ความสวยงามผ่าน “สัญศาสตร์ของสี” การทำความเข้าใจสีที่ “คนตาบอด” มองเห็น

1045
หากเราให้คุณลองนึกภาพสายรุ้ง คุณอาจจินตนาการถึงสีสันที่พุ่งผ่านท้องฟ้าหลังฝนตก
 
แล้วคนที่มองไม่เห็นสายรุ้งล่ะ? ความรู้ของคนตาบอดที่มีมาแต่กำเนิดเกี่ยวกับรุ้ง หรือแม้กระทั่งสีที่อยู่บนรุ้งจะแตกต่างจากที่เรามองเห็นอย่างไร
 
Alfonso Caramazza ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ของ Harvard University กล่าวว่า แม้การสัมผัสกับปรากฏการณ์ทางสายตาจะมีความแตกต่างกัน มีความซับซ้อน แต่คนตาบอดก็สามารถเข้าใจสีในลักษณะที่คล้ายคลึงกับเราได้
 
โดยจากการศึกษาของ Caramazza กับเพื่อนนักวิจัยคนอื่น ชี้ให้เห็นว่า คนตาบอดและผู้ที่มองเห็นปกติสามารถแบ่งปันความเข้าใจร่วมกันได้
 
แน่นอนว่าคำถามที่ตามมา คือ เราจะอธิบายสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้จากการสัมผัสนั้นได้อย่างไร?
 
ถ้าลองคิดดูนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาสำหรับคนตาบอด แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนมีเมื่อได้ยินคำบางคำ เช่น เมื่อพุดถึง “อะตอม” คนจำนวนมากยังมีความเข้าใจที่คลุมเครือว่าสิ่งนี้แท้จริงแล้วคืออะไร หากคุณพูดคุยกับนักฟิสิกส์พวกเขาสามารถให้คำอธิบายเชิงทฤษฎีและแม่นยำทางคณิตศาสตร์แก่คุณได้ แต่อาจไม่สามารถเชื่อมโยงคำอธิบายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางกายภาพ หรือแสดงให้คุณเห็นเป็นรูปธรรมได้
 
การที่เราไม่สามารถสัมผัสได้โดยตรงว่าอะตอมเป็นอย่างไร ก็คงเหมือนกันกับคนตาบอดที่ต้องการเข้าใจสี ที่ไม่ใช่การให้คนมาอธิบาย แต่อยากสัมผัสมันได้จริงๆ
 
Caramazza กล่าวว่า “ถ้าคุณตาบอดและมีคนอยากจะอธิบายถ้วยให้คุณ ก็คงบอกได้ว่ามันเป็นวัตถุแข็งที่เว้า และไม่มีรูพรุน ทำให้คุณสามารถใส่ของเหลวลงไปได้ ซึ่งคำอธิบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่คุณมีประสบการณ์ทางกายภาพ ดังนั้นคุณจึงสามารถย้อนกลับไปหาประสบการณ์เหล่านั้นได้”
 
แต่มีแนวคิดบางอย่างที่คุณไม่สามารถทำได้ นั่นคือ สี เนื่องจากสีเป็นคุณสมบัติพื้นผิวของวัตถุ และเป็นเรื่องยากที่เราจะบอกคนตาบอดว่าประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสนั้นคืออะไร
 
เนื่องจากมันเป็นประสบการณ์ทางการมองเห็นล้วนๆ ดังนั้นวิธีที่พวกเขา (คนตาบอด) เรียนรู้เกี่ยวกับสีก็คือวิธีที่พวกเราเรียนรู้เกี่ยวกับอะตอมหรือเกี่ยวกับแนวคิด เช่น ความยุติธรรมหรือคุณธรรม ผ่านการอธิบายด้วยวาจา ยกตัวอย่าง การใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นในการอธิบายเรื่องสี ที่สามารถแบ่งย่อยได้ ดังนี้
 
1. ใช้การสัมผัสอธิบายสี
โดยเป็นการอธิบายผ่านวัตถุๆ หนึ่ง แล้วให้คนรอบข้างบอกเขาว่ามันมีสีอะไร เช่น การให้คนตาบอดถือไม้ที่แตกต่างกัน สัมผัสเปลือกไม้ สัมผัสดินบนพื้น และอธิบายว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมีสีน้ำตาล แล้วบอกว่า “สีน้ำตาลนั้นให้ความรู้สึกเหมือนโลก หรือส่วนที่ตายแล้วของสิ่งต่างๆ ที่เติบโตมาจากผืนดินบนโลก”
 
แล้วลองให้เขาถือใบไม้ที่มีสีเขียว แล้วอธิบายความรู้สึกถึงส่วนที่ยังมีชีวิตของพืช เพราะเวลาที่พืชมีสีเขียวแสดงว่ามันมีชีวิต เราอาจเอาใบไม้แห้งมาให้เปรียบเทียบและอธิบายความแตกต่างระหว่างสีเขียวกับสีน้ำตาล แล้วบอกว่า “ความเรียบลื่นและความอ่อนนุ่มของใบไม้รู้สึกเหมือนสีเขียว สีเขียวรู้สึกเหมือนชีวิต แต่พอใบไม้แห้งกรอบเหมือนอีกใบ มันจะกลายเป็นสีน้ำตาลและไร้ชีวิตชีวา”
 
2. การใช้กลิ่นกับรสอธิบายสี
โดยอาจอธิบายว่าอาหารรสเผ็ดหรือพริกที่ใส่อาหารรสจัดมักมีสีแดง แต่ก็มีอาหารหลายชนิดที่ไม่เผ็ดแต่ยังมีสีแดง เช่น สตรอเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และเชอร์รี่ ซึ่งให้รสชาติที่หวานฉ่ำ
 
หรือกลิ่นที่ไม่ใช่กลิ่นอาหารในธรรมชาติ เช่น กลิ่นของทะเล คือ สีฟ้าจากน้ำ กลิ่นของทราย คือ สีน้ำตาลหรือขาว อธิบายว่าดอกไม้มีหลากสี ดอกชนิดเดียวกันยังมีสีต่างกันได้ แต่มันมักไม่ใช่สีเขียว น้ำตาล เทา หรือดำ
 
3. เสียงกับการเชื่อมโยงเรื่องสี
เช่น เสียงหวอ จะทำให้เขานึกถึงสีแดง เพราะเป็นสีที่เรียกความสนใจของผู้คน รถดับเพลิง หวอรถตำรวจ และรถฉุกเฉินต่างก็เป็นสีแดง
 
พวกเขาจะเข้าใจได้ว่า “เวลาได้ยินเสียงหวอ จะทำให้รู้สึกตื่นตัวและให้ความสนใจเพราะมันอาจมีอันตราย สีแดงก็เป็นเช่นนั้น มันฉุกเฉินและกระชากความสนใจ”
 
จากที่กล่าวมา แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะทราบมานานหลายทศวรรษแล้วว่า แนวคิดเชิงนามธรรมและรูปธรรมนั้นแสดงอยู่ในส่วนต่างกันของสมอง แต่การทำความเข้าใจประสบการณ์ของคนตาบอดและเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับภาพหรือสี กลับเปรียบเสมือนเป็นการจุดประกายแสงสว่างให้เกิดการจัดระเบียบสมอง
 
โดยสิ่งหนึ่งสำหรับวิธีการจัดระเบียบความรู้ในสมอง คือ การใช้ตัวแทนของสิ่งที่เรารู้มาเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆ ของสมองที่จำเป็นสำหรับการประมวลผลข้อมูล
 
เหมือนเราที่มีความรู้เกี่ยวกับบางสิ่งที่เราเห็น มันจะถูกจัดอยู่ในส่วนหนึ่งของสมองที่เชื่อมต่อกับระบบภาพได้ง่าย ต่างจากสีในคนตาบอดจะไม่สามารถแสดงในพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับการประมวลผลภาพ เนื่องจากพวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านทางภาษาพูด จึงได้รับการจัดระเบียบในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลภาษาแทน
 
ดังนั้น หากถามว่า คนตาบอดเก็บภาพสีไว้ส่วนใดของสมอง ก็ต้องตอบว่าพวกเขาเก็บไว้ในส่วนเดียวกับคนที่มองเห็นปกติเก็บ “ภาพแทนความคิด” เช่น ความยุติธรรมหรือคุณธรรม นั่นเอง
 
และจากผลการทดลองโดยใช้เครื่องสแกน fMRI หรือการนำภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาดัดแปลงด้วยคอมพิวเตอร์ให้แสดงผลเป็นสีต่างกันสำหรับคนตาบอดและคนปกติก็ยืนยันเรื่องนี้ โดยพบว่า ในคนตาบอดตั้งแต่กำเนิดการตอบสนองของระบบประสาทสำหรับสีอยู่ในส่วนเดียวกับการตอบสนองของระบบประสาทเพื่อความยุติธรรมของผู้ที่มองเห็นเช่นกัน
 
สุดท้าย สิ่งที่เรากำลังสื่อ คือ การจัดระเบียบแนวคิดในสมองนั้นถูกกำหนดโดยหลักการที่แตกต่างกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือวิธีที่ได้รับข้อมูลมา แต่คำถามที่ว่าคนตาบอดกับคนมองเห็นปกติมีแนวคิดเรื่องสีต่างกันหรือไม่ นั่นเป็นปัญหาหนัก เปรียบเสมือนคำถามเชิงปรัชญา ไม่ใช่สิ่งที่เรารู้ว่าจะกล่าวถึงทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไรเพราะเรากำลังพูดถึงประสบการณ์ส่วนตัวมากกว่า
 
แปลและเรียบเรียงจาก:
แหล่งที่มาเพิ่มเติม:
Advertisements