Breakfast at Tiffany’s อมตะภาพยนตร์ที่สร้างและเปลี่ยนโลกด้วย Pop Culture

771
รถแท็กซี่สีเหลืองค่อยๆ แล่นมาจอดหน้าอาคารหรูนาม Tiffany & Co. ร้านค้าเครื่องประดับราคาแพง หญิงสาวลงจากรถ เราเห็นหล่อนมวยผมเป็นทรง Chignon สวมเดรสสีดำยาวเข้ารูป สวมแว่นกันแดดสีดำกรอบหนา แผงคอประดับด้วยบรรดาไข่มุกมากเกินจะนับ
 
หล่อนค่อยๆ สาวเท้าอย่างแช่มช้าแต่มั่นคงเดินไปยังกระจกบานยักษ์หน้าร้าน Tiffany ในมือของหล่อนถือถุงกระดาษสีขาวบรรจุครัวซองต์หนึ่งชิ้นและกาแฟหนึ่งแก้ว หล่อนบรรจงกัดขนมชิ้นบางนั้นและจิบกาแฟไปพร้อมกับจ้องมองเครื่องประดับหลังกระจก เราเห็นใบหน้าของหล่อนชัดเจนขึ้น หน้าตาจิ้มลิ้ม อายุน่าจะยี่สิบต้นๆ ช่วงคอสูงระหง รูปร่างบางเรียว เมื่อพึงพอใจกับมื้อเช้าแล้ว หล่อนก็ก้าวเดินต่อไปบนฟุตบาทในนครนิวยอร์ก เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและคลอด้วยเสียงบรรเลงของเพลง Moon River อันแสนหวาน
 
เชื่อหรือไม่ว่า เพียงฉากเปิดเรื่องของภาพยนตร์แค่ 2 นาทีครึ่ง กลับสร้างตำนานไอคอนแห่งวงการแฟชั่น บทเพลงอมตะ และพาให้ Breakfast at Tiffany’s ภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายในชื่อเดียวกันของ Truman Capote กลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้าง Pop Culture และเปลี่ยนโลกใบนี้ไปตลอดกาล
 
 
แล้ว Breakfast at Tiffany’s เปลี่ยนโลกอย่างไร?
 
ต่อให้ไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ เชื่อได้ว่าหลายคนคงเคยเห็นภาพหญิงสาวสวยในชุดเดรสยาวและสวมถุงมือยาวสีดำ สร้อยไข่มุกพาดรอบคอ ปากเธอนั้นคาบไปป์กรองบุหรี่ยาว บนไหล่ขวามีแมวสีส้มเกาะอยู่ นี่แหละคือภาพที่เปลี่ยนวงการแฟชั่นไปตลอดกาล
 
ชุดเดรสดำนั้นไม่ใช่ของใหม่ แต่ในสมัยนั้นผู้คนไม่ได้นิยมใส่เดรสดำขนาดนั้น จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ด้วยภาพลักษณ์ที่งดงามและตราตรึงของ Audrey ส่งผลให้ชุดเดรสดำกลายเป็นไอเทมชิ้นสำคัญของผู้หญิงที่จะต้องมีติดตู้เสื้อผ้า วงการแฟชั่นหันกลับมาสนใจเดรสดำอย่างจริงจัง และยังคงความนิยมไม่เสื่อมคลายมากว่า 60 ปี
 
ไม่เพียงแค่นั้น บทเพลง Moon River ที่ประพันธ์โดย Henry Mancini และ Johnny Mercer ก็กลายเป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่ประทับใจผู้ฟัง ด้วยเนื้อหาที่เล่าถึงการออกตามหาความฝัน เข้ากับชีวิตของตัวละครหลัก Holly Golightly หญิงสาวผู้ใช้ชีวิตในมหานครนิวยอร์กเพื่อตามหา “ชีวิตที่เธอจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง” และการใช้ชีวิตของ Holly ที่ดูจะสุดเหวี่ยงได้เปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อผู้หญิงอีกด้วย
 
การใช้ชีวิตของ Holly นั้นถือเป็นเรื่องที่ “แปลก” สำหรับชาวอเมริกันในช่วงปี 1960 เพราะเธอนั้นไม่ได้เรียบร้อยหรืออ่อนหวาน มักโผล่ในงานปาร์ตี้บ่อยครั้ง เป็นคนหัวดื้อ ไม่ฟังคำสั่งของชายใด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนเริ่มเปลี่ยนทัศนคติที่มองว่าเพศหญิง
 
อีกทั้งการเริ่มขึ้นของ “คลื่นลูกที่สองของกระแสสตรีนิยม (Second-Wave Feminism)” ที่ผู้หญิงได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนที่ควรได้รับ และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ ‘ผู้หญิงต้องอ่อนแอ’ ออกไปจากสังคม ถือได้ว่านิยายและภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของผู้หญิงในสังคม
 
 
จะเห็นได้ว่า Breakfast at Tiffany’s นั้นทรงอิทธิพลต่อโลกใบนี้มากขนาดไหน ทั้งเปลี่ยนวงการแฟชั่น สร้างบทเพลงอันยอดเยี่ยม และเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันแนวคิดการใช้ชีวิตให้หลุดจากกรอบค่านิยมที่กดขี่เพศ น้อยเรื่องนักที่จะทำได้เช่นนี้ ถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามแห่งวงการหนังอย่างแท้จริง
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก:
Advertisements