COVID-19 เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปอย่างไรบ้าง?

287
เป็นที่รู้กันดีว่า วิกฤตการณ์ Covid-19 สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างขนาดไหน ไม่ว่าจะภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงการสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนทั่วโลก
 
จากรายงานของ Reimagining Consumer Market ที่จัดทำโดย Euromonitor International ได้พูดถึงแนวโน้มพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปในช่วงวิกฤตการณ์ Covid-19 โดยพบตัวอย่างข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า
 
1. คนให้ความสนใจในสุขภาพ หรือ Health Safety มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย หรือสุขภาพใจ (Mental Health) เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุของความสุข
 
2. ภาระทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Burden ที่ในช่วงวิกฤตการณ์ ได้สร้างผลกระทบในหลายธุรกิจ รวมไปถึงแรงงานในของภาคธุรกิจเอง ทำให้คนไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีงานทำ คนว่างงาน หรือคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ และต้องการจะหางานเกิดความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดการเงิน ความไม่แน่นอนของรายได้หรือค่าจ้างที่ได้รับ ทำให้คนไม่กล้าที่จะใช้จ่าย
 
และพบว่าผู้ที่ต้องตกงานจากผลกระทบของวิกฤตการณ์โดยตรง มีความกังวลที่เป็นแผลเป็นทางจิตใจ (Scarring Effect) ด้วย
 
3. การทำให้บ้านกลายเป็นศูนย์รวม หรือ Home as the Hub ที่เห็นได้ชัด คือ การที่คนอยู่บ้านมากขึ้น มีกิจกรรมเกี่ยวกับบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงาน, ทำอาหาร, ซื้อสินค้าออนไลน์, ออกกำลังกายออนไลน์ และการใช้บริการดิลิเวอรี ทำให้บ้านถูกอัพเกรดผ่านอุปกรณ์ Smart Home ที่ไฮเทคต่างๆ เกิดเป็นระบบบ้านอัจฉริยะ
 
4. เกิดนิสัยใหม่ๆ หรือ New Habits ที่เห็นได้ชัดเรื่องหนึ่ง คือ การซื้อของออนไลน์ คนจำนวนมากไม่ว่าจะในกลุ่ม Babyboomer, Gen X, Gen Y ก็หันเข้าสู่โลก E-Commerce กันมากขึ้น
 
อีกทั้งคนยังให้ความสำคัญกับ Quality over Quantity หรือการคิดถึงเรื่องการบริโภคที่คุ้มค่ามากขึ้น ผ่านคำถามกับตัวเองว่า “ของที่ฉันซื้อ อยากได้จริงๆ หรือเปล่า”
 
และที่น่าสนใจ อย่าง การดูแลตัวเอง หรือ Self Care ตั้งแต่การออกกำลังกาย อาหารการกิน รวมไปถึงอาหารเสริมต่างๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างจัดเจน
 
นอกจากการสำรวจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว รายงานฉบับดังกล่าว ยังให้ข้อมูลถึงธุรกิจที่เป็นผลลบหลังจากเกิดวิกฤตการณ์อีกด้วย
 
โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในแง่ลบมากที่สุดเป็น Personal Accessories รองลงมา คือ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าฟุ่มเฟือย (Luxury Goods) แว่นตา เครื่องอุปโภคบริโภค (Consumer Appliances) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องสำอางและอุปกรณ์เสริมความงาม ตามลำดับ
 
ส่วนธุรกิจที่เป็นผลบวกหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน, ผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัย, เกม รวมไปถึงอุปกรณ์ดูแลสัตว์เลี้ยง และอาหารสด ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนทำอาหารที่บ้านอย่างมีนัยสำคัญ
 
นอกจากนี้ยังมีอีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ เรื่องของ Perceived Wellness โดยตอนนี้คนให้ความสำคัญกับเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงาม หรือ Wellness Beauty และอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ การทำให้อารมณ์เป็นบวก หรืออารมณ์ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นสเปรย์ น้ำหอม โลชั่นทาผิว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนจำนวนมากรู้สึกถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างจิตใจ ร่างกาย และผิวหนังของตัวเอง มากขึ้น
 
เมื่อถามถึงความสำคัญของมุมมองด้านสุขภาพ คนส่วนใหญ่ตอบว่าสุขภาพจิตสำคัญที่สุด รองลงมาคือ การทำให้ตัวเองรู้สึกดี ไม่ว่าจะใช้สินค้า กินอาหาร และอันดับ 3 จะให้ความสำคัญกับการนอนมากขึ้น ตามมาด้วย การพยายามรักษาหุ่น ซึ่งหลายคนมีโอกาสที่จะเล่นกีฬาใหม่ๆ โดยเฉพาะที่สามารถทำเองได้ที่บ้านในช่วง Covid-19
 
และสิ่งที่ตามมาคือ คนมองหาวิธีลดความเครียด ทำอย่างไรเพื่อให้ตนเองสุขภาพกายและใจดี เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมที่ช่วยเรื่องสุขภาพก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
 
สุดท้าย ทัศนคติของผู้บริโภคต่อแบรนด์ที่มองไปถึงการตอบโจทย์ในเรื่องของสภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นทางสังคมต่างๆ ทำให้หลายแบรนด์ต้องปรับตัว เพื่อตอบรับและจูงใจพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่ใช่แค่เรื่องของเทรนด์ การซื้อสินค้า แต่เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
 
ติดตามฟัง Reimagining Consumer Market จาก Euro Monitor | Mission to the Moon EP.988 ได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=NN1uJih0TgA
 
Advertisements