเอาไว้ พอวันที่ ม.6 เขาจะไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถปรินท์พอร์ตโฟลิโอนั้นออกมาได้เลย

ซึ่งปลายทางที่คุณโหน่งและคุณแบงค์อยากเห็นจากระบบการเรียนแบบนี้คือคอนเซปต์ของ “ความสุขคู่กับความสำเร็จ คือเด็กได้ทั้งความสุข และได้รับความสำเร็จผ่านกระบวนการศึกษาที่เป็นกระแสหลักของประเทศ

บทบาทของครูผู้สอนที่เปลี่ยนไป?

อย่างที่คุณแบงค์ได้กล่าวไปว่า คุณครูจะกลายเป็น Facilitator ทำให้ต่อไป ครูไม่ต้องไปยุ่งกับงานอะไรที่มันซ้ำๆ เยอะๆ แต่จะมาคอยดูเด็กว่าแต่คนมีตรงไหนที่ต้องปรับบ้าง ดังนั้นจะมีความเป็น Coach มากขึ้น 

คุณโหน่งเสริมว่า หน้าที่ของครูคือดูว่าเด็กสามารถสร้าง Self-learning (การเรียนรู้ด้วยตัวเอง) ได้ไหม ดูเรื่องทักษะและสมรรถภาพของเด็กไป ส่วนวิธีการสอนก็จะต้องยืดหยุ่นตามความถนัดและความชอบของแต่ละคน ดูว่าเด็กแต่ละคนควรเรียนแบบไหน และทำให้เขารู้สึกและเข้าใจกับสิ่งที่เขาพยายามเรียน

การเตรียมตัวของผู้ปกครอง

สิ่งที่ต้องยอมรับก่อนคือ หลายโรงเรียนในประเทศไทยมีการใช้ Educational Technology หรือ Digital Content เข้ามาสนับสนุนเพื่อให้การเรียนการสอนมันตรงประเด็นและมีประสิทธิผลน้อยมากจริงๆ ดังนั้นที่สาธิตพัฒนาฝ่ายมัธยมโดย Learn Corporation สิ่งที่ท่านผู้ปกครองต้องเข้าใจในแนวทางของโรงเรียนคือ การเรียนที่นี่มันเลี่ยงไม่ได้กับการใช้ Ed-Tech ในโรงเรียน ซึ่งสุดท้ายแล้วมันจะเป็นผลดีที่สุดเลยต่อตัวผู้เรียน

คุณโหน่งอธิบายลักษณะของการเรียนว่า ไม่ใช่แค่การเรียนกับไฟล์วิดีโอเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วคือการใช้ Persona (ความหมายของ Persona ในวงการ Tech-Startup คือการไปศึกษาลูกค้าคนหนึ่ง แล้วหมุนดูว่า Data ทั้งหมดของคนคนนี้มีความจำเป็นอะไรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเสิร์ฟให้เขาโดนใจ)

เช่นกันกับทาง Learn Corporation ที่ใช้เป็น Persona ในลักษณะของ Student Persona โดยดูว่าข้อมูลทั้งหมดของนักเรียนคนหนึ่ง มีอะไรที่ทางโรงเรียนต้องเก็บ และ Quantum คือติดตามเขา ไม่ใช่มองภาพเดียวแล้วสรุปว่าเด็กคนนั้นเป็นแบบไหน แต่ต้องมองหลายๆ ภาพ แล้วเอาภาพเหล่านั้นมาซ้อนกันดูจึงจะได้ Persona ของเด็กที่โรงเรียนติดตามมาตลอด 6 ปี จากนั้นเมื่อโรงเรียนรู้จุดอ่อน จุดแข็งเขา รู้ตัวตนของนักเรียนแล้ว จึงจะเริ่มจัดการเรียนการสอนเข้ามา นั่นแหละครับ ที่คุณโหน่งอธิบายว่าเป็น Digital Learning

Satit Pattana front view
อาคารกีฬาในร่มสาธิตพัฒนา

โรงเรียนกระแสหลัก

จากโปรเจกต์ที่ทำอยู่ คุณโหน่งเรียกมันว่าเป็น Dream School ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบ และเมื่อได้มาทำที่โรงเรียนสาธิตพัฒนา โรงเรียนสาธิตพัฒนาก็เป็นโรงเรียนต้นแบบที่ถูกต้อง และคุณแบงค์ก็หวังว่าต้นแบบอันนี้ จะขยายกลายไปเป็นกระแสหลักได้ 

เพราะถ้าทาง Learn Corporation ทำหลักสูตรที่ดีมาก แต่ถ้าสามารถตอบโจทย์เด็กได้ปีละแค่ประมาณ 100-200 คุณแบงค์ก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ความฝันของ Learn Corporation

“ความฝันของเราก็คือว่าตัวต้นแบบนี้มันเบ่งบาน แล้วมันสามารถตอบโจทย์เด็กได้อย่างน้อยปีหนึ่งเป็นพันๆ คน แล้วมันก็คงจะอ้างอะไรบางอย่าง ภาพบางอย่างให้กับโรงเรียนกระแสหลักอื่นๆ ว่า เฮ้ย ในเมื่อเขา (โรงเรียนสาธิตพัฒนา) นำดิจิทัลเข้ามาในโรงเรียนแล้วมันทำแล้วได้ผลขนาดนี้ มันทำแล้วคืนเวลาเด็กได้เยอะขนาดนี้ เราทำบ้างไหม เราเริ่มบ้างไหม”

สิ่งที่คุณแบงค์กับคุณโหน่งทำคือ ทำภาพออกมาให้เห็นว่าโรงเรียนต้นแบบมันเวิร์กอย่างไร ไม่เวิร์กอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง แล้ววันหนึ่งก็หวังว่าจะเห็นโรงเรียนแบบนี้ในทุกจังหวัด จังหวัดละหลายๆ สิบที่

ถ้าเปรียบเทียบกับ Agile Concept ของสตาร์ทอัพ สิ่งที่คุณโหน่งกับคุณแบงค์ทำคือเป็น sprint ที่มีพื้นที่ที่ป้องกันความเสี่ยง เพราะการจัดการการศึกษากับชีวิตเด็กมันเสี่ยงไม่ได้ มันทดสอบเยอะไปไม่ได้ แต่ว่าทาง Learn Corporation ก็ได้ใช้เครือข่ายทั้งหมดที่มี อย่างเช่นระบบออนไลน์ที่ออนดีมานด์ใช้ มีเด็กเรียนเป็นหลักแสนคน ทำให้มีดาต้าเพียงพอที่เมื่อนำเข้าไปในโรงเรียนระดับหลักพันคนเนี่ย สามารถทำได้ง่ายเพราะมันไม่ใช่เป็นการลองผิดลองถูก มันผ่านการลองผิดลองถูกมามากแล้ว

Founder Learn Corporation
คุณโหน่ง-สุธี อัศววิมล และ คุณแบงค์ เศรษฐพล ไกรคุณาศัย

การศึกษาในอนาคต

คุณแบงค์บอกกับเราเป็นการส่งท้ายว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องวิวัฒน์ จะปฏิวัติรวดเร็วไม่ได้ ดังนั้นคนที่อยู่ในภาคการศึกษาของประเทศนี้ที่มีทั้งกลุ่มที่เป็นโรงเรียนรัฐ กลุ่มโรงเรียนท้องถิ่น กลุ่มโรงเรียนเอกชน ทุกคนที่มาอยู่ในเวทีนี้ตั้งใจดีทุกคน ดังนั้นต้องให้เวลาหน่อย เพราะมันกำลังพัฒนาขึ้น แต่ต้องใจเย็นสักนิด 

ด้วยกลไกของสามกลุ่มนี้ ทั้งภาคเอกชน ภาคท้องถิ่นและภาครัฐ ทั้งสามกลุ่มจะเรียนรู้จากกันและกัน เขาจะช่วยทำให้การศึกษาของประเทศนี้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นตราบได้ที่ทุกคนมีเจตนาดีและโปร่งใส่ต่อกัน การศึกษาประเทศไทยมีหวัง และมีหวังอีกเยอะ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่