เงินเดือนขั้นต่ำหมื่นห้ามาหลายปี ทำไมไม่เพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพที่สูงลิ่วสักที?
ประเด็นของค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพในประเทศไทยนั้น เป็นหัวข้อที่ร้อนแรงและมีการถกเถียงกันตลอดกาลเกี่ยวกับความเพียงพอในการดำรงชีวิตที่ไม่เพียงแต่มีกินมีใช้ แต่ยังต้องสามารถสร้างความก้าวหน้า ยกระดับความเป็นอยู่ของชีวิตได้ โดยหากติดตามข่าวที่ผ่านมาจะพบว่าทั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งปี ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำมีการออกนโยบายปรับค่าแรงขึ้นในปี 2556, 2560, 2561, 2563, 2565 จนเรียกได้ว่าภายในระยะเวลา 10 ปี ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 5 ครั้งเท่านั้นและค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 อยู่ที่ 328 – 354 บาท/วัน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2556 เพียง 38 – 54 บาท
ทางฝั่งบรรยากาศการปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 ทำให้สินค้ากลุ่มผักสด เนื้อสัตว์ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มมีการปรับตัวของราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ทั้งที่รายรับของคนไทยยังคงเท่าเดิม
เมื่อมีปัญหาค่าแรงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพ ก็เกิดเป็นคำถามว่า “การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย แพงเท่าๆ กับต่างประเทศจริงหรือไม่” เราจึงนำข้อมูลในส่วนด้านของค่าครองชีพ ที่จากเว็บไซต์ NUMBEO ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าครองชีพทั่วโลกและเว็บไซต์ WageIndicator ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลก พบว่า
[ ] ค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัวในกรุงเทพฯ (เฉลี่ยมีสมาชิก 4 คน) คือ 81,310 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัวในนิวยอร์กอยู่ที่ 209,102 บาท (ไม่รวมค่าเช่าบ้าน)
[ ] ค่าใช้จ่ายต่อคนของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 22,804 บาทต่อเดือน ส่วนนิวยอร์กเฉลี่ยอยู่ที่ 56,687 บาทต่อเดือน (ไม่รวมค่าเช่าบ้าน)
[ ] เงินเดือนขั้นต่ำในกรุงเทพฯ ในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 15,412 บาท (ตกวันละ 353 บาท) ส่วนเงินเดือนขั้นต่ำในนิวยอร์กอยู่ที่ 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง (ตกวันละ 120 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 4,352.36 บาท และเดือนละ 3,600 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 130,570.89 บาท)
[ ] กล่าวคือค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ถูกกว่านิวยอร์ก 57.5% ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ น้อยกว่านิวยอร์กถึง 747%
เพราะอะไร ค่าแรงของคนไทยจึงไม่สามารถปรับขึ้นได้ตามค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่มีการปรับตัวขึ้นทุกปี เหมือนกับต่างประเทศ?
หากจะค้นหาคำตอบนี้ ก็อาจจะต้องไปดูแนวคิดของเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในต่างประเทศและประเทศไทย ซึ่งความหมายของคำว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” ในระดับสากลนั้นระบุว่าต้องเพียงพอให้คนงานเลี้ยงดูภรรยาและบุตรอีก 2 คนได้ ในขณะที่คำว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” กฎหมายไทยมีจุดประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างสามารถดำรงชีพอยู่เหนือระดับความยากจนได้ และยังมีการระบุว่าค่าแรงขั้นต่ำมีไว้เพื่อให้เพียงพอสำหรับดำรงชีพคนเดียว ไม่รวมครอบครัว นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยไม่สูงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำในต่างประเทศ
นอกจากสาเหตุทางด้านกฎหมายแล้ว ยังมีสาเหตุทางเศรษฐกิจที่มีผลกับการขึ้นค่าแรงในไทยอีกด้วย โดยโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีการพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labour-intensive industries), วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprises) เมื่ออุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการใช้แรงงานเป็นต้นทุนการผลิตที่มาก ทำให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตและภาระด้านการเงินให้กับเจ้าของธุรกิจ แนวคิดเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ จึงถูกมองว่าเป็นการเพิ่มภาระความลำบากในการดำเนินธุรกิจมากกว่าเดิม
แต่อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ยังมีข้อดีที่นอกจากจะควรปรับขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับการดำรงชีวิตของประชากรแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เพียงพอยังสามารถช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน เพิ่มกำลังซื้อในทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องพึ่งพานโยบายสนับสนุนจากทางรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจไปด้วย
เพราะเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ ไม่ได้พึ่งพาแค่ภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังต้องพึ่งพากำลังซื้อจากแรงงานไทยที่มีจำนวนกว่า 40.30 ล้านคนที่มีการจับจ่ายใช้สอยในทุกๆ วัน และเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นได้เช่นกัน การปรับขึ้นค่าแรงจึงเป็นเรื่องที่ควรมีการพิจารณาอย่างเหมาะสม
อ้างอิง
Minimum Wages : WageIndicator – https://bit.ly/3RX6lxT
Cost of Living Comparison Between Bangkok and New York, NY : Numbeo – https://bit.ly/3rRx8RD
ของแพง.. ค่าแรงไม่ขึ้น ทำไมการ “ขึ้นค่าแรง” ในไทยถึงเป็นเรื่องยาก : กมลวรรณ มาดายัง, กรุงเทพธุรกิจ – https://bit.ly/46Rwd2f
#trend
#Wages
#CostofLiving
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast