จะลางานได้ไหมนะ เมื่อเราสูญเสียคนใกล้ชิด?
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ ทั้งเศร้าและเสียใจจากการจากไปของคนที่เรารัก แต่กลับไม่กล้าที่จะขอลางาน เพราะกลัวว่าจะดูไม่ดี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีนโยบายหรือกฎหมายใดๆ มารองรับความต้องการตรงส่วนนี้
จากผลการวิจัยเปิดเผยว่าความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนที่เรารักอาจนำไปสู่ความทุกข์ทางจิตใจและความเจ็บป่วยทางจิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบุคคลที่เคยมีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อนจะยิ่งทวีความรุนแรงของอาการ
แน่นอนว่าสุขภาพจิตที่ย่ำแย่จากการสูญเสียคนสำคัญส่งผลต่อประสิทธิภาพทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการทำงานถ้าเรายิ่งเก็บซ่อนความเศร้าเอาไว้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความรู้สึกที่ถูกมองข้ามนี้จะทำให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นการได้หยุดพักเพื่อให้ตนเองได้มีเวลาทำใจ อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
โดยการลางานประเภทนี้เรียกว่า “Bereavement Leave” หรือการลาหยุดเมื่อสูญเสียคนใกล้ชิด เพื่อให้ตนเองได้มีเวลาจัดการกับความเศร้า โดยแต่ละประเทศจะมีเกณฑ์ข้อบังคับในการยื่นขอ Bereavement Leave ที่แตกต่างกันออกไป มาดูกันว่ามีประเทศไหนที่มีกฎหมายนี้บ้าง
อย่างประเทศนิวซีแลนด์ เป็นประเทศหนึ่งที่ใช้นโยบาย Bereavement Leave กันอย่างแพร่หลาย และมีข้อกำหนดการลาที่ค่อนข้างเป็นระเบียบ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อลูกจ้างและคำนึงถึงผลประโยชน์ผู้ประกอบการ อย่างเช่น
– ครอบคลุมลูกจ้างที่เป็นทั้งพนักงานประจำและลูกจ้างชั่วคราว เมื่อเกิดความเศร้าจากการสูญเสียคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว รวมถึงตนเองหรือคนในครอบครัวที่สูญเสียจากการแท้งบุตรหรือสูญเสียบุตรหลังคลอด สามารถลาได้ 3 วัน แต่มีข้อกำหนดว่าลูกจ้างต้องเคยทำงานกับนายจ้างขั้นต่ำ 6 เดือนมาก่อน หรือภายใน 6 เดือนที่ผ่านมาจะต้องทำงานเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จึงจะสามารถลาได้
– บุคคลอื่นที่เสียชีวิตที่ไม่ใช่คนในครอบครัว เช่น เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน สามารถลาได้ขั้นต่ำ 1 วัน โดยผู้จ้างจะพิจารณาจากความสนิทที่มีต่อผู้ตาย รวมถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบของลูกจ้างในการช่วยจัดงานฌาปนกิจ
– หากลูกจ้างไม่สามารถใช้ Bereavement Leave ได้เนื่องจากระยะเวลาการทำงานยังไม่ครบ 6 เดือนหรือต้องการวันลามากกว่าสามวัน ลูกจ้างสามารถเจรจาต่อรองกับนายจ้างได้ นายจ้างอาจให้ค่าจ้างในวันที่กำหนด ส่วนวันที่ลูกจ้างขอลาเพิ่มอาจให้ค่าจ้างน้อยกว่าจำนวนเดิม หรือให้การลาครั้งนี้เป็นการลางานประจำปี แต่การตกลงครั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย
– ในหนึ่งปีสามารถลาได้อย่างไม่จำกัดจำนวนครั้ง มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวคือ จำนวนวันแต่ละครั้งที่ลาได้ 3 วันหรือ 1 วัน ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของลูกจ้างกับบุคคลที่เสียชีวิตตามที่อธิบายไว้ข้างต้น
– การลา 3 หรือ 1 วันลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนจากนายจ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานก็ตาม
– ในกรณีที่ลูกจ้างเสียสัตว์เลี้ยงตัวโปรดสามารถขอลาได้ แต่สิ่งนี้เป็นเพียงนโยบายของบางบริษัทเท่านั้น มิใช่กฎหมายที่ออกโดยภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตามก็ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความเห็นอกเห็นใจที่นายจ้างมีต่อลูกจ้างและมองสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัวคนหนึ่ง
นอกจากนิวซีแลนด์ที่มีกฎหมาย Bereavement Leave แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างออสเตรเลียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตลูกจ้างเป็นหลัก แต่ข้อกำหนดการลาจะค่อนข้างจำกัดมากกว่าของประเทศนิวซีแลนด์ เช่น
มีเพียงคนในครอบครัวเสียชีวิตเท่านั้นจึงจะสามารถลาได้ เมื่อลูกจ้างหรือคนในครอบครัวเกิดการแท้งบุตรหรือบุตรเสียชีวิตหลังคลอดจะไม่สามารถลาได้ โดยกำหนดไว้ว่าลูกจ้างสามารถลาได้เพียง 2 วัน สามารถลาติดกัน 2 วันหรือแบ่งเป็น 2 ช่วง ครั้งละ 1 วันหรือแยกกันตามที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกัน เป็นต้น นอกจากนี้พนักงานประจำและพนักงานพาร์ทไทม์ยังคงได้รับค่าจ้างในวันลา แต่พนักงานชั่วคราวจะไม่ได้รับค่าจ้าง
และที่น่าสนใจคือ ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ Bereavement Leave สักเท่าไหร่ กลับเริ่มวางแผนพัฒนานโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ย้อนไปปีก่อนๆ สหรัฐฯ เพียงผลักดันให้ Bereavement Leave เป็นเพียงนโยบาย มิใช่ข้อกฎหมายแรงงาน
นโยบายที่ผ่านมาบ่งบอกถึงการที่ภาครัฐของสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจลูกจ้างเท่าที่ควร มีข้อกำหนดไว้ว่าอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถลาได้ต่อเมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิตเท่านั้น โดยเป็นเวลา 3 วัน และจะสามารถลาได้หรือไม่ ลาได้กี่วันล้วนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายจ้าง
เนื่องจาก Bereavement Leave เป็นเพียงนโยบายเท่านั้น นายจ้างส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญและไม่อนุญาตให้ลูกจ้างลา และถึงแม้ว่าลูกจ้างจะได้ลา แต่จะไม่ได้รับค่าจ้าง จากนโยบายที่มีเหมือน ‘ไม่มี’ นี้ ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากออกมาแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาครัฐว่าควรเห็นใจพวกเขามากกว่านี้
ข้อเรียกร้องและแนวโน้มจำนวนผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตชาวอเมริกันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหรัฐฯ ยอมรับในข้อบกพร่องในนโยบายในที่สุด เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นสหรัฐฯ ออกมาแก้ไขนโยบายนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อลูกจ้างมากขึ้น
ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ ยังคงให้ Bereavement Leave เป็นเพียงนโยบายที่ไม่ได้มีอำนาจในการบังคับใช้ก็ตาม แต่นี่นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้การลาแบบ Bereavement Leave เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรในสหรัฐฯ ที่จะถูกใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต
ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยังมีหลายจุดที่อยู่ระหว่างการแก้ไขเพื่อผลักดันสิทธิแรงงานให้มีบทบาทมากขึ้น ฉะนั้น ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับบ้านเราที่ควรคำนึงถึงลูกจ้าง มองคนเหล่านี้เป็นเหมือนคนในครอบครัวคนหนึ่ง ขับเคลื่อนให้เกิดเป็นกฎหมายแรงงานที่คำนึงถึงสุขภาพจิตลูกจ้าง ไม่ใช่ใช้งานจนคุ้มหรือทำงานถวายหัวจนแทบจะพลีชีพ ที่ทำให้สุขภาพกายพังไม่พอ สุขภาพจิตกลับย่ำแย่ไปด้วย
ดังนั้น สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องจัดการ เพราะสุขภาพจิตของประชาชนคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ
อ้างอิง
https://bit.ly/2XzsLef
https://bit.ly/39lCJ5H
https://cnb.cx/3lAnH1K
https://bit.ly/3kpOq1B
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
#society
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/