ผู้นำแบบไหนที่คุณต้องการ?
องค์กรแบบไหนที่คุณอยากทำงานด้วย?
ในปัจจุบันมีจำนวนบริษัททั่วโลกราว 300 ล้านบริษัท และในทุกๆ ปีมีบริษัทเกิดใหม่กว่า 5 ล้านบริษัท ซึ่งนั่นก็หมายความว่าการแข่งขันในการ “แย่งชิงพนักงาน (Talents) ” ก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปด้วย
ทำให้ในปัจจุบัน “การหาพนักงาน” ที่ตรงกับความต้องการขององค์กรและ “การรักษาพนักงาน” ให้อยู่กับองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมากภายใต้โลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและภายใต้ตลาดแรงงานที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด
ในวันที่ 2 ของงาน CTC2023 ภายใต้ธีม People Performance Conference คุณรวิศ หาญอุตสาหะ จึงได้มาพูดถึงความสำคัญขององค์กรในการต้องกลับมาทบทวน “คุณค่า (Value) ” ขององค์กรใหม่ ตามหาและฝึกฝนให้ “ผู้นำ” นั้นมีความพร้อมอย่างรอบด้านในการนำทีมและพนักงาน
ทาง Mission To The Moon ก็เลยได้สรุป 10 ข้อน่ารู้จาก Session นี้มาแบ่งปันให้ทุกคนกัน
1. “หัวหน้า” มีผลต่อต่อการอยู่ต่อและลาออกของพนักงาน
สมัยก่อนถ้าบริษัทอยากได้คน สิ่งที่บริษัทมักจะทำคือการอัดเงิน เสนอเงินเยอะๆ หรือการทำสวัสดิการดีๆ เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาสมัครและรักษาให้พนักงานอยู่กับองค์กรต่อ
แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป การดึงดูดด้วยจำนวนเงินหรือสวัสดิการอาจดึงคนได้เข้ามาก็จริง แต่หลายๆ กรณี ปัจจัยต้นๆ ที่ทำให้พนักงานคนหนึ่งตัดสินใจลาออกมาจาก “หัวหน้า” ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่องค์กรจะต้องสร้างหัวหน้าที่แข็งแกร่งและเข้าใจพนักงาน
2. องค์กรจะต้องหา “ความพอดี” ในคุณค่าที่ตัวเองยึดถือให้ได้
คุณค่าที่องค์กรยึดมั่น หรือที่เราเรียกกันว่า Company Value จริงๆ แล้วมีหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละองค์กรจะยึดถือเรื่องอะไร เช่น บางองค์กรอาจจะยึดมั่นในเรื่องของความโปร่งใส (Transparency) บางองค์กรยึดถือในเรื่องของความน่าเชื่อถือ (Reliability) หรือบางองค์กรก็ใช้แนวทางการทำงานแบบการขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์ (Result-Driven) เป็นหลัก
แต่สิ่งสำคัญเหนือไปกว่าเรื่องของคุณค่า คือการหา “สมดุล” ให้กับคุณค่าเหล่านั้นที่องค์กรยึดถือ
คำถามต่อมาคือ ทำไม?
ลองคิดดูว่าหากองค์กรของเราเป็นองค์กรที่ Result-Driven แบบสุดทาง เน้นที่ผลลัพธ์มากๆ จนมองข้ามเรื่องของกระบวนการ (Process) หรือเรื่องของรายจ่าย (Expense) ไป ซึ่งการทำเช่นนี้สุดท้ายจะทำให้ในระหว่างทาง ตัวพนักงานเองจะเกิดอาการหมดไฟและลาออกจากองค์กรไป
แล้วถ้า Transparency สูงไปจะเป็นอย่างไร? มีตัวอย่างบริษัทหนึ่งในสหรัฐฯ ที่มีความโปร่งใส่ค่อนข้างมาก เปิดเผยเงินเดือนในทุกๆ ตำแหน่ง ผลลัพธ์ก็คือสร้างความไม่พอใจให้กับพนักงานหลายๆ คน
แล้วถ้ากล้าเสี่ยง (Risk-Taking) เกินไปล่ะ? ถ้าบริษัทกล้าได้กล้าเสียมากเกินไปโดยไม่มีขอบเขต ผลลบอาจจะตกมาที่ตัวบริษัทเองก็ได้ที่ต้องแบกรับกับค่าใช้จ่ายจากความกล้าเสี่ยงที่มากเกินไป จนสุดท้ายอาจจะต้องล้มเลิกกิจการก็เป็นได้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า องค์กรจะต้องหา “ความพอดี” ในคุณค่าที่ตัวเองยึดถือให้ได้
3. องค์กรจะต้องหา “สมดุล” ในคุณค่าที่ตัวเองยึดถือให้ได้
ถ้าหากเป็นองค์กรที่ Result-Driven มากๆ เช่น การมีเกณฑ์วัดผลพนักงานแบบรอบด้าน หรือการวัดผลงานอย่าง KPI แบบหนักๆ ต้องยอมรับว่าการมีแนวทางการทำงานเช่นนี้จะส่งผลให้เกิด Behaviour บางอย่างในหมู่พนักงาน เช่น การแข่งขันที่สูงขึ้น เป็นต้น
แน่นอนว่าหากมีคนที่พยายามต่อสู้กับการแข่งขัน คนที่ทะเยอทะยานในการไปให้ถึงเป้าหมาย ก็ต้องมีคนที่เหนื่อย ท้อและไม่ไหวกับการแข่งขันที่สูงเกินไป แต่อย่างที่ได้พูดไปด้านบนว่าการหาพนักงานในยุคนี้เป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรจะต้องหา “Balance” หรือ “สมดุล” ของคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ ให้ไม่ไปหนักและกดดันที่ตัวพนักงานมากจนเกินไป จนทำให้พนักงานที่มีศักยภาพหลุดจากองค์กรไป
4. 5 เช็กลิสต์ของการเป็นผู้นำในยุคนี้
ผู้นำที่ดีจะต้องเป็น Connector ที่ดี จะต้องสามารถ “เชื่อมต่อ” คนในทีมและคนในองค์กรได้ แล้วผู้นำที่ดีในยุคนี้ ควรจะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?
[ ] ผู้นำจะต้องสามารถสร้าง Cross-Functional Team ได้
ปกติแล้วภายในองค์กรจะมีทีมที่มักจะขัดแย้งกัน ด้วยเนื้องานที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายหนึ่งของผู้นำที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย เป็นคนที่จะ Connect คนสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการจับทั้ง 2 ทีมสลับกันทำงาน หรือมีระบบการแก้ปัญหาแก้ความขัดแย้งที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน
[ ] ผู้นำจะต้องมี Lifelong Learning Mindset
การมี Lifelong Learning Mindset ณ ที่นี้ไม่ใช้การเรียนรู้ทุกอย่าง แต่เป็นการที่เรารู้ว่าเรื่องอะไรสำคัญกับธุรกิจและตัวเราเองต้องการที่จะเสริมเรื่องอะไรอยู่ เมื่อเรารู้แล้วค่อยมุ่งโฟกัสไปเรียนที่สิ่งนั้น
[ ] ผู้นำจะต้องสามารถให้และรับฟีดแบ็กได้
เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้า สิ่งที่ต้องระวังคือ Walls กำแพงที่ปิดกั้นความจริง, Mirrors กระจกที่สะท้อนอีโก้ที่อยู่ในตัว และ Liars คนโกหกที่คอยประจบประแจง ตามคำกล่าวที่ว่า “Leaders are surrounded by walls, mirrors and liars”
การรับฟีดแบ็กเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาของทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่เป็น “หัวหน้า” ดังนั้นหัวหน้าจะต้องไม่ใช่แค่ให้ฟีดแบ็กเป็น แต่ต้องรับฟังฟีดแบ็กให้ได้เช่นกัน
[ ] ผู้นำจะต้องพอรู้และเข้าใจเรื่อง Technology
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้นำจะต้องพอมีความรู้และเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีบ้าง เพื่อที่จะใช้ในการตัดสินใจเรื่องธุรกิจต่างๆ
ซึ่งนี่ไม่ได้แปลว่าผู้นำจะต้องรู้ลึก ทำเป็นทุกอย่าง แต่ต้องมีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีระดับหนึ่ง ที่จะทำให้เราไม่ไปเป็นภาระลูกน้องในทีมต่อ ที่พวกเขาจะต้องมานั่งเสียเวลาอธิบายเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกเรื่องให้เราฟัง
[ ] ผู้นำจะต้องมี Common Sense
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การดูคน” หรือการใช้ Common Sense เป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าเราไม่สามารถดูคนให้ออกตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์ เวลารับเข้ามาทำงานจริงๆ ก็อาจจะสร้างผลลบ มากกว่าผลบวก แต่แล้วผู้นำจะฝึก Common Sense อย่างไร?
ทางคุณรวิศ ก็ได้แนะนำว่า การเรียนรู้หรือหาอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับจิตวิทยาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้าง Common Sense และทักษะการอ่านและการดูคนของเราได้เช่นกัน
และนี่ก็คือคีย์สำคัญ 4 เรื่องจากเวที “Leader Vision: People You Need in the World of Change เมื่อโลกเปลี่ยนคนแบบไหนต้องมี” โดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ที่ได้เน้นย้ำเรื่องของการยึดมั่นในคุณค่าขององค์กร ที่ต้องมีความ “พอดี” และ “สมดุล” รวมถึงบทบาทของผู้นำที่มีผลต่อทีมและองค์กร
สุดท้ายคุณรวิศก็ได้เน้นย้ำว่า “Leadership” นั้นไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่ง แต่เกี่ยวกับการที่ลูกน้อง, ทีม และลูกค้า ว่าพวกเขาอยากที่จะเดินเคียงข้างไปกับคุณไหม
“Leadership is not about titles, positions or flowcharts. It is about one life influencing another.” ― John C. Maxwell
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast