บทเรียนการสร้างโอกาส เจาะตลาดต่างประเทศภายใต้วิกฤตกับสอง SMEs ไทย

346
SMEs ไทยที่สามารถสร้างรายได้และเติบโตใน Alibaba.com

Mission To The Moon x Alibaba

ธุรกิจ SMEs จะพลิกวิกฤต สร้างโอกาสจนเติบโตไปสู่ระดับภูมิภาคได้จริงหรือ?

ในช่วงปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นปีที่ไม่ง่ายเลยสำหรับทุกๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่สายป่านไม่ยาวมากอย่าง SMEs ไทยที่เราก็ได้เห็นผู้ประกอบการแต่ละรายควักกลยุทธ์ออกมาสู้กับวิกฤต ปรับตัวกันอย่างเข้มข้น แต่ด้วยวิกฤตที่ลากยาวนานมากกว่าหนึ่งปี ทำให้ธุรกิจอาจต้องหาหนทางที่มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

Advertisements

อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจบางกลุ่มที่สามารถจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อที่จะสร้างการเติบโตในตลาดต่างประเทศ ในบทความนี้เราก็จะพาไปรู้จักผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถจะก้าวไปเติบโตในต่างประเทศได้อยู่ แม้ว่าจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นั่นก็คือบริษัท ทุเรียนแชคสยาม ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับทุเรียน และบริษัท วิเซนต้า (ไทยแลนด์) ผู้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์วิเซนต้า ผู้ที่ภายหลังพลิกบทบาทมาเป็น Trader

ในบทความนี้เราจึงจะพาไปร่วมถอดบทเรียน เปิดกลยุทธ์กับทั้งสองแบรนด์!

เมื่อโควิด-19 สร้างอุปสรรคให้กับธุรกิจ

เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 จากบริษัทที่กำลังจะไปได้ดีในทั้งไทยและต่างประเทศอย่างทุเรียนแชคสยาม กลับต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ ที่ทำให้ลูกค้าชาวจีน ผู้ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทหายไป ร้านค้าทั้ง 5 ร้านก็ต้องปิดลงเหลือเพียง 1 ร้านเท่านั้น ในส่วนของบริษัท วิเซนต้า ที่มีลูกค้ากลุ่มหลักเป็นคนจีนเช่นเดียวกัน ก็ไม่สามารถจะไปออก Trade Fair ที่ต่างประเทศได้ รายได้ตรงส่วนนี้จึงหายไป

ทำให้เป็นโจทย์ใหม่ที่ต้องมาคิดว่า ในเมื่อธุรกิจมีสินค้าที่คุณภาพ แต่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงลูกค้าได้เหมือนเช่นเคย จะต้องทำอย่างไรต่อไป ทำให้ทั้งสองบริษัทตัดสินใจหันมาพึ่ง Alibaba.com แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้ซื้อและผู้ขายระดับโลก

กลยุทธ์ในการขายสินค้าบน Alibaba

ทางคุณอุ้ยจากบริษัททุเรียนแชคสยามก็ได้แชร์ถึง 3 ปัจจัยหลัก ที่ลูกค้าจะพิจารณาเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์
1. ความน่าเชื่อถือของคนขาย
2. คุณภาพของสินค้า
3. ราคา

เมื่อลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อทางออนไลน์ แน่นอนว่า ‘ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย’ เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก แต่ทางบริษัทเพิ่งเปิดมา 1 ปี ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเชื่อใจเรา แทนที่จะไปซื้อกับรายที่มีประสบการณ์มากกว่า

สิ่งที่ทางบริษัททำคือการนำรูปภาพประสบการณ์ที่เคยมี เคยขายตามงานแฟร์ต่างๆ มาแสดงให้ลูกค้าเห็น ทำให้ลูกค้านั้นเชื่อมั่นในตัวเรา เห็นหลักฐานผ่านทางรูปภาพว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง มีหน้าร้านที่ไหนบ้าง ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็เป็นวิธีที่ทางบริษัททุเรียนแชคสยามนำมาปิดจุดอ่อนของตัวเอง เพื่อที่จะแข่งขันกับรายใหญ่ๆ บน Alibaba

Advertisements

กลยุทธ์สร้างความโดดเด่นเหนือรายอื่น

ทางคุณพีชจากบริษัทวิเซนต้าได้แบ่งปันถึงกลยุทธ์ในการทำสินค้าให้โดดเด่นและเป็นที่ ดึงดูดความสนใจของลูกค้าไว้ 3 ส่วน คือ
1. คำอธิบายสินค้า : คำอธิบายต้องน่าสนใจ อธิบายคุณสมบัติและข้อดีของสินค้าออกมาให้เข้าใจง่าย
2. รูปภาพ : รูปที่มีการตกแต่งพื้นหลังอาจจะไม่ค่อยได้รับการตอบรับที่ดีนัก ควรจะเป็นรูปข้างหลังสีขาว ให้สินค้าที่เราต้องการขายนั้นโดดเด่นออกมา
3. Keyword Search : การตั้งคำต่างๆ ให้ลูกค้าสามารถหาเราเจอ หรือทำให้เราเป็น Top Search

Keyword Search ที่ควรทำ-ไม่ควรทำ

สำหรับ Keyword Search ที่ควรทำ ทางคุณพีชให้คำแนะนำมาว่าควรจะคิดง่ายๆ อย่าคิดให้ซับซ้อนหรือเยอะเกินไป ควรจะเป็นคำที่สั้น ค้นหาง่าย เข้าใจง่าย ลองนึกถึงเราในมุมของลูกค้า เวลาที่เราจะค้นหาสินค้าบางอย่างเราก็คงที่จะใช้คำที่ง่ายๆ ค้นหาไปแล้วขึ้นมาให้เลือกเลย ถ้าหากเราใช้คำที่ยากเกินไปก็อาจจะทำให้โอกาสที่เราอยู่บน Top Search น้อยลง และตกอันดับมาอยู่ล่างๆ ทำให้การมองเห็นของเราต่ำลง

เช็กความนิยมของสินค้าผ่านเครื่องมือบน Alibaba.com

ทาง Alibaba.com ก็ได้มีเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ขายนั้นได้ติดตาม Performance ของตัวเองบนเว็บไซต์ว่าเป็นไปอย่างไรบ้าง ผู้ขายสามารถที่จะดูได้ว่ามีจำนวนคลิกเท่าไหร่ สินค้าตัวใดที่มีคนเข้ามาดูนานที่สุด ทำให้ผู้ขายสามารถที่นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ ติดตามและพัฒนาการแสดงสินค้าของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะแน่นอนว่าในยุคนี้ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ถ้ามี Data หรือข้อมูลเหล่านี้ ก็จะทำให้ผู้ขายตัดสินใจได้ง่ายขึ้นและมีความแม่นยำมากขึ้น

ทัศนคติต่อการสร้างการเติบโตในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แน่นอนว่าวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะเกิดมาก่อน ทำให้สิ่งที่ต้องทำอย่างแน่นอนเลยคือการ ‘ปรับตัว’

ทั้งสองธุรกิจก็ได้เผยว่าไม่เคยมีประสบการณ์กับการทำธุรกิจออนไลน์มาก่อน ในฝั่งของคุณพีชเองก็ยอมรับว่าตอนแรกมีอคติต่อการทำออนไลน์ และทางฝั่งของคุณอุ้ยเองก็คิดว่าการทำออฟไลน์อย่างเดียวก็ค่อนข้างมั่นคงแล้ว แต่เมื่อเจอกับการระบาดของโควิดหากไม่ปรับตัวตามโลกก็คงไม่สามารถอยู่รอดได้ ทำให้ทั้งสองตัดสินใจที่จะ ‘เปิดใจ’

และเมื่อเปิดใจ ทั้งสองธุรกิจก็ได้พบกับโอกาสที่เป็นข้อดีมากกว่าข้อเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ถูกลง การจ้างงานพนักงานก็ไม่ต้องจ้างเท่าเมื่อก่อน และก็ได้ตกตะกอนว่าสุดท้ายแล้ว การทำธุรกิจในยุคนี้ก็จะต้องพึ่งทั้งช่องทางออฟไลน์และช่องทางออนไลน์

บทเรียนอันล้ำค่าจากโควิด-19

ทางคุณพีชเผยว่า โควิด-19 ได้สอนให้เราไม่ควรมองธุรกิจด้านใดด้านเดียว การทำธุรกิจในยุคนี้เราต้องคอยปรับตัว คอยมองหาโอกาส และมีแผนสำรองอยู่เสมอ ต้องตื่นตัวตามเทรนด์ว่าตอนนี้อะไรกำลังมา ซึ่งเครื่องมือของ Alibaba ก็เข้ามามีส่วนช่วยมากในการที่จะทำให้ธุรกิจคาดการณ์ เรียนรู้ และตามเทรนด์ได้ทัน

ในอีกทางหนึ่ง ทางคุณอุ้ยได้เผยว่า “โควิด-19 ได้ทำให้เรารู้ว่าชีวิตเราไม่มั่นคงจริงๆ อะไรที่เราคิดว่ามั่นคงอาจจะไม่มั่นคง” และเมื่อรู้ว่าชีวิตของเราอยู่ในความไม่แน่นอนเช่นนี้ ทำให้เราจะต้องวางแผนให้ดี สร้างความมั่นคงกับชีวิตให้มากขึ้น จะพึ่งการขายช่องทางออฟไลน์อย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป การขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่เหมาะกับยุคสมัย ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจมากขึ้นในอนาคต

Advertisements