AI มีบทบาทกับชีวิตของเราอย่างไร ในยุคการแพร่ระบาดของ COVID-19

1446

AI หรือปัญญาประดิษฐ์นั้นเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตของมนุษย์เรา ด้วยการพัฒนาอย่างล้ำหน้าขึ้นทุกๆ วัน และในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ที่มีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก ทำให้มีการนำ AI มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพและการแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงของเราให้ได้มากที่สุด ลองมาดูกันว่า AI มีบทบาทกับชีวิตของเราในยุคการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรบ้าง

การวินิจฉัยโรค (Diagnostics)

ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 ที่นิยมใช้ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศก็คือวิธี Real-time RT PCR โดยการตรวจสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจส่วนบน-ส่วนล่างของผู้ที่มีความเสี่ยง แม้จะเป็นวิธีที่รวดเร็ว สามารถทราบผลภายใน 3-5 ชั่วโมง แต่ก็ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐาน และยังอาจเกิดผลตรวจลวงได้

ในบางกรณี แพทย์จึงต้องใช้การวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมจากการทำ CT และ MRI ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในเครื่องมือดังกล่าวให้สามารถจดจำลักษณะปอดที่ติดเชื้อ COVID-19 ได้ และยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีนยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้เชิงลึกแบบสามมิติ (3D deep-learning platform) ซึ่งใช้สำหรับการวินิจฉัยโรค COVID-19 โดยการวิเคราะห์ผล CT ซึ่งมีความแม่นยำสูงอีกด้วย

Advertisements

นอกจากนี้ AI ยังถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ด้วยการแยกแยะ “การไอ” ของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ไม่แสดงอาการออกจากคนปกติ การทดสอบนั้นให้ผลแม่นยำถึง 100% เลยทีเดียว โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นสำหรับบุคคลทั่วไป

จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยี AI ได้ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์โรคอุบัติใหม่ซึ่งแพทย์อาจยังไม่เชี่ยวชาญมากพอ จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ AI เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรลงได้ เพราะยิ่งตรวจพบผู้ติดเชื้อได้มากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้มากขึ้นเท่านั้น

การทดสอบประสิทธิภาพของยา

อย่างที่เราตระหนักกันดีว่า COVID-19 ไม่ใช่โรคไข้หวัดธรรมดา และยังไม่มียาที่รักษาได้โดยเฉพาะ ด้วยการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่ทางการแพทย์ต้องพัฒนายาเพื่อใช้รักษาโรคนี้อย่างเร่งด่วน แต่การจะรอผลิตยาขึ้นใหม่โดยเฉพาะอาจไม่ทันการณ์ จึงได้มีการใช้ยาเดิมสำหรับรักษาโรคที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้อย่างรวดเร็ว และยังประหยัดต้นทุนการผลิตอีกด้วย

ตัวอย่างของยาสำคัญที่ถูกนำมาปรับใช้ในการรักษาโรค COVID-19 ก็คือยา Remdesivir ซึ่งเคยใช้รักษาอาการติดเชื้อจากไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบบี และโรคเริม ต่อมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ยาดังกล่าวนี้ได้ถูกนำมาทำแบบจำลอง AI (AI Model) และพบว่ามีแนวโน้มในการรักษาโรค SARS-CoV-2 ได้ และหลังจากได้ทดลองใช้ในผู้ป่วย COVID-19 ในโรงพยาบาล จนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ยา Remdesivir จึงได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (FDA) ให้ใช้ในการรักษาโรค COVID-19 เป็นตัวแรก

จากนั้นในเดือนเมษายน 2020 ยา Dexamethasone ซึ่งใช้รักษาอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ ได้มีการทดลองโดยทดสอบด้วย AI VIVO เป็นเวลา 15 วัน สำหรับการวิเคราะห์ส่วนประกอบกว่า 90,000 ชนิด เพื่อจัดอันดับประสิทธิภาพในการรักษา ก่อนจะได้รับข่าวดีว่า ยาตัวดังกล่าวสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะวิกฤตได้

จากความสามารถของ AI ทำให้เราค้นพบยารักษาโรค COVID-19 ได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้ และยังเป็นความหวังให้กับผู้คนทั่วโลก ถึงโอกาสในการรักษาโรคนี้ แม้การพัฒนายาโดย AI ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา แต่ก็ทำให้โลกของเรามองเห็นอนาคตและความหวังมากขึ้น ในการใช้ AI ด้านการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว รวมถึงด้านจริยธรรมด้วย

บริการด้านสุขภาพผ่านระบบออนไลน์

ไม่ใช่แค่สถานที่ต่างๆ ที่จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ แต่โรงพยาบาลเองก็จำเป็นต้องออกนโยบายจำกัดจำนวนคนเช่นกัน โรงพยาบาลหลายๆ แห่งจึงเริ่มนำระบบบริการออนไลน์เข้ามาใช้ สำหรับผู้ป่วยในบางโรคที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล

Advertisements

เทคโนโลยีดังกล่าวคือ Telehealth หรือ Telemedicine ที่ให้คุณหมอได้พูดคุยกับผู้ป่วยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตั้งแต่การเข้ารับคำปรึกษา วินิจฉัยโรค การให้ความรู้เรื่องยา เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรค และยังประหยัดเวลาและค่าเดินทางอีกด้วย

แม้ว่ารูปแบบการบริการทางไกลจะมีมานานแล้ว อย่างเช่นโครงการแพทย์ทางไกลผ่านดาวเทียม เมื่อปี 2538 ในประเทศไทย แต่จะเน้นไปที่ระบบการสื่อสารมากกว่า ส่วนในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาครอบคลุมไปถึงเครื่องมือที่ช่วยเรื่องการวินิจฉัยโรคด้วย โดยใช้ AI มาช่วยประมวลผล จากข้อมูลที่มีอยู่มหาศาล และนำไปสู่การวิเคราะห์โรคเพื่อการรักษาต่อไป

เป็นเรื่องน่ายินดีที่เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเรื่องความสะดวกสบายในด้านบริการทางการแพทย์ เพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการ ในช่วงเวลาวิกฤตที่การเดินทางไปโรงพยาบาลกลายเป็นความเสี่ยงในการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และหากบริการนี้พัฒนาจนครอบคลุมหรือสามารถใช้ได้ในทุกสถานพยาบาล คงช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

การใช้งานหุ่นยนต์เพื่อความปลอดภัยของมนุษย์

ปัจจุบันนี้เราใช้หุ่นยนต์ทำงานที่มีความเสี่ยงแทนมนุษย์ เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างการตรวจสอบสารพิษรั่วไหล หรือการตรวจสอบระบบไฟฟ้า และในช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาด หุ่นยนต์ก็ยิ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในงานที่ต้องการลดสัมผัสจากมนุษย์สู่มนุษย์ เช่น ในเมืองอู่ฮั่น ได้ใช้พาหนะติดตั้งเครื่องถ่ายภาพซีทีแบบเคลื่อนที่จาก Ping An Health Inspection Center เพื่อบริการการตรวจวินิจฉัยโรค COVID-19 นอกโรงพยาบาล

ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็มีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในโรงพยาบาล ภายใต้โครงการของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะนำมาใช้งานใน 3 รูปแบบ คือ

  • CARVER-Cab 2020a หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ สำหรับจัดส่งอาหารและยา พร้อมฟังก์ชันฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัส
  • SOFA หุ่นยนต์ที่ใช้ร่วมกับการควบคุมทางไกล เพื่อจับอุณหภูมิร่างกาย และตรวจอาการจากสภาพภายนอกของผู้ป่วย เพื่อประมวลผลและเชื่อมโยงกับข้อมูลของโรงพยาบาล รวมถึงสามารถโต้ตอบแบบวิดีโอคอลด้วย
  • Service Robot หุ่นยนต์ส่งยาและอาหารเฉพาะจุด โดยการควบคุมทางไกล ซึ่งผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้

หุ่นยนต์ AI ถือเป็นความหวังในหลายๆ วงการ มนุษย์คงใช้ชีวิตที่เสี่ยงอันตรายอย่างมากหากไม่มีหุ่นยนต์มาช่วยงาน โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่การใกล้ชิด หรือการสัมผัสกันระหว่างผู้คนยังเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง การมีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยจัดการแทนมนุษย์จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เราได้มาก อย่างตัวอย่างของหุ่นยนต์ฝีมือคนไทยข้างต้น หากสามารถตกลงแนวทางการนำมาใช้งานจริงได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของวงการแพทย์ กับบทบาทของหุ่นยนต์ในประเทศไทยอย่างแน่นอน

จะเห็นได้ว่า AI ได้ช่วยให้เราสะดวกสบายและปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 มากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ เราคงได้เห็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก AI อีกหลายอย่าง ทั้งในด้านของการดูแลสุขภาพของมนุษย์ และความสามารถในด้านอื่นๆ มาติดตามกันดูว่า ในวันพรุ่งนี้เราจะได้เห็น AI ก้าวไปทางไหนอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

และสำหรับใครที่สนใจเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ AI ในตอนนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็มีโครงการ “AI ไทยสามารถ by AI for All” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้แก่กลุ่มคนทั่วไป นักเรียนนักศึกษา และนักธุรกิจ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://bit.ly/36yNiS0 หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://bit.ly/3cs6lBg

แหล่งที่มาของข้อมูล: https://medium.com/predict/the-pandemic-shapes-technology-and-our-future-faster-than-ever-fda6e4123d74
https://www.sanook.com/health/26897/
http://www.zrolsoft.com/lpnhresearch/images/newsflash/7edu_57_050222.pdf
https://techsauce.co/news/4-thai-telehealth-startup
https://www.eworldmag.com/tha-robot-fight-covid19/
https://dct.or.th/covid-19/detail/53

Advertisements