5 บทเรียนการทำงานสไตล์ “คริสโตเฟอร์ โนแลน”

1154
 
หากจะพูดถึงผู้กำกับ ที่ครองใจเหล่าคอหนังมากที่สุดคนหนึ่งในทศวรรษนี้
 
ชื่อของ “คริสโตเฟอร์ โนแลน” จะปรากฎขึ้นมาในหัวของหลายๆ คนอย่างแน่นอน
 
หลายๆ คนขนานนามให้เขาเป็น “ปราชญ์ภาพยนตร์แห่งโลกยุคใหม่”
 
ผู้ผสมผสานทฤษฎีวิทยาศาสตร์ หลักคิดทางปรัชญา และจินตนาการ
 
เข้ามาผนวกกันเป็นสไตล์หนังแบบโนแลน
 
 
คอนเสปต์ส่วนมากของหนังโนแลน มักมีทฤษฎีที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมารองรับ
 
โดยผสมผสานกับจินตนาการภาพยนตร์ของเขา และเนรมิตมันออกมาอย่างมีเอกลักษณ์
 
ทฤษฎีในหนังของเขา ส่วนมากเป็นทฤษฎีปลายเปิดหรือรอการพิสูจน์ ให้ได้ไปขบคิดต่อ
 
หรือสามารถนำมาถกประเด็นพูดคุยกัน แต่ขอย้ำว่า การปะติดปะต่อทฤษฎีของเขามีหลักการ และไม่ได้มาแบบมโนมั่วๆ อย่างแน่นอน
 
เพราะเขามี “คิป ธอร์น” นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลปี 2017 เป็นที่ปรึกษาอยู่ข้างกาย และเขาอยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ทฤษฎีวิทยาศาสตร์สุดล้ำร่วมกับโนแลน
 
ในหนังเรื่อง ‘INTERSTELLAR’ ที่ได้ร่วมกัน กำหนดเส้นเรื่อง เกี่ยวกับทฤษฎีการเดินทางเข้าสู่ ‘หลุมดำ’ ผสมผสานกับแนวคิดกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) ที่ยังรอการพิสูจน์
 
ความมีเหตุและผล ทำให้ผู้คนต่างพากันชื่นชมในความมหัศจรรย์ของการปะติตปะต่อเรื่องราว
 
หนังเรื่องนี้ ได้บุกเบิกแขนง “วิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์”
 
ส่งผลให้ นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา หรือ นักเรียนภาพยนตร์ ได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอด
 
 
การ “ฉีกขนบธรรมเนียมการทำหนังแบบเดิม” เป็นจุดที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
 
โดยเราสามารถถอดรหัส “การทำงานสไตล์โนแลน” ได้ 5 ข้อ ดังนี้
 
1. TIMELINE STRUCTURE
 
การทำงานกับเรื่อง ‘เวลา’
 
ไม่ว่าจะเป็น การเล่าเรื่องแบบเวลาย้อนกลับ เหมือนใน MEMENTO
 
ใช้ความฝันของมนุษย์เป็นตัวแบ่งช่วงเวลา เหมือนใน INCEPTION
 
หรือการเล่าแบบ 3 ช่วงเวลา 1 ชั่วโมง / 1 วัน / 1 อาทิตย์ เหมือนใน DUNKIRK
 
การทำงานกับเวลาทำให้หนังของเขา มีเส้นเรื่องที่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น
 
ที่มุ่งเน้น “เส้นเรื่อง” เป็นหลัก แล้วค่อยนำ “ช่วงเวลา” มาเป็นส่วนประกอบ
 
แม้วิธีการเล่าที่เหมือนจะดู “ซับซ้อน” แต่กลับ “เข้าใจได้” เพราะศึกษามาแล้วอย่างละเอียด
 
2. IDENTIFY DNA
 
การตัดแต่งพันธุกรรมภาพยนตร์จนกลายเป็น “หนังสายพันธุ์ใหม่” ในแบบตัวเอง
 
หนังที่มีความเฉพาะตัว และใส่ความเป็นตัวเองลงไปเต็มพิกัด
 
ทำให้สารที่เขาอยากส่งถึงผู้ชม ทำได้อย่างตรงไปตรงมา
 
ไม่ว่าหนังจะพูดถึงเรื่องอะไร แนวคิดสุดหยั่งลึก หรือทฤษฎีที่ซับซ้อนแค่ไหน
 
สุดท้าย… เขาจะพลิกมันกลับมาเป็นเรื่องเล่าในของตัวเองได้เสมอ
 
3. DEEPEST LEARNING
 
ความท้าทายทำให้เขาไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
 
โดยเฉพาะ การนำเสนอเรื่องยากให้เข้าใจง่าย คือ วิธีการทำหนังที่โนแลนถนัดที่สุด
 
แต่เงื่อนไข คือ ต้องทุ่มเท ศึกษาด้วยตัวเองอย่างลงลึกถึง ‘แก่น’ ของแนวคิด
 
โดยวิธีการ 2 ข้อ ที่ใช้ คือ “วิเคราะห์ให้หนักหน่วง” และ “สังเคราะห์ให้เฉียบขาด”
 
4. PHILOSOPHER TALK
 
โนแลนเปรียบเสมือน นักปรัชญา ในโลกยุคปัจจุบัน
 
การดูหนังของเขา เปรียบเสมือน การได้นั่งคุยกับเขา ได้ฟังสิ่งที่เขาอยากสื่อสาร
 
เพื่อแลกเปลี่ยนแนวความคิดเชิงปรัชญา ที่แฝงไว้ในหนังทุกเรื่องของเขาอย่างคมคาย
 
หากคุณดูหนังของเขามากกว่า 1 รอบ คุณจะตีความสารที่ซ่อนอยู่ในหนังมากกว่า 1 ประเด็น
 
โดยขึ้นอยู่กับเวลาแห่ง “การตกตะกอนทางความคิด” ของตัวคุณเอง
 
5. IMAGIREASON
 
นักวิทยาศาสตร์ ต้องทำงานเป็นกระบวนการอย่างมีระบบ ช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็น และมีความเป็นเหตุเป็นผล
 
ผู้กำกับหนัง ต้องศึกษาทำความเข้าใจกับเรื่องราวอย่างละเอียด และต้องตีความให้คนเข้าใจภาพเดียวกันกับสิ่งที่อยู่ในหัวของเขา
 
การผนวกสองคุณสมบัติของสองอาชีพที่โนแลนมีอยู่ในสายเลือด
 
สุดท้าย… เราอาจสรุปนิยามของการทำงานสไตล์โนแลน เป็นคำผสมใหม่ว่า “IMAGIREASON” หรือ การนำเสนอ “จินตนาการที่มีเหตุผล” ผ่านผลงานในโลกภาพยนตร์
 
Written by Supakorn Thepvichaisinlapakun
Illustration by Pimpawee Pratumrat
 
อ้างอิง:
Advertisements