5 เหตุการณ์เปลี่ยนโลกในปี 2022 ที่น่าจับตามอง

7937
five stories to watch out for 2022

ในอดีต เรามักจะรู้สึกตื่นเต้นและเต็มไปด้วยความหวังเมื่อ ‘ปีใหม่’ ได้เริ่มต้นขึ้น แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่ชีวิตเราในแต่ละปีไม่ต่างจากปีก่อนๆ ทำให้ในปีใหม่ 2022 นี้ หลายคนกังวลว่าชีวิตจะเป็นเหมือนที่ผ่านมาหรือเปล่า จะต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง และทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นในปีนี้ไหม

การมีความหวังให้สถานการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่ในโลกที่มีความผันผวนสูงเช่นทุกวันนี้ จะดีกว่าไหมหากเรามีความหวังไปพร้อมๆ กับรับรู้ถึง ‘ความเป็นไปได้’ ที่อาจเกิดขึ้นจริงๆ? มาสำรวจ 5 เหตุการณ์สำคัญที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 จากคอลัมน์ The World Ahead ของ The Economist

แม้โควิดจะยังน่ากังวล แต่ก็มีเหตุการณ์น่าจับตามองหลายอย่าง! ตั้งแต่การเมืองสหรัฐ-จีน เทรนด์ใหม่ในวงการแฟชัน ไปจนถึงการแข่งขันมุ่งสู่อวกาศที่จะกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง มาดูรายละเอียดกันดีกว่าว่า 5 เหตุการณ์จะมีอะไรบ้าง

1. การแข่งขันของสองขั้วอำนาจใหญ่

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าสหรัฐอเมริกาและจีนต่างอยากเป็นประเทศมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะเคยออกมาพูดว่า “อเมริกาไม่ได้กำลังมองหาสงครามเย็นครั้งใหม่” แต่ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า จริงๆ สงครามเย็นครั้งใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ดังนั้นคำถามที่ควรถามไม่ใช่ ‘สงครามเย็นจะเกิดไหม’ แต่ควรถามว่า ‘สหรัฐจะห้ามไม่ให้จีนทำให้สถานการณ์คุกกรุ่นกว่าเดิมได้อย่างไร’

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าในปี 2022 จีนจะทดสอบอเมริกาในฐานะผู้นำโลกยิ่งกว่าที่เคย

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จีนจะจัดการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศครั้งที่ 20 และสี จิ้นผิงจะยังคงหาทางดำรงตำแหน่งผู้นำทรงอำนาจสูงสุดในจีนตามที่หลายคนคาดเดาไว้ ซึ่งถือเป็นผู้นำคนแรกที่มีอำนาจมาก นับตั้งแต่ยุคเหมา เจ๋อตง แต่ต่างกันที่ในยุคนั้นจีนยังไม่ได้เปิดประเทศเช่นทุกวันนี้

ในช่วงเวลาเดียวกัน อเมริกาจะจัดการเลือกตั้งกลางสมัย (Midterm Election) ขึ้น มีผลสำรวจบอกว่าพรรคเดโมแครต ภายใต้การนำของโจ ไบเดน อาจเสียที่นั่งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐบาลแบ่งแยกและทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ หากเหตุการณ์เป็นเช่นนี้จริงๆ ถือว่าเป็นภาพแทนที่ไม่น่าดูนักของพรรคเดโมแครต เพราะเพียงแค่ในปีที่ผ่านมา ภาพที่โลกมองเห็นอเมริกาคือ ‘ความวุ่นวาย’ เสียส่วนใหญ่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายที่มาจากการประท้วง ความรุนแรง และการแบ่งแยกเชื้อชาติ (ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดคือ เหตุการณ์ยึดอาคารรัฐสภาจากผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนมกราคมปีก่อน) ประกอบกับผู้คนมากมายที่ต้องตกงาน ไร้ที่อยู่อาศัยเพราะการระบาดของโควิด-19

David Rennie คอลัมน์นิสต์ของ The Economist กล่าวว่าหากสมาชิกจากพรรคคอมมิวนิสต์จากจีนได้มาเห็นภาพเหล่านี้ พวกเขาคงมองว่าประชาธิปไตยเน้นเป็นเพียง ‘คำโกหก’ เพราะแม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างการทำให้ประชาชนปลอดภัยและอยู่รอดนั้น ระบอบประชาธิปไตยยังทำได้ยาก อาจพูดได้ว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่มีผู้นำใหญ่อย่างอเมริกานั้นกำลังอยู่ในช่วงขาลง และโชคร้ายที่เป็นชาติเดียวที่มีอำนาจมากพอที่จะหยุดการขยายอำนาจของจีนด้วย

ในส่วนของจีนนั้น ปีที่ผ่านมาและปีนี้จะเป็นปีที่จีนจะพยายามแสดงให้โลกเห็นว่าระบอบเผด็จการ (Autocracy) มีประสิทธิภาพมากเพียงใด ตั้งแต่การบริหารจัดการโรคระบาดโควิด-19 ไปจนถึงงานโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่ปักกิ่ง แม้ในความเป็นจริงชาวจีนจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกลยังต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียม มลพิษจากสิ่งแวดล้อม และความยากจน

2. Hybrid Work โลกการทำงานในยุคโรคระบาด

ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือหลายๆ บริษัทเริ่มหันมาอนุญาตให้เข้าออฟฟิศแค่ ‘บางวัน’ เพราะช่วงล็อกดาวน์ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำงานที่บ้านก็สามารถทำงานให้สำเร็จได้ ไม่ต่างจากการเข้าออฟฟิศ การทำงานแบบผสม (Hybrid) จึงกลายมาเป็นโมเดลใหม่ที่ตอบโจทย์ใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางไกล และคนที่ภาระครอบครัวเยอะ

แต่ปีนี้อาจยังต้องมาถกเถียงกันว่า แล้วโมเดล Hybird ที่ดีนี้ควรเป็นแบบไหน เพราะการสำรวจหนึ่งในอเมริกาพบว่า พนักงานส่วนใหญ่อยากทำงานที่บ้าน 2-3 วันต่อสัปดาห์ สวนทางกับบริษัทอยากให้พนักงานเข้าออฟฟิศสูงถึง 4 วันต่อสัปดาห์

หากออกแบบให้ดีการทำงานแบบ Hybrid จะเป็นโมเดลการทำงานที่แก้ปัญหาอะไรหลายๆ อย่าง เช่น อคติทางเพศ อคติทางเชื้อชาติ หรืออคติทางความคิดอย่าง ‘Presentist Bias’ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อคนที่เป็นหัวหน้า มองว่าพนักงานพวกเขาเห็นหน้าที่บ่อยๆ ขยันกว่าพนักงานที่ไม่ค่อยพบเจอ

ต้องรอติดตามดูกันว่าในปี 2022 นี้เราจะหารูปแบบการทำงานแบบ Hybrid ที่ลงตัวกับทุกๆ ฝ่ายได้ไหม

Advertisements

3. ติดตามการพัฒนาของโลกเสมือนจริง Metaverse

ในปี 2022 เราจะได้ยินคำว่า “Metaverse” บ่อยยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา

คนหลายล้านคนได้เริ่มเข้าสู่โลกสามมิติที่รวม ‘เกม’ กับ ‘สังคมออนไลน์’ ไว้ด้วยกันแล้ว อย่างเกม Fortnite ที่ประสบความสำเร็จในการจัดคอนเสิร์ตบนโลกออนไลน์ไปหลายครั้ง สร้างทั้งความแปลกใหม่และประสบการณ์หน้าประทับใจให้แก่ผู้เล่น

ที่สำคัญ คนเราเริ่มหันมาใช้โลกออนไลน์เพื่อด้านต่างๆ ในชีวิตมากขึ้น อย่างเห็นได้ชัดคือด้านการทำงาน ในช่วงล็อกดาวน์การประชุมออนไลน์ได้กลายมาเป็น ‘ปัจจุบันใหม่’ (New Normal) ของคนจำนวนมาก และในปีนี้การประชุมออนไลน์เพื่อสื่อสารในการทำงานจะยังไม่หายไป แต่จะสมจริงมากขึ้นด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เดียวที่เราจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่มองหน้ากันในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ

Advertisements

4. ความนิยมที่เพิ่มขึ้นในแฟชันแอฟริกัน

ปัจจัยแรกที่ถูกมองว่าทำให้แฟชันแอฟริกันจะเป็นที่นิยมมากขึ้นคือ ภาคต่อของภาพยนตร์เรื่อง The Black Panther ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2018 และเป็นที่ชื่นชมในด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายที่มีการผสมผสานเสื้อผ้าพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ ในแอฟริกาเข้ากับเสื้อผ้าที่ดูล้ำสมัยได้อย่างลงตัว

ปัจจัยที่สองคือ “ความยั่งยืน” ที่ได้กลายมาเป็นหัวใจหลักในการออกแบบของหลายๆ แบรนด์ สอดคล้องไปกับกระแสการตื่อต้าน Fast Fashion ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี

แบรนด์สัญชาติกานาชื่อ AAKS ซึ่งเป็นแบรนด์กระเป๋าทอมือจากวัสดุธรรมชาติเห็นโอกาสในด้านนี้ดี พวกเขาร่วมมือกับช่างฝีมือพื้นบ้านเพื่อผลิตกระเป๋าด้วยวิถีดั้งเดิม เลือกใช้วัสดุและสีย้อมจากฟาร์มพื้นบ้าน โดยจุดเด่นเหล่านี้ถูกนำเสนออย่างชาญฉลาด สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แบรนด์ ส่งผลให้แบรนด์มีทำรายได้สูงขึ้นกว่า 700% ในปี 2020

อีกปัจจัยคือกระแส “Black Lives Matter” ที่ทำให้ผลงานจากนักออกแบบผิวสีเป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยสุดท้ายอย่างการเติบโตของ E-commerce ในยุคโควิด-19 หลายๆ ปัจจัยรวมกันนี้นี่เองจะทำให้ปี 2022 เป็นยุครุ่งเรืองของแฟชันแอฟริกันอย่างแท้จริง

5. Space Race: การแข่งขันมุ่งสู่อวกาศอันเข้มข้น

การแข่งขันทางอวกาศจะดุเดือดขึ้นเพราะสองปัจจัยหลักๆ ปัจจัยแรกคือแรงขับเคลื่อนทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolotics) จากชาติต่างๆ และอีกปัจจัยคือการเติบโตของธุรกิจ Space Travel โดยมหาเศรษฐีอย่าง SpaceX ของ Elon Musk, Blue Origin ของ Jeff Bezos และ Virgin Galactic ของ Richard Branson

ในปลายปี 2022 จีนวางแผนจะสร้างสถานีอวกาศเทียนกงให้สำเร็จ ขณะเดียวกันสถานีอวกาศนานาชาติ (The International Space Station) ที่จีนไม่ได้เข้าร่วมนั้นจะต้องหมดอายุการใช้งานในปี 2024 พอดี ความสำเร็จของจีนในจังหวะเช่นนี้ไม่ต่างจากการตอกย้ำชาติอื่นๆ ว่าจีนมีอำนาจและเข้มแข็งมากพอ ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาใคร

อีกชาติที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันทางอวกาศคืออินเดีย ในช่วงท้ายปี อินเดียมีแผนในการปล่อยหุ่นยนต์สำรวจลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ หากทำได้ ความสำเร็จครั้งนี้ก็จะเป็นสัญลักษณ์ในการบอกว่าอินเดียก็เป็นชาติที่มีอำนาจมากเหมือนกัน

ทั้งการแข่งขันระหว่างชาติต่างๆ และบริษัททัวร์อวกาสเชิงพาณิชย์ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2022 จะมีการส่งคนขึ้นไปบนดวงจันทร์ (โดยเฉพาะคนธรรมดาๆ ที่จ่ายเงินไปเที่ยวเอง) มากเป็นประวัติกาล


อ้างอิง:
https://bit.ly/3Hq3xRa

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่