อย่าเพิ่งออก เรามีวันหยุดให้! รู้จัก ‘สัปดาห์แห่งการดูแลตนเอง’ กลยุทธ์เพื่อต่อสู้กับภาวะ Burnout ของพนักงาน

87
สัปดาห์แห่งการดูแลตนเอง

‘การงาน’ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่สำคัญในชีวิตเรา เพราะหากหน้าที่การงานดีย่อมนำมาซึ่งฐานะที่ดีทั้งในแง่ของฐานะการเงินและรวมไปถึงตำแหน่งทางสังคม ฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยที่คนเราจะยิ่งขวนขวายการทำงานและโหยหาความสำเร็จมากมาย อย่างไรก็ตาม การพยายามไล่ล่าความสำเร็จย่อมนำมาซึ่งความเหนื่อยล้า ความเครียด แม้กระทั่งอาการหมดไฟในการทำงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบันที่เราทำงานแบบ Work Form Home มาอย่างยาวนานย่อมส่งผลให้ภาวะเหนื่อยล้าดังกล่าวอาจมีเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบกับเรามากกว่าปกติ อย่างไรก็ตามหลายคนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตของตนเอง บางคนถึงกับมีการบอกว่าอยากทำงานในบริษัทที่เห็นความสำคัญกับสุขภาพจิตเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองถึงขั้นภาวะหมดไฟ หลายคนจึงเริ่มมองหาช่วงเวลาสำหรับการหยุดพักเพื่อกลับมาฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของตนเอง

สำหรับทีมผู้บริหารก็เช่นกัน เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป การทำงานทำให้คนเครียดง่ายขึ้น ดังนั้นทางฝ่ายผู้บริหารเองก็ควรจะมีนโยบายที่รองรับการป้องกันและเยียวยาสุขภาพทั้งกายและใจของพนักงานอยู่บ้าง ฝั่งผู้บริหารควรเห็นใจและผ่อนปรนความเข้มข้นของการทำงานลง รวมถึงการลดความคาดหวังเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อไม่ให้พนักงานจับมือกันลาออกและเพื่อให้องค์กรสามารถไปต่อได้อย่างมั่นคง

Advertisements

ดังนั้นจึงมีการริเริ่มผลักดันให้เกิดการให้ลูกจ้างหยุดงานเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ (Week off) โดยให้เป็น ‘สัปดาห์แห่งการพักผ่อน’ (Week of Rest/Chillax) และ ‘สัปดาห์แห่งการดูแลตนเอง’ (Self Care Week) โดยมีข้อบังคับว่าห้ามทำงาน ห้ามประชุม ห้ามคุยเรื่องงาน ให้ถือเป็นเจ็ดวันพักผ่อนเต็มๆ ตอบแทนให้กับเหล่าพนักงานที่ทำงานมาอย่างหนักตลอดช่วง Work Form Home

แต่ถึงแม้ว่าหลายบริษัทพยายามที่จะให้พนักงานผ่อนคลายและหายเครียดที่สุดในช่วงสัปดาห์นั้นก็ตาม แต่เมื่อหลังจากพักผ่อนแล้วกลับมาทำงานเต็มตัวพวกเขาก็มักจะเจอภาระงานที่หนักอึ้งจนตั้งตัวไม่ทัน ซึ่งมักจะส่งผลให้การทำงานแบบ Overload กลับมาวนลูปเดิมอีก ทั้งนี้อาจมาจากปัญหาที่คั่งค้างภายในแต่ละบริษัทเอง เช่น การที่พนักงานน้อยเกินไปหากเทียบกับภาระงานที่หนัก การขาดความเป็นอิสระ การขาดความเชื่อมั่นในการทำงาน เป็นต้น

Advertisements

เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้และป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำซ้อน Christina Maslach ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ผู้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาเรื่องความเหนื่อยใจจากการทำงานดังกล่าวได้เสนอว่า หากเราลองมองปัญหาให้ลึก เราจะต้องไม่โฟกัสว่า ‘ความเหนื่อยหน่ายเป็นปัญหาส่วนบุคคล’ หากแต่เราต้องโฟกัสที่สภาพงานที่ได้รับและสังคมในการทำงานด้วยจึงจะแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด เช่น ในอุตสาหกรรมการค้าปลีกการ การบริการ ร้านอาหาร หรืออื่นๆ ที่มีพนักงานไม่เพียงพอและได้รับค่าจ้างต่ำก็อาจจะต้องแก้ปัญหาโดยการรับพนักงานเพิ่ม มอบหมายประเภทงานให้ตรงกับประเภทของคน และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการชมเชยถึงความพยายามและการทำให้ผู้ร่วมงานรู้สึกมีค่า นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุดในการทำงาน

อ้างอิง
https://nyti.ms/3CPhIgO

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worldnews

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/

Advertisements