งานหนัก งานเยอะ ใช้ Time Blocking แล้วเหมือนทำงานให้เสร็จแบบวันต่อวัน ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือให้คุณค่ามากเท่าที่ควร หากคุณกำลังรู้สึกแบบนี้ นั่นแปลว่าเทคนิค Time Blocking อาจจะกดดันตัวคุณมากเกินไป และมีวิธีการอื่นที่เหมาะสมกับการทำงานมากกว่า
เมื่อเทคนิค Time Blocking อันเป็นที่นิยม กำลังถูกตั้งคำถามว่าเป็นวิธีการที่กดดันและเข้มงวดมากเกินไป แม้ว่าวิธีการนี้จะเป็นการจัดการเวลาอย่างคุ้มค่าและถูกพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย แต่อีกมุมหนึ่ง วิธีการนี้กลับกำลังจำกัดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิผล (Productivity) แต่เพียงอย่างเดียว หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “งานเสร็จ แต่ไม่ได้เพิ่มคุณค่าของเนื้องานอย่างแท้จริง”
ปัญหาของการใช้ Time Blocking เป็นสิ่งที่คนทำงานหลายคนกังวลใจ พอๆ กันกับ Jeff Bezos เจ้าพ่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผู้ก่อตั้ง Amazon ที่ออกมาเปิดใจว่าเขาไม่ใช้การจัดการงานด้วย Time Blocking มาสักพักแล้ว แต่กลับใช้เทคนิค Mind Wandering เพื่อให้เวลาตัวเองและทีมงานอย่างเพียงพอ สำหรับความคิดสร้างสรรค์
Mind Wandering เทคนิคแห่งการปล่อยใจ เพื่อไอเดียที่ดีกว่า
ให้ลองนึกถึงตอนที่คุณกำลังมุ่งมั่นกับการจัดการงานให้สำเร็จในเวลาที่จำกัด แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็มีความคิดหรือไอเดียใหม่ผ่านเข้ามาในความคิดของคุณ แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาทำให้คุณเลิกล้มความคิดที่จะต่อยอดไอเดียเหล่านั้นให้เป็นรูปร่าง แล้วกลับมาทำงานต่อให้สำเร็จด้วยชุดความคิดเดิมๆ ที่ทำให้งานสำเร็จได้ง่ายที่สุด
แน่นอนว่างานของคุณจะสามารถสำเร็จได้ทันตามเวลา แต่งานที่ออกมาอาจจะไม่ได้ตอบรับกับโจทย์อย่างแท้จริง Mind Wandering จึงเป็นภาวะที่เราได้ปลดปล่อยจิตใจและความคิดให้ล่องลอย เลิกล้มที่จะโฟกัสกับอะไรสักอย่างอย่างจริงจัง แล้วปล่อยให้สมองได้ต่อยอดความคิดไปสู่ไอเดียใหม่ๆ ได้ในที่สุด
ในอดีต นักจิตวิทยาและเหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า Mind Wandering หรือภาวะจิตใจล่องลอยเป็นภาวะที่ให้โทษกับคนทำงาน เป็นศัตรูต่อการจดจ่อ ตื่นรู้ มีสติ และพยายามค้นหาวิธีการต่างๆ เพื่อรักษาสภาวะของจิตใจให้ห่างไกลจาก Mind Wandering แต่ในทางกลับกัน การพยายามจดจ่อกับแต่ละเรื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้จิตใจเกิดความอ่อนล้าได้
มุมมองนี้มาจากการศึกษาของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยามหาวิทยาลัยเยล ในปี 2016 ที่ทำการทดลองกับนักศึกษามากกว่า 200 คนและพบว่าความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาดีขึ้นอย่างมากเมื่อปล่อยให้จิตใจล่องลอยไป
Mind Wandering จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับการทำงานและจิตใจของเราให้มีพื้นที่ว่างสำหรับการคิดสร้างสรรค์ได้ อีกทั้งยังยืดระยะเวลาของการทำงานให้ยาวนานขึ้น คนทำงานจะรู้สึกเหนื่อยล้าช้าลงได้อีกด้วย
5 วิธีปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ผ่าน Mind Wandering
อย่างไรก็ตาม หากคุณกำลังรู้สึกท่วมท้นจากการนั่งจดจ่อกับงานบนโต๊ะ ให้ลองพักจากท่านั่งเดิม งานชิ้นเดิม การจดจ่อแบบเดิม และลองปล่อยใจให้ความคิดได้ไหลไปเรื่อยๆ เพราะประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของ Mind Wandering คือการปล่อยใจและสมองให้มีโอกาสจินตนาการถึงตัวเองในสถานการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ได้ แต่การทำ Mind Wandering อย่างถูกวิธีนั้นย่อมมีขอบเขตที่ชัดเจนและไม่ปล่อยให้จิตใจล่องลอยจนไร้ระเบียบวินัยจนเกินไป
[ ] นำ Mind Wandering มาใส่ไว้ในตารางการทำงานของเรา แทนที่จะจัดการทำ Time Blocking ทั้งวันก็อาจจะแบ่งเวลาสัก 1-2 ชั่วโมงสำหรับการคิดงานอย่างอิสระ
[ ] หยุดใช้เครื่องมือสื่อสารและโซเชียลมีเดียสักครู่ แล้วลองเปลี่ยนไปทำกิจกรรมที่ปล่อยให้ใจของเรามีพื้นที่ว่างสำหรับการคิด เช่น อ่านหนังสือ เดินเล่น หรือมองทัศนียภาพรอบๆ ข้างโดยที่ไม่ต้องทำกิจกรรมอะไร
[ ] เข้าใจความเป็นตัวเอง (Self-Awareness) ด้วยการทำความเข้าใจรูปแบบความคิดและตัวกระตุ้น รู้ว่าจะสามารถควบคุมจิตใจตัวเองได้อย่างไร และจะสามารถนำจิตใจไปสู่การคิดที่มีประสิทธิผล รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ได้ อีกทั้งการฝึกเจริญสติ เช่น การทำสมาธิหรือการจดบันทึกสามารถช่วยพัฒนาความตระหนักรู้ในตนเองได้
[ ] ขจัดความคิดแย่ๆ ที่ทำให้ฟุ้งซ่าน แน่นอนว่าทุกคนจะต้องเคยพบกับความคิดแย่ๆ ในระหว่างที่ปล่อยให้จิตใจล่องลอย และทำให้ไม่สามารถคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเราสามารถขจัดหรือบรรเทาความคิดแย่ๆ ที่อยู่ภายในจิตใจ
[ ] ละทิ้งการคิดงานอย่างเป็นระบบขั้นตอนตามปกติ เพื่อไม่ตีกรอบให้ความคิดมากจนเกินไป พยายามคิดให้กว้างๆ นึกถึงแนวคิดต่างๆ เท่าที่ใจต้องการ แล้วค่อยนำความคิดเหล่านี้มาเชื่อมโยงในตอนท้าย
นอกจากเทคนิคดังกล่าวแล้ว ยังมีเทคนิคที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำ Mind Wandering จาก Jeff Bezos อย่างการเชื่อและปล่อย “สัญชาติญาณ” ให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ทั้งการขบคิดกับตัวเองและการประชุมกับผู้อื่น ซึ่งการนำ Mind Wandering มาใช้ในการประชุมระดมสมองของทีม อาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นทั้งความสนุกสนานและประสิทธิผล แล้วสุดท้ายเราจะได้โซลูชันที่สร้างสรรค์มาใช้งานได้จริง
แม้ว่าการปล่อยใจและพยายามไม่ขัดขวางหรือตีกรอบให้ความคิดในระหว่างการทำงานนั้น จะเป็นสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของคนทำงาน แต่หากลองเปิดใจให้กับการปล่อยใจให้ล่องลอยและคิดเรื่องต่างๆ นั้น จะเป็นการเป็นโอกาสให้เราได้แนวคิดที่สมบูรณ์มากกว่าการทำงานอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว สมองของเราก็ต้องการพื้นที่ว่างที่ทำให้ได้นึกถึง เก็บเกี่ยว และรวบยอดความคิดที่สั่งสมมา เพื่อนำมาใช้ในการทำงานได้
ที่มา
– Jeff Bezos isn’t a fan of ‘time blocking’—here’s what he does instead to boost his productivity : Ashton Jackson, CNBC Make It – https://cnb.cx/3Ue4X9K
– 9 practical tips to unleash the creative potential of mind wandering : HabitStrong – https://bit.ly/3UiVYUN
#MindWandering
#JeffBezos
#WorkLife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast