เปิดประวัติ “จังหวัดสมุทรสาคร” แหล่งรวมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ

1044
วันที่ 17 ธ.ค. กระทรวงสาธารณสุขรายงานความคืบหน้าสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นผู้หญิง อายุ 67 ปี อาชีพค้าขาย ในตลาดกลางกุ้ง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
 
ต่อมาเมื่อมีการตรวจคัดกรองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดกลางกุ้งทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติ จำนวน 1,192 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 516 ราย และพบผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมจากพื้นที่ดังกล่าวรวม 548 ราย
 
ล่าสุดเวลา 14.00 วันที่ 20 ธ.ค 2563 รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยข้อมูลว่าทางจังหวัดสมุทรสาครพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 146 ราย ในกลุ่มแรงงานต่างชาติ รวมจากเดิมเมื่อวานนี้ 548 ทำให้ยอด ณ ตอนนี้อยู่ที่ 694 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเป็นแรงงานต่างชาติและไม่แสดงอาการ
 
จากสถานการณ์ที่ผ่านมาส่งผลให้จังหวัดสมุทรสาครกลายเป็นจังหวัดที่คนทั้งประเทศกำลังจับตามอย่างมาก
 
ทำไมจังหวัดสมุทรสาครถึงมีกลุ่มแรงงานต่างประเทศจำนวนมาก?
 
จังหวัดสมุทรสาครมีพื้นที่ 872.347 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 545,216 ไร่ แบ่งเขตการปกตครองออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ เมืองสมุทรสาคร, กระทุ่มแบน และ บ้านแพ้ว มีการสำรวจข้อมูลประชากรวันที่ 1 กันยายน 2558 มีจำนวนรวมอยู่ที่ 538,948 คน
 
เนื่องด้วยจังหวัดสมุทรสาคร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล แม่น้ำท่าจีนไหลผ่านตอนกลางของจังหวัด ประกอบกับพื้นที่ตอนบนในเขตอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบนมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและมีแม่นำลำคลองเชื่อมกระจายอยู่ทั่วพื้นที่กว่า 170 สาย จึงเป็นพื้นที่เหมาะกับการเพาะปลูกและบางส่วนเป็นย่านธุรกิจ อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย
 
สินค้าเกษตรที่มีทิศทางการขยายตัวเพิ่มขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ กุ้งขาว ปลาน้ำจืด และไข่ไก่ เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จังหวัดสมุทรสาครจึงเป็นศูนย์รวมตลาดการประมงที่เป็นแหล่งส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปยังตลาดรายย่อยทั่วประเทศ
 
แม้จะกลายเป็นศูนย์รวมตลาดประมงของประเทศ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา จังหวัดสมุทรสาครกลับเป็นจังหวัดที่ขาดแคลนแรงงานคนไทย เพราะคนไทยไม่นิยมทำงานด้านการประมงทะเลและภาคการเกษตร ทำให้มีความจำเป็นต้องหาแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทน
 
เดือนพฤษภาคม 2563 กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูลสถิติจำนวนโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตเปิดโรงงานในแต่ละจังหวัด ผลปรากฏว่า อันดับที่ 1 คือ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีจำนวนโรงงานได้รับอนุญาตทั้งหมด 25 แห่ง มีเงินทุนรวม 1,470 ล้านบาท
 
จากข้อมูลปี 2558 มีการสำรวจสถิติจำนวนแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร อยู่ที่จำนวน 253,308 คน ด้วยกำลังผลิตจำนวนมาก ทำให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มี GPP per capita หรือ ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว อยู่ที่อันดับ 7 จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 411,426 บาท
 
ทว่าแรงงานต่างชาติในพื้นที่ดังกล่าวมักอยู่กันในสภาพแออัด และมีการทำงานที่ใกล้ชิดกัน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงเป็นการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนพบผู้ป่วยมากอย่างที่ปรากฎในข่าว
 
การแพร่ระบาดรอบใหม่นี้นอกจากส่งผลให้พื้นที่แพร่ระบาด และพื้นที่ใกล้เคียงต้องปิดชั่วคราวแล้ว ก็จะส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นแหล่งการส่งออกขนาดใหญ่อย่างการค้าขายอาหารทะเล และการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม ต้องหยุดชะงักลงด้วย
 
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จากจังหวัดสมุทรสาคร คือ การคมนาคมของรถประจำทางหลากหลายสายที่เข้าและออกจากจังหวัด รวมไปถึง รถไฟจากสถานีวงเวียนใหญ่ สุดปลายทางที่สถานีรถไฟมหาชัย ซึ่งทำให้มีผู้คนเดินทางเข้าออกจำนวนมากในแต่ละวัน และเป็นที่น่ากังวลว่า การแพร่ระบาดจะขยายไปสู่วงกว้างอย่างไม่อาจควบคุมได้ แม้จะมีมาตรการกำหนดปิดสถานที่บริเวณจังหวัดสมุทรสาครเป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 แล้วก็ตาม
 
สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ การควบคุมการแพร่ระบาดยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนประชาชนทุกๆ คนก็ต้องป้องกันตัวเองและติดตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
 
อ้างอิง
Advertisements