ใครกำลังหางานลองฝึก! ทักษะ “การคิดเชิงโครงสร้าง” เพิ่มโอกาสการได้งานในยุคนี้

1168
ใครกำลังหางานลองฝึก! ทักษะ “การคิดเชิงโครงสร้าง” เพิ่มโอกาสการได้งานในยุคนี้ Structured Thinking
ใครกำลังหางานลองฝึก! ทักษะ “การคิดเชิงโครงสร้าง” เพิ่มโอกาสการได้งานในยุคนี้ Structured Thinking

“Structured Thinking”

คุณคิดว่า การจะคว้าโอกาสจากการสัมภาษณ์งานที่มีการแข่งขันสูงๆ ได้ ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติอะไร?
คุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO บริษัทศรีจันทร์ และผู้ก่อตั้ง Mission To The Moon เคยแชร์มุมมองในการคัดเลือกพนักงานเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยสิ่งที่คุณรวิศมักใช้ทดสอบกับผู้สมัครงานคือสิ่งที่เรียกว่า “Structured Thinking” หรือ “การคิดเชิงโครงสร้าง”

คุณรวิศเล่าว่า ไม่ว่าผู้สมัครจะมาสมัครตำแหน่งอะไร หรือทำหน้าที่อะไร หลังจากที่ได้พูดคุยทำความรู้จักกันแบบพอประมาณแล้ว ถัดมาก็จะเป็นการพูดคุยถึงเรื่องทักษะต่างๆ ก่อนจะตามมาด้วยคำถามทดสอบวิธีการคิดดังกล่าว เช่น คุณคิดว่าในประเทศไทยขายผัดไทยได้วันละกี่จาน หรือ มูลค่าตลาดของบางสิ่งนั้นมีเท่าไหร่ หรือ กาแฟช่วงเช้ากับเย็นยอดขายต่างกันไหม เพราะอะไร และไล่ถามต่อจากสิ่งที่เขาตอบไปเรื่อยๆ

เช่น ถ้าหากเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “รางรถไฟในเยอรมันมีกี่สาย” (ซึ่งคุณรวิศก็ไม่รู้!) สมมติว่าเขาตอบมาว่า 100 สาย ก็จะถูกถามต่อว่าเพราะอะไรถึงมี 100 สาย, ที่มาของตัวเลขนี่คืออะไร, ประเมินจากอะไร, สามารถเป็นแบบอื่นได้ไหม

ในการสัมภาษณ์ให้บริษัทเตรียมกระดาษและปากกาไว้ให้ผู้สมัครด้วย เพราะพอเราไล่ถามไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มออกมาเป็นโครงสร้าง และที่มาของคำตอบที่เขาตอบ โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาในพาร์ตคำถามนี้ประมาณ 10-20 นาที จนได้คำตอบที่น่าพอใจ (หรือทางผู้สมัครได้รีดความคิดออกมาจนหมดแล้ว) ก็เป็นอันสิ้นสุด

คำถามยากแสนยากนี้ แท้จริงแล้ว ‘คำตอบ’ ของคำถามเหล่านี้ ‘ไม่มี!’ แต่ถึงมีก็หายากมากๆ ต้องทำ Research แบบสเกลใหญ่มากเพื่อที่จะได้คำตอบที่ถูกต้องจริงๆ
ถ้าไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแล้วเราจะถามเรื่องเหล่านี้ทำไม? คำตอบนั้นง่ายมากๆ เพราะนี่เป็นการตรวจสอบว่าเขามี “Structured Thinking” หรือเปล่า

ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ?

สมมติว่าทีมงานกำลังทำโปรเจกต์ A ซึ่งเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง คนที่มี “Structured Thinking” ที่ดีจะเป็นคนที่คิดละเอียด คิดเป็นระบบ มองภาพโครงสร้างทั้งหมดที่เราต้องใช้ในการทำโปรเจกต์ออก เช่น พัฒนาสินค้า, จำหน่าย, การตลาด หรือสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง และยิ่งถ้าหากคนกลุ่มนี้มีข้อมูลในหัวเยอะ คนกลุ่มนี้จะยิ่งสามารถ “Connect The Dots” หรือ เชื่อมจุดสำคัญต่างๆ แล้วประกอบร่างออกมาเป็นสินค้าหรือบริการที่บางครั้งเราเองก็อาจคิดไม่ถึง และแน่นอนโดยส่วนใหญ่คนที่มีความคิดเชิงโครงสร้างที่ดี มักจะมีวิธีคิดในการแก้ปัญหาที่ดีอีกด้วย

จริงอยู่ว่าที่สุดแล้วเราไม่ได้ใช้ ‘กึ๋น’ ในการตัดสินใจ เพราะทุกวันนี้เราใช้ Data กันแล้ว แต่อย่าลืมว่า ก่อนที่เราจะได้ Data มา ที่มาของโปรเจกต์ส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดจากห้องประชุม การได้คุยกับผู้คน คุยกับลูกค้า หรือพาร์ตเนอร์ แล้วไปเจอกับ “Trigger” หรือ “Insight” บางอย่างที่นำมาต่อยอดได้
ว่าแล้วก็อยากฝากคำถามถึงผู้อ่านสักหน่อย คุณคิดว่า ในประเทศไทยขายผัดไทยได้วันละกี่จาน เพราะอะไร?


#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worklife
#softskill

Advertisements

 

Advertisements
Advertisements