NEWSTrendsโลกออนไลน์ไร้ Empathy! ทำไมชาวเน็ตมักด้อยค่าความลำบากคนอื่นว่าเป็นเพียงแค่ 'คอนเทนต์'

โลกออนไลน์ไร้ Empathy! ทำไมชาวเน็ตมักด้อยค่าความลำบากคนอื่นว่าเป็นเพียงแค่ ‘คอนเทนต์’

ถ้าเลื่อนไปเห็นคอนเทนต์วิดีโอรีวิวชีวิตก่อนสิ้นเดือน กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบแพ็ก เนื้อสัตว์ ไข่และผักมาตุนไว้คุณจะรู้สึกอย่างไร? เห็นใจเพราะหลายครั้งก็ประสบปัญหาใช้เงินแบบเดือนชนเดือนเหมือนกัน หรือคำนวณอย่างว่องไวในหัวว่าหากเอาเงินเหล่านั้นคงได้ข้าวหลายมื้อไปแล้ว

เหมือนกับเหตุการณ์ในโลก TikTok เมื่อมีผู้ใช้งานรายหนึ่งโพสต์วิดีโอรีวิวชีวิตเมื่อเงินหมด โดยผู้ใช้งานรายดังกล่าวเป็นนักเรียนในจังหวัดขอนแก่น หลังจากนั้นก็มีคนมากมายเข้ามาคอมเมนต์ให้กำลังใจ และแชร์ประสบการณ์ของตัวเองด้วยเหมือนกัน

แต่ก็มีคอมเมนต์บางส่วนที่ถามประมาณว่าทำไมถึงไม่ขอเงินพ่อแม่ ไม่มีเงินกินข้าวแต่ทำไมถึงมีไอแพด มีสกินแคร์ใช้ และคอมเมนต์ละลาบละล้วงอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้ใช้งานรายดังกล่าวก็ได้ตอบคอมเมนต์ของชาวเน็ตด้วยการอธิบายถึงสถานการณ์ความลำบากที่ตนและครอบครัวกำลังเผชิญ

คำถามก็คือสาเหตุอะไรที่ทำให้ชาวเน็ตบางส่วนสงสัยในเรื่องส่วนตัว หรือพยายามหาข้อพิสูจน์ว่าเจ้าของโพสต์ไม่มีเงินจริงๆ

เมื่อคนบนโซเชียลเริ่มถือสิทธิ์ตัดสินความบอบช้ำของผู้อื่นด้วย Perfect Victim

ในวันที่เรารับรู้ข่าวหรือเรื่องราวร้ายๆ ของคนอื่นผ่านโลกโซเชียล ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพียงผู้ประสบความโชคร้ายหรือเป็นเหยื่อก็ตาม แต่สิ่งที่เราทำเป็นอย่างแรกคือ ‘การตัดสิน’ ซึ่งเป็นกลไกอัตโนมัติของสมองโดยที่บางครั้งเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเผลอตัดสินอะไรบางอย่างไป โดยเราเรียกหลักการของการตัดสินนี้ว่า Perfect Victim หรือ “เหยื่อในอุดมคติ”

เหยื่อที่สมบูรณ์แบบ (Perfect Victim) หรือเหยื่อในอุดมคติ คือมายาคติของสังคมที่กำหนดคุณสมบัติของ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ซึ่งตามคำนิยามของนิลส์ คริสตี (Nills Christie) นักสังคมวิทยาชาวนอร์เวย์ระบุลักษณะ 5 ประการของผู้ถูกกระทำไว้ดังนี้
[ ] มีลักษณะอ่อนแอ  เช่น มีอาการเจ็บป่วย เป็นผู้สูงอายุหรือเยาวชน
[ ] มีประวัติที่ดี หรือมีหน้าที่การงานที่ดี
[ ] ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้
[ ] ไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้กระทำ
[ ] มีอำนาจน้อยกว่าผู้กระทำ ซึ่งผู้กระทำจะต้องเป็นคนไม่ดี

ดังนั้นเมื่อเหยื่อมีลักษณะนอกเหนือจาก 5 ข้อนี้ รวมกับการที่มนุษย์แต่ละคนจะมีกลไกตามธรรมชาติของการตัดสินว่าเหยื่อสมควรได้รับการเยียวยา หรือความเห็นใจหรือไม่นั้นแตกต่างกันไปตามมุมมอง ประสบการณ์ส่วนตัว อคติส่วนตัว หรือค่านิยมของสังคม ผู้คนจะโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อ หรือมีส่วนทำให้เกิดสถานการณ์นั้นๆ ขึ้น แล้วก็จะไม่ได้รับความสงสาร ความเห็นใจและความเป็นธรรมจากสังคม

โดยถ้าเรามีประสบการณ์ร่วมกันก็จะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ในทางกลับกันถ้ามีค่านิยมหรือชีวิตที่ต่างออกไป ก็จะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่อีกคนเผชิญอยู่นั้นลำบากแค่ไหน ยิ่งไปกว่านั้นยังพยายามคาดคั้นให้อีกฝ่ายพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นเหยื่อจริง เป็นคนที่กำลังประสบกับความลำบากจริง หรือความจริงแล้วแค่เป็นคอนเทนต์กันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์จากวิดีโอ TikTok ดังกล่าวที่รีวิวชีวิตสิ้นเดือนกับเงินไม่กี่บาทสุดท้าย แต่เมื่อเจอคำถามของชาวเน็ตบางส่วนทำให้เจ้าของโพสต์ต้องตอบคำถามในเรื่องส่วนตัว รวมถึงสถานการณ์ของครอบครัว ตั้งแต่ไอแพดที่ใช้เป็นไอแพดที่ผ่อนไปใช้ไป สกินแคร์ก็ซื้อด้วยรายได้พิเศษจากงานเสริม นอกจากนี้ยังต้องชี้แจงจำนวนรายได้ของพ่อ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เดียวของทั้งครอบครัว ปัญหาสุขภาพของแม่ และที่มารายได้เสริมของเจ้าของโพสต์เพื่อตอบคำถามของชาวเน็ต

และเมื่อพบเจอเรื่องราวที่ขัดกับสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยจึงต้องหาวิธียืนยันว่าตัวเองนั้นคิดถูกด้วยการจี้ถาม หรือคาดคั้นรายละเอียดว่าเป็นเหยื่อจริงไหม หรือเดือดร้อนจริงหรือไม่ โดยที่แนวคิดการตัดสินความลำบากของผู้อื่นไม่ได้เกิดแค่ในช่องคอมเมนต์ของกรณีนี้เพียงเท่านั้น เรายังพบเจอลักษณะของการตัดสินความเจ็บปวดและบอบช้ำของผู้อื่นจากข่าวอื่นๆ อย่าง ข่าวทารุณกรรม ข่าวข่มขืน ข่าวแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกให้โอนเงินด้วยเช่นกัน

Advertisements

เพียงเพราะไม่ใช่ ‘เหยื่อในอุดมคติ’ ของสังคม ไม่ได้แปลว่าไม่ลำบาก

เมื่อเราประสบกับความเดือดร้อน แล้วแชร์ความลำบากของตัวเองลงบนโซเชียล เป็นไปได้ว่าตอนนั้นเราอาจกำลังคาดหวังจะให้เรื่องราวนี้ได้กลายเป็นอุทาหรณ์ เป็นการเตือนภัย หรืออยากได้การปลอบประโลมจากใครสักคน แต่แล้วโลกออนไลน์กลับไม่เป็นอย่างนั้น พวกเขาทำให้คุณต้องพยายามพิสูจน์ว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากของเราเป็นเรื่องจริง

หลายครั้งที่เหยื่อจากอาชญากรรมจำนวนมากต้องเผชิญกับการเป็น ‘เหยื่อที่ไม่สมบูรณ์แบบ’ เช่น ซื้อบัตรคอนเสิร์ตแบบอัปราคาแล้วถูกโกง ถูกล่วงละเมิดตอนที่ไปปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือถูกโกงเมื่อซื้อสินค้ามือสองผ่านกลุ่มในโซเชียล

ซึ่งถึงแม้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ได้รับตรงกับคำนิยามของ “ความลำบาก” ที่สังคมส่วนใหญ่จะเห็นใจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าความเสียหายทางใจที่เกิดขึ้นกับเรานั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

แต่ด้วยความโหดร้ายของโลกออนไลน์ในปัจจุบันนี้ แทนที่จะแสดงความเห็นใจกลับกลายเป็นว่ามีคนบางกลุ่มด้อยค่าความเจ็บปวดที่เราเจอมาให้กลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว ไม่สลักสำคัญอะไรสำหรับคนอื่น เอาแต่ตัดสินว่าคิดผิดที่ไปซื้อบัตรคอนเสิร์ตแบบอัปราคา ที่โดนอย่างนี้ก็เพราะแต่งตัวเปิดเนื้อหนังดูไม่มิดชิด แลัวยังไปเที่ยวตอนกลางคีน หรือกลายเป็นคนสะเพร่าที่ไม่เช็กรีวิวจากลูกค้าคนอื่นให้ดีก่อนสั่งซื้อ ไม่เพียงเท่านั้นคุณยังรู้สึกถูกด้อยค่า รู้สึกขอโทษ และรู้สึกผิดทั้งที่เป็นผู้ถูกกระทำ ถูกโกง ถูกหลอก แล้วยังต้องนึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ เพื่อตอบคำถามละลาบละล้วงของชาวเน็ต

สุดท้ายแล้วถ้าถูกตัดสินให้เป็นเหยื่อที่ไม่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติของสังคม เราก็ต้องเผชิญกับคำกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ไปในที่สุด ต้องเจอกับคอมเมนต์ที่ว่า “สมควรแล้ว” “ทำตัวเอง” หรือถ้อยคำสั่งสอนของชาวเน็ตที่ไม่ได้ประสบกับความลำบากเช่นเดียวกันกับคุณ

ไม่ว่าจุดประสงค์ของการโพสต์จะเพื่อความบันเทิงหรือเพื่ออะไรก็ตาม สิ่งที่โลกออนไลน์ต้องการมากที่สุดในตอนนี้ก็คือความเข้าใจว่าทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน ปัญหาที่ยากเกินแก้ไขของคนอื่นอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถจัดการได้ในเวลาสั้นๆ และปัญหาหนักของเราก็อาจจะไม่ได้อยู่ในประสบการณ์ความคิดของคนอื่นด้วยเช่นกัน

หรือถ้าสุดท้ายแล้วการทำความเข้าใจสถานการณ์ของบุคคลอื่นนั้นยากเกินไป การคอมเมนต์ที่แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อโลกอินเทอร์เน็ต (Digital Empathy) ก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมออนไลน์ได้เช่นกัน

อ้างอิง
– The ‘Ideal Victim’ hierarchy : Harriet Clark, OUR STREETS NOW – https://bit.ly/3QAL7Vj
– Deconstructing the Myths About Victims : StrongHearts Native Helpline – https://bit.ly/3QiA5CJ
– เพราะไม่สมบูรณ์แบบ…จึงไม่สมควรเป็นผู้ถูกกระทำ : รู้จักมายาคติ “Perfect Victim” หรือ “เหยื่อในอุดมคติ” : บุณยาพร อนะมาน, คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – https://bit.ly/3s5mMhc

#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า