The more that you read, the more things you will know. The more that you learn, the more places you’ll go.
—Dr. Seuss
ยิ่งอ่านหนังสือมากเท่าไร ยิ่งรู้มากเท่านั้น
และยิ่งเรียนรู้มากเท่าไร ยิ่งท่องโลกกว้างไกลเท่านั้น — ด็อกเตอร์ซุส
คำกล่าวนี้ของด็อกเตอร์ซุส นักเขียนนิทานเด็กชื่อดัง แม้จะเป็นประโยคสั้นๆ เข้าใจง่าย แต่ก็เต็มไปด้วยสัจธรรมของ “การอ่านหนังสือ” และยิ่งไปกว่านั้น นี่อาจเป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จอย่าง บิล เกตส์ หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่คล้ายกัน
พวกเขาทั้งคู่รักการอ่าน
อาจเป็นเพราะความชื่นชอบส่วนตัว หรือแรงบันดาลใจจากคนเหล่านี้ หลายๆ คนจึงมีเป้าหมายที่อยากจะอ่านหนังสือให้ ‘มากขึ้น’ ในทุกๆ ปี อย่างไรก็ตาม การอ่านเป็นเรื่องยากกว่าแต่ก่อนมาก เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้สมาธิ (Attention Span) ของเราสั้นลงอย่างไม่น่าเชื่อ มีการศึกษา ว่าโลกดิจิทัลทำให้คนความจำแย่ สามารถรับฟังได้ที่นี่
ไม่แปลกที่เราจะใช้เวลาเป็นเดือนในการอ่านหนังสือให้จบ 1 เล่ม จากแต่ก่อนที่เราสามารถอ่านจบได้ภายในไม่กี่สัปดาห์
แม้การอ่านจะไม่ง่ายเช่นเดิม แต่ผู้เขียนยังเชื่อว่ามีหลายคนที่พยายามจะอ่านให้มากขึ้น วันนี้เลยอยากจะแบ่งปัน ‘ข้อคิด’ ที่ชายคนหนึ่งได้จากการอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 1 เล่ม เป็นเวลา 4 ปี และ ‘เทคนิค’ ที่จะช่วยให้เราอ่านได้อย่างสม่ำเสมอขึ้น
จุดเริ่มต้น: ทำไมผมถึงอ่านหนังสือสัปดาห์ละเล่ม?
ในปี 2015 ขณะ Youtuber เจ้าของช่องชื่อ Inerize กำลังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ แต่เขาพบว่าเขาไม่ได้ความรู้อะไรจากการไปเรียนเลย สิ่งที่อาจารย์สอนช่างล้าหลังและนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ เขาเลยรู้สึกว่าถึงเวลาแล้ว ที่เขาต้อง ‘รับผิดชอบ’ การเรียนรู้ของเขา ‘ด้วยตนเอง’
การอ่านหนังสือสัปดาห์ละเล่มจึงเริ่มต้นขึ้น
ในช่วงต้นสัปดาห์เขาจะเลือกหนังสือมา 1 เล่มและนำจำนวนหน้าไปหารด้วยเลข 7 เขาจะได้รู้ว่าต้องอ่าน ‘วันละกี่หน้า’ ถึงจะจบเล่ม ตัวอย่างเช่น หากหนังสือยาว 150 หน้า เท่ากับว่าเขาต้องอ่านวันละประมาณ 21-22 หน้า
การแบ่งภารกิจใหญ่ๆ ให้เป็นก้อนเล็กๆ เช่นนี้ ช่วยให้เป้าหมายของเรามีความเป็นไปได้ และฟังดูไม่ยากจนเกินไป ที่สำคัญ ความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละวัน ทำให้เรารู้สึกถึง Sense Of Accomplishment ซึ่งจะช่วยกลายเป็นแรงผลักดันให้เราทำสิ่งนั้นต่อไปได้ในวันถัดไป
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าช่วง 2 เดือนแรกเป็นช่วงที่ยากที่สุด เพราะการอ่านหนังสือเป็น “สิ่งที่ต้องทำ” แต่ไม่นานก็ปรับตัวได้และการอ่านถึงกลายเป็น “สิ่งที่อยากทำ”
รู้ตัวอีกทีเขาก็พกหนังสือไปไหนมาไหนด้วยแทบทุกที่แล้ว
ผลลัพธ์: ข้อคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือตลอด 4 ปี
1) จุดประกายความสงสัยด้วยการเรียนรู้ ‘แบบใหม่’
มนุษย์ทุกคนมีความสงสัยอยู่ในตัว เราอยากรู้และอยากเข้าใจเรื่องราวที่เจอในแต่ละวัน ทว่าการเรียนการสอนแบบในโรงเรียนนั้นทำให้ ‘การเรียนรู้’ เป็นเรื่องน่าเบื่อ แค่ได้ยินก็อยากวิ่งหนีไปให้ไกลแล้ว
ต่างกันกับการเรียนรู้ผ่านการอ่าน เรามีอิสระในการเลือกหัวข้อที่เราสนใจ เลือกผู้สอน (ซึ่งก็คือนักเขียน) และช่วงเวลาที่เราอยากเรียนรู้ได้
“ผมพบว่าแต่ละวิชากลายเป็นเรื่องน่าหลงใหลได้ ถ้าสอนโดยคนที่ใช่และถูกวิธี”
เมื่อการเรียนกลายเป็นเรื่องสนุก ขอบเขตของการเรียนรู้ก็ขยายโดยอัตโนมัติ จากในช่วงปีแรกๆ ที่เขาอ่านแค่หัวข้อที่ชอบ เช่นการพัฒนาตัวเองและธุรกิจ ในช่วงหลังๆ เขาเริ่มสนใจหัวข้ออื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ปรัชญา หรือประวัติศาสตร์
2) วิธีคิดเปลี่ยนไปเพราะโลกใบใหม่ที่กว้างขึ้น
ใจความที่เราได้จากในหนังสือแต่ละเล่ม ผู้เขียนอาจจะต้องผ่านประสบการณ์ยากๆ บางอย่าง หรือไม่ก็ใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อตกตะกอนความรู้นั้นออกมา แต่ในฐานะผู้อ่าน เรามีโอกาสในการเรียนรู้ประสบการณ์เหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง ภายในเวลาที่สั้นกว่ามาก
ราวกับว่าเราได้เรียนรู้โลกทั้งใบของคนๆ หนึ่งผ่านหนังสือเล่มเดียว
เมื่อเรายิ่งอ่านเยอะ เรายิ่งมี ‘แว่นตา’ ในการมองโลกหลายอัน หากเราต้องเจอกับปัญหา เราสามารถใช้มุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างมาใช้ในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่เคย
3) เข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองผ่านการมี Self-awareness
การอ่านช่วยให้เขาเข้าใจร่างกาย สมอง และความคิดมากขึ้น ผลที่ตามมาคือเขา ‘เข้าใจ’ ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะพัฒนาตัวเองได้ เขาเริ่มตระหนักถึงพฤติกรรมแย่ๆ ที่ไม่ทำให้ชีวิตของเขาก้าวหน้าไปไหนและเลิกทำสิ่งนั้น
ความเข้าใจในศักยภาพของตนเองนี้ ประกอบกับแรงบันดาลใจและโลกที่กว้างกว่าเดิมที่เขาได้รับรู้ผ่านตัวหนังสือ ช่วยให้เขาตระหนักว่าความฝันของเขาเอง ‘ไม่ไกลเกินเอื้อม’ หากพยายามมากพอ
หากวันนั้นเขาไม่ได้ตัดสินใจอ่านหนังสือ อยู่ในชีวิตเดิมๆ ที่มีเพียงความคิดของพ่อ แม่ คนใกล้ตัว และบทเรียนล้าหลังในมหาวิทยาลัย ความฝันของเขาอาจยังเป็นเรื่องเพ้อฝันอยู่ก็ได้
10 เคล็ดลับการอ่านหนังสือให้มากขึ้นในยุคที่การอ่านเป็นเรื่องยาก
แน่นอนว่าหลายคนมีเป้าหมายตั้งแต่ต้นปีว่า ‘ปีนี้จะอ่านหนังสือ xx เล่ม’ ผู้เขียนเองก็เช่นกัน วันนี้จึงได้รวบรวมเทคนิคที่จะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้เยอะขึ้น จากบทความใน The New York Times และ Youtubers หนอนหนังสือชื่อดังหลายท่านมาให้
- เริ่มที่การตั้งเป้าหมายเล็กๆ ทุกวัน เช่น อ่านวันละ 15 หน้า
- ปิดการแจ้งเตือนอุปกรณ์สื่อสารทุกอย่าง
- อ่าน ‘หนังสือที่เราชอบ’ ไม่ต้องสนว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร
- ยืมหนังสือจากห้องสมุดบ้าง จะได้มีพลังจากเดดไลน์มาช่วยกดดัน
- เข้าร่วมชมรมหนังสือ หรือกลุ่มนักอ่านใน Social Media
- หนังสือที่คนอื่นแนะนำว่า ‘ต้องอ่าน’ ถ้าเราลองอ่านแล้วรู้สึกไม่สนุกกับมันจริงๆ ก็อย่าฝืนเลย
- พกหนังสือไปไหนมาไหนด้วย
- การใช้ที่คั่นหนังสือหรือนิ้วไล่ตามบรรทัดที่อ่านก็ช่วยให้เราโฟกัสได้ดีขึ้น (แม้ครูจะบอกตอนเด็กๆ ว่าห้ามชี้ แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว และคนเราก็สมาธิสั้นขึ้น)
- เปิด Audiobook ฟังไปด้วย
- อ่านเพราะ ‘อยากอ่าน’ ไม่ใช่อ่านเพราะ ‘อยากอ่านให้จบ’
ในฐานะคนชอบอ่านหนังสือ (แต่ชอบซื้อมากกว่า) เราหวังว่าผู้อ่านบทความนี้อยู่จะได้แรงบันดาลใจและเริ่มต้นทลาย ‘กองดอง’ ที่ดองไว้ตั้งแต่ต้นปีกันบ้างนะ
ตอนนี้อ่านหนังสือเล่มไหนอยู่บ้าง อ่านถึงไหนแล้ว อัปเดตให้ฟังหน่อย
หรือใครยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มอ่านอะไร ดูรีวิวหนังสือน่าสนใจได้ที่นี่เลย
อ้างอิง
https://nyti.ms/3CcF93Q
https://bit.ly/3ijyxst
https://bit.ly/3xrR5Lo
https://bit.ly/3CcFOSS
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfimprovement
พูดถึงหนังสือแล้ว วันนี้แอดมินก็มีหนังสือใหม่ของบอสมาแนะนำ
“Defining Moment: รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง”
ขณะนี้โลกเราต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความผันผวน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือโรคระบาด
แต่ถ้าหากแสงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้าและช่วงเวลามืดมนเหล่านี้หมดไป ความรู้อะไรบ้างที่จะช่วยให้เราเติบโตอย่างงดงามในรุ่งอรุณใหม่ ทักษะประเภทใด มุมมองและทัศนคติแบบไหนที่จำเป็น
ฉบับปกแข็ง พิมพ์สองสีทั้งเล่ม
ราคา 360.- บาท (ส่งฟรี)
สั่งซื้อกับสำนักพิมพ์โดยตรงได้ทาง https://bit.ly/3jlQ82m
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/