ความเท่าเทียมในการศึกษาของเด็กไทย?!

2494

เปิดรายงาน กสศ. ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำและความยากจนในวิกฤตการณ์โควิด-19

“ความเหลื่อมล้ำ” คือปัญหาเรื้อรังที่ทำร้ายสังคมไทยมานาน และลุกลามไปทุกวงการไม่ว่าจะเศรษฐกิจหรือสังคม โดยเฉพาะวงการการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการที่เด็กไทยหลายคนมีความสามารถ แต่ขาดโอกาสและทุนทรัพย์ที่จะต่อยอดทักษะของพวกเขา ทำให้เราสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างมหาศาล

อีกทั้งการเข้ามาของโควิด-19 ก็ยิ่งตอกย้ำและถ่างแผลความเหลื่อมล้ำให้กว้างมากกว่าเดิม ผมได้อ่านรายงานความเหลื่อมล้ำที่จัดทำโดย กสศ. หรือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่าครัวเรือนยากจนในประเทศไทยมีรายได้ลดลงจากพิษเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษาของนักเรียนในหลายๆ ครอบครัว และโควิด-19 ยังสร้างปัญหาโควิดดิสรัปชัน (COVID Disruption) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของทั้งนักเรียนและผู้ปกครองอีกด้วย

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำในตอนนี้คือ เร่งหาหนทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งกสศ. ได้เสนอแนวทาง 5 หัวข้อที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผมเห็นว่าน่าสนใจมากเลยอยากที่จะแชร์ให้ทุกคนอ่านไปด้วยกันครับ

กสศ1

แนวทางแรกคือ บูรณาการข้อมูลสถานการณ์ความยากจนรายครัวเรือนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

ก่อนจะวางแผนอะไรเราจำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่แน่ชัดในมือก่อน ซึ่งกสศ. คอยรวบรวมตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว และพบว่าสถานการณ์โควิด-19 นั้นส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้รายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนยากจนนั้นมีอัตราลดลงถึง 5% ส่งผลให้มีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากๆ

แต่จากการรวบรวมข้อมูลเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง กสศ. จึงสามารถช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษได้ทันท่วงที เมื่อปีการศึกษา 2/2561 กสศ. ช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษไปได้ถึง 1,173,752 คน การที่กสศ. ทำได้แบบนี้เป็นเพราะการเก็บ ติดตาม และอัปเดตข้อมูลตลอดเวลา

Advertisements
กสศ2

แนวทางที่สองคือ บูรณาการงบประมาณและทรัพยากรระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความยากจน

กสศ. ไม่ได้ทำงานเป็นองค์กรเดี่ยว แต่ร่วมมือกับคุณครูกว่า 4 แสนคนทั่วประเทศเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกของเด็กนักเรียนในครัวเรือนยากจน ซึ่งข้อมูลนี้กสศ. จะส่งต่อไปให้หน่วยงานต้นสังกัดที่ดูแลนักเรียนไม่ว่าจะเป็น สพฐ. อปท. และตชด. หรือหน่วยงานรัฐทั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินมาตราการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำให้ต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่านี่เป็นแนวทางที่ดีมากๆ เพราะการทำงานใหญ่ด้วยตัวคนเดียวอาจจะสำเร็จได้ยาก แต่การร่วมมือกันของหลายๆ องค์กรจะช่วยให้ปัญหาที่ใหญ่เป็นเรื่องเล็กลงและง่ายที่จะแก้ไขมากขึ้น

แนวทางที่สามคือ การแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้ครัวเรือนเป็นฐาน (Household-based Anti-poverty Intervention)

สำหรับผมแล้ว ครอบครัวคือสถาบันที่สำคัญมาก เพราะพ่อแม่คือผู้สนับสนุนหลักของลูกโดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา แต่สถานการณ์ในปัจจุบันผู้ปกครองได้รับผลกระทบรุนแรงไม่ต่างจากนักเรียน รายได้ที่ลดลงสวนทางกับรายจ่ายในส่วนอื่นที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแค่กระทบกับสภาพการใช้ชีวิต แต่ยังกระทบกับสภาพจิตใจด้วย

ฉะนั้น นอกเหนือจากช่วยเหลือผู้ปกครองในเรื่องของค่าใช้จ่ายพื้นฐานแล้ว เรายังต้องสนับสนุนให้ผู้ปกครองมีงานที่สร้างรายได้อย่างมั่นคง โดยสำรวจว่าในภูมิลำเนาของพวกเขามีฐานทรัพยากรอะไร มีศักยภาพอย่างไร แล้วค่อยส่งเสริมสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

Advertisements
กสศ3

แนวทางที่สี่คือ แก้ไขปัญหาภาวะ COVID Slide และ Pandemic Wall ในประเทศไทย

เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญมากๆ เพราะนักเรียนไทยกำลังเผชิญชีวิตที่ถูก Disrupt โดยโควิด-19 จากสถานการณ์ “ม่านกั้นการเรียนรู้ (Pandemic Wall) หรือ ภาวะที่ต้องเจอโรคระบาด” เด็กหลายคนต้องเจอกับภาวะ “สมองเต็ม (Cognitive Overload)” จากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดสารอาหาร ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (COVID Slide)”

จะเห็นได้ว่าเด็กๆ ก็เผชิญกับปัญหาไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ดังนั้นพวกเราต้องคอยช่วยเหลือดูแลและรับฟังเสียงของเด็กๆ และหาหนทางแก้ปัญหา COVID Slide และ Pandemic Wall ให้รวดเร็วที่สุด เพื่อที่นักเรียนจะได้เต็มที่กับการเรียนรู้และเติบโตอย่างมีคุณภาพ

กสศ4

และแนวทางสุดท้าย Build Back Better

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้นักเรียนบางกลุ่มต้องหยุดเรียนนานถึง 3 เดือน และอีกปัญหาใหญ่คือ ยังมีเด็กอีกมากมายที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

ดังนั้นหน่วยงานทุกหน่วยจึงควรที่จะร่วมมือกันเพื่อมองหาวิธีปรับปรุงการเรียนการสอน การประเมินผลที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมสำหรับนักเรียนให้มากที่สุด และช่วยให้นักเรียนทุกกลุ่มเข้าถึงเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด เพื่อที่พวกเขาจะได้รับการศึกษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่ากสศ. พยายามอย่างมากในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยด้วยการช่วยเหลือเด็กนักเรียนและผู้ปกครองที่ประสบปัญหา หากทุกคนองคกร์และเราทุกคนช่วยกันปฏิบัติตามแนวทางทั้ง 5 นี้ ผมมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำและมีการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตได้แน่นอนครับ

Sponsored by กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: กสศ.
#MissionToTheMoonPodcast

Advertisements