Personal Developmentไอเดียตัน! ความจำเต็ม! แบ่งเบาภาระสมอง ด้วยเทคนิค “Second Brain”

ไอเดียตัน! ความจำเต็ม! แบ่งเบาภาระสมอง ด้วยเทคนิค “Second Brain”

หลักการเรียนรู้ของคนเราคือ นำเข้า ประมวลผล และส่งออก

3 ขั้นตอนดูเรียบง่ายแต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะปัญหาของการเรียนรู้คือ แม้ว่าเราจะ “รับข้อมูล” ได้ปริมาณมาก แต่เรากลับไม่สามารถดึงข้อมูลเหล่านั้นออกมา “ใช้งาน” ได้อย่างเต็มที่ เช่น เรานึกเนื้อหาพอดแคสต์ที่เคยฟังไม่ออก จำเนื้อหาที่เรียนไม่ได้ และบางครั้งการรับข้อมูลที่มากเกินไป ทำให้เรารู้สึกท่วมท้น (Overwhelmed) เหมือนกำลังจมอยู่ในทะเลข้อมูล

ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนนำข้อมูล แต่อยู่ที่ขั้นตอน “การประมวลผล” ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่แปลกใหม่ แทบทุกสายอาชีพตั้งแต่สายงานครีเอทีฟ จนถึงสายงานวิชาการอย่างวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ต่างมีปัญหาเรื่องการจัดการความคิด ไอเดียและข้อมูลใหม่เสมอ

วิธีจัดการข้อมูลจำนวนมากขั้นพื้นฐานที่สุดคือ “การเขียนออกมา” ถ้าเราลองดูวิธีการทำงานของคนที่ทั้งเก่งและมีความคิดสร้างสรรค์ พวกเขามักจะมีสมุดที่เอาไว้จดรวบรวมไอเดียของตนเอง เรียกว่า “Commonplace Book” เพราะพวกเขาจะไม่ทำงานโดยการนั่งนึก แต่จะใช้วิธีเปิดดูสมุดที่รวมไอเดียและข้อมูลเก่าของตนเอง ทำให้เขามองเห็นข้อมูลแบบภาพรวม จากนั้นจึงค่อยประมวลผลและตกผลึกใหม่เป็นชิ้นงาน

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป และข้อมูลที่เราเสพในแต่ละวันนั้นเยอะขึ้น สมุดและสมองของเรามีพื้นที่ไม่พอให้เก็บข้อมูลจำนวนมาก แถมยังเป็นวิธีที่ค้นหาข้อมูลและแยกหมวดหมู่ลำบาก ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดสร้างคลังรวบรวมไอเดียเป็นแบบ “ดิจิทัล” ซึ่งมีฟังก์ชันจัดเก็บและประมวลผล เสมือนกับเราได้ “สมอง” ใหม่เพิ่มมาอีกก้อน นั่นคือเทคนิคที่เรียกว่า “Second Brain”

Second Brain คืออะไร?

ติอาโก ฟอร์ต (Tiago Forte) คือผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้าง Poductivity เขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Building a Second Brain เนื้อหาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และเครื่องมือต่างๆ เพื่อเลือก จัดเก็บและจัดหมวดหมู่ข้อมูล สำหรับนำไปประมวลผลภายหลังได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เสมือนกับการสร้างสมองของเราอีกก้อนหนึ่งเลย

ฟอร์ตแนะนำว่า แทนที่เราจะใช้สมองของเราทำทั้งสองหน้าที่อย่าง “การจดจำ” และ “การวิเคราะห์” ให้เราประหยัดพลังงานของสมอง โดยใช้กับการคิดวิเคราะห์เป็นหลัก และสร้างสมองที่สอง “ภายนอก” สำหรับเป็นคลังข้อมูลของเราแทนจะดีกว่า

แนวคิดนี้เราอาจจะทำโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว ปกติเราอาจใช้แพลนเนอร์ Evernote, Google, Calendar, Notion หรือแอปพลิเคชันอื่นที่เอาไว้จด To-Do List แต่บางครั้งเราอาจพบว่า เราหาข้อมูลที่จดไม่เจอ เราไม่รู้ว่าควรจะเลือกข้อมูลที่อยู่ในแฟ้มไหน และบางข้อมูลก็เอาไปใช้ต่อหรือเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นไม่ได้

หนังสือ Building a Second Brain จึงแนะนำ “CODE Method” คือ 4 ไอเดียหลัก เพื่อการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ก็เป็นที่นิยมมากในวงการ Productivity เช่นเดียวกัน

Advertisements

จัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบโดยใช้ “CODE Method”

“CODE Method” สามารถใช้ได้กับแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมอะไรก็ได้ที่เราชอบ โดยข้อมูลของเราจะต้องผ่านขั้นตอนที่เหมือนกันคือ จดข้อมูล จัดหมวดหมู่ กลั่นให้เหลือแต่ประเด็นสำคัญ และส่งออกข้อมูลที่ตกผลึกเรียบร้อยไปสร้างผลงานต่อ โดยรายละเอียดแต่ละขั้นตอนมีดังนี้

1. C – Capture (จดข้อมูล)
อันดับแรกคือ เลือกเครื่องมือที่เราถนัด สะดวก และเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์เราที่สุด แนะนำว่าควรเลือกเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นสมุดโน้ต หรือแอปพลิเคชันสำหรับจด เช่น Note, Notion, Goodnote, Microsoft OneNote และ Evernote

หัวใจสำคัญของการจดข้อมูลคือ เราต้องไม่จดทุกอย่าง แต่จดเฉพาะข้อมูลที่เรารู้สึกว่า “มีประโยชน์” กับเรา “เกี่ยวข้อง” กับความสนใจและเป้าหมายของเรา โดยข้อมูลอาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น คำพูด ความคิด ไอเดีย เนื้อหาที่เรียน พอดแคสต์ และประโยคในหนังสือ

2. O – Organise (จัดหมวดหมู่)
ฟอร์ตกล่าวว่า การจัดข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพคือ การจัดหมวดแบบอิงตามแหล่งที่มา เช่น ตั้งชื่อโฟลเดอร์ “โน้ตจากพอดแคสต์” หรือ “โน้ตจากหนังสือ” เพราะการจัดหมวดลักษณะนี้ จะทำให้เรามาค้นหาข้อมูลที่ต้องการลำบาก และอาจต้องเสียเวลาเพื่อดูข้อมูลทั้งหมดอย่างไม่ตรงประเด็น

ดังนั้นฟอร์ตจึงแนะนำให้จัดหมวดหมู่ข้อมูลโดยยึดหลักการ “การนำไปใช้” ก่อนนำข้อมูลมาจัดหมวดหมู่ เราจึงต้องตอบให้ได้ว่า “เราน่าจะเอาข้อมูลนี้ไปทำเรื่องอะไรต่อ” เพราะในอนาคตที่เรากลับมาค้นหาตามหมวด จะทำให้เราสามารถดึงข้อมูลออกมาได้ตรงประเด็นและใช้ได้ทันที

ตัวอย่างเช่น เทคนิคจัดแบบ “PARA Method” แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่

[ ] Project : หมวดแผนงาน เป้าหมาย หรือเรื่องที่กำลังวางแผนว่าจะทำ เช่น “จัดทำคลิปเรื่องการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ” “แผนลด Body Fat ใน 3 เดือน”
[ ] Areas : หมวดเรื่องที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ประจำของเรา เช่น “ดูแลครอบครัว” “วางแผนการเรียน”
[ ] Resources : หมวดเรื่องที่เราสนใจและอยากไปศึกษาต่อทีหลัง เช่น “เรียนภาษาจีน”
[ ] Archives : หมวดเรื่องที่มาจาก 3 ข้อข้างบนและเราทำสำเร็จแล้ว

3. D – Distill (กลั่นกรอง)

เมื่อเราได้ข้อมูลดิบมา เราต้องทำการคัดเลือกเฉพาะข้อมูลในส่วนที่สำคัญและตรงกับความต้องการของเรา เพื่อความสะดวกรวดเร็วเมื่อต้องมาค้นหาหรือเอามาเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นทีหลัง

การกลั่นกรองข้อมูลอาจทำตามลำดับจากกว้างไปแคบ เช่น เราคัดลอกข้อมูลจากบทความมาใส่ในไฟล์เอกสาร อ่านหนึ่งรอบคร่าวๆ เพื่อทำตัวหนาส่วนที่สำคัญ และอ่านอีกหนึ่งรอบเพื่อจำกัดเนื้อหาให้แคบลงด้วยการไฮไลต์ แล้วจึงแยกเนื้อหาที่ไฮไลต์ออกมาทำเป็น หัวข้อย่อย (Bullet Point) เก็บไว้

4. E – Express (ส่งออก)
การส่งออกหรือการเอาข้อมูลที่มีไปประยุกต์ต่อ จะเป็นรูปแบบไหนก็ได้ที่เราถนัด เราอาจจัดทำเป็นชีตสรุป นำไปเรียบเรียงเพื่อสอนคนอื่นต่อ นำไปเขียนบทความ เขียนลงในโซเชียล และแชร์ให้คนรอบตัวรู้ เพราะการพยายามนำข้อมูลออกมาใช้ จะทำให้เราสามารถจดจำเนื้อหานั้นได้ระยะยาว

ทุกวันเราต้องใช้พลังงานสมองเกือบทั้งหมด เพื่อจดจำข้อมูลใหม่ๆ ความเหนื่อยล้าของสมองทำให้เกิดความเครียดและความกังวลได้ง่าย ดังนั้นลองนำวิธี “Second Brain” ไปปรับใช้ให้เหมาะกับสไตล์การเรียนรู้ของตนเองดู นอกจากจะทำให้สมองเรามีพื้นที่ความจุมากขึ้น ข้อมูลและความรู้ต่างๆ ที่เรารวบรวมมาใส่คลังก็จะยังคงสดใหม่ พร้อมใช้งานและมีประโยชน์เสมอ

อ้างอิง
– How to Build a Second Brain: Another Way to Organise Your Notes : Study Smarter – https://bit.ly/3qDq2j3
– How to Organise your Life – Building a Second Brain : Ali Abdaal – https://bit.ly/47AZr6V

#LearningSkill
#SecondBrain
#MissionAcademy
#MissionToTheMoon

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า