Hedgehog’s Dilemma ทำไมยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ แต่ยิ่งไกลก็ยิ่งเหงา

3197
จาก Podcast Time to Play ของเรา เคยพูดถึงตอนจบของ Neon Genesis Evangelion การ์ตูนระดับตำนานชื่อดังทั้งในแง่แนวคิดและความสับสนมึนงง แต่ที่น่าสนใจก็คือประเด็นที่ Evangelion หยิบยกขึ้นมาพูดถึง กับแนวคิด “Hedgehog’s Dilemma” หรือแปลไทยประมาณว่า “ความทุกข์ของตัวเม่น” ที่อธิบายความสัมพันธ์ของการยิ่งใกล้กันยิ่งทำให้เจ็บ
 
Hedgehog’s Dilemma เป็นแนวคิดของนักปรัชญาชาวเยอรมัน อาเทอร์ โชเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) ซึ่งออกตีพิมพ์ผลงานเมื่อปี ค.ศ. 1851
 
อาเทอร์ โชเพนเฮาเออร์ เล่าถึงแนวคิด Hedgehog’s Dilemma ไว้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างคาดหวังความสุขจากกันและกัน แต่ในความเป็นจริงนั้น เรื่องความสัมพันธ์ มีทั้งเจ็บปวด ผิดหวัง และการถูกปฏิเสธ
 
อาเทอร์ ยกตัวอย่างของความสัมพันธ์แบบนี้ว่า เหมือนเหล่าตัวเม่นป่า “ในฤดูหนาวอันแสนเยือกเย็น เม่นกลุ่มหนึ่งต้องการความอบอุ่น พวกมันจึงเดินเข้าหากันเพื่อสร้างความอบอุ่น แต่ยิ่งพวกมันเข้าใกล้กันมากเท่าไหร่ หนามอันแหลมคมของพวกมันก็จะทิ่มแทงกันเอง แต่พอห่างออกจากกันก็ยิ่งหนาว”
 
การมีปฏิสัมพันธ์กับใครก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่เมื่อความสัมพันธ์ถูกดำเนินไป เรากลับพบว่าความสัมพันธ์นั้นเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและการถูกปฏิเสธ เมื่อถูกหมักหมมบ่มมานานพอ จนเกิดความคิดที่ว่า “หรือเราควรจะอยู่คนเดียวมากกว่า?” เพื่อไม่ให้ตัวเราต้องเจ็บ เพราะเมื่อความสัมพันธ์เกิดขึ้นและล้มเหลว เราขอเลือกที่จะโดดเดี่ยวเองซะดีกว่า
 
แต่พอโดดเดี่ยวอยู่กับความเหงาไปมากๆ ก็เลยอยากหาใครสักคนมาเยียวยาอาการนี้ กลายเป็นความเจ็บปวดที่เคยฝังใจ ก็กลับมาทำร้ายทั้งเราและเขาอยู่ดี เหมือนหนามแหลมคมของเม่นที่ทิ่มกันเองไปมา
 
อย่างในเรื่อง Neon Genesis Evangelion ‘ชินจิ’ พระเอกของเราก็มีแนวคิด Hedgehog’s Dilemma ด้วยเหมือนกัน คือเขามีเพื่อนน้อยมาก และไม่ชอบปฏิสัมพันธ์กับใคร เพราะเวลาเกิดความสัมพันธ์ขึ้นมา เขาเองมักเป็นคนที่ต้องเจ็บปวดอยู่เสมอ “ทุกคนทำให้ผมเจ็บปวด” ทั้งแม่ของเขาที่เสียไปตั้งแต่เด็ก พ่อที่ไม่สนใจใยดีลูกชายตัวเอง ทำให้ตัวชินจิคิดว่า การที่เขาอยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างน้อยก็ไม่มีใครมาทำให้เขาเจ็บปวด แต่พอต้องเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่กับใคร ก็กลัวว่าตัวเองจะต้องกลับมาเจ็บปวดอีกครั้ง เป็นลูปที่วนเวียนไปแบบนี้ไม่จบสิ้น
 
บางครั้ง Hedgehog’s Dilemma เอง ก็เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกความสัมพันธ์ สิ่งที่เราทำได้คือเรียนรู้ระยะที่พอดี ให้หนามของกันและกันไม่ทิ่มแทงกันจนเจ็บ แต่ก็ไม่ต้องอยู่ห่างกันจนรู้สึกหนาว อย่ากลัวที่จะเข้าใกล้ใครแม้จะต้องเจ็บ อย่ากลัวที่จะต้องถอยออกมาแม้จะรู้สึกเหงาบ้าง
 
สำหรับใครที่อยากรู้ว่าตอนจบของ Evangelion คืออะไรกันแน่ หรือคุณอยากหาใครสักคนที่เนิร์ดพอมานั่งคุยกันถึงเรื่องนี้ สามารถกดเข้ามาฟังได้ในรายการ Time to Play EP.15 Evagelion จบแบบไหนที่ใช่เธอ
Advertisements