มนุษย์เรามีความสามารถในการตีความมากกว่าที่ตัวเองคิด คุณอาจจะไม่รู้ตัวว่าสมองประมวลผลและตีความเรื่องราวต่างๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการตีความถ้อยคำหรือรูปสัญลักษณ์ ความสามารถในการตีความที่แม่นยำขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน
แต่จะมีอยู่หนึ่งสิ่งที่มนุษย์คิดว่าหากเราตีความสิ่งนี้ได้อย่างแม่นยำแล้ว เราจะมีความสามารถในการอ่านคนและอยู่เหนือคนก็คือ ‘ภาษากาย’
การตีความภาษากายคือ ‘ความลื่นไหล’ หรือ ‘ไร้มาตรวัด’ กันแน่?
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เกิดประเด็นร้อนขึ้นใน X หรือทวิตเตอร์เมื่อมีชาวต่างชาติโพสต์ข้อความวิเคราะห์ภาษากายของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และกล่าวว่าไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหนแสดงท่าทีประหม่าและดูกังวลต่อหน้าวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้เท่านี้มาก่อน โดยผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวคือ Jacek Wachowiak ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากายชาวโปแลนด์ได้อธิบายถึงความหมายของท่าทางและอวัยวะแต่ละจุดว่ามีความหมายอย่างไร
เมื่อมีคนไทยแปลโพสต์ดังกล่าว ทำให้กระแสโซเชียลแบ่งออกเป็น 2 เสียงใหญ่ๆ คือเห็นด้วยและคล้อยตามกับโพสต์ของ Jacek Wachowiak ในขณะที่อีกฝั่งมองว่าศาสตร์เรื่องการวิเคราะห์ภาษากายนั้นไม่ได้เหมาะกับทุกบริบท และไม่สามารถใช้ตีความได้อย่างแม่นยำ รวมถึงความคิดเห็นอื่นๆ ที่มองว่านี่อาจกระทบกับความน่าเชื่อถือของนายกฯ เศรษฐาในฐานะผู้นำประเทศไทยก็เป็นได้
เรามักให้ความสำคัญกับ ‘ความประทับใจแรก’ ไม่น้อย ตั้งแต่การแต่งตัวตลอดจนการวางตัวต่อหน้าเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ หรือเพศตรงข้ามล้วนแล้วแต่ส่งผลกับความประทับใจแรกให้กับคู่ความสัมพันธ์ไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นเรายังพบศาสตร์ของการวิเคราะห์ภาษากายได้บ่อยๆ ในหนังแนวสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับ FBI การมองคนขาดตั้งแต่ไม่กี่วินาทีแรกได้อย่างทะลุปรุโปร่งแบบพนักงานสืบสวน หรือยอดนักสืบอย่างเชอร์ล็อก โฮล์มส์ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นยอดทักษะในปัจจุบัน
ยิ่งไปกว่านั้นคือทุกวันนี้มีรายวิชาเกี่ยวกับการอ่านและวิเคราะห์ภาษากายในสถาบันต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยอยู่จำนวนมาก คอนเทนต์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาษาท่าทาง รวมถึงผู้คนที่ชื่นชอบเนื้อหาทำนองนี้ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ เราให้ความสำคัญกับภาษากายเพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกับความคิดของคน
และแม้ว่าจะมีนักจิตวิทยาหลายคนกล่าวว่าภาษากายสามารถสื่อสารอารมณ์บางอย่างได้ เช่น ความสุข ความสงบ ความสบายใจ ความไว้วางใจ ความประหม่า ความกระวนกระวาย ความเครียด รวมถึงความวิตกกังวลได้ แต่ก็ยังมีหลายคอมเมนต์ที่แสดงความคิดเห็นแย้ง และตั้งคำถามว่า “เราสามารถเชื่อถือศาสตร์การวิเคราะห์ภาษากายได้จริงหรือ?”
‘พฤติกรรม’ ไม่ได้ขึ้นกับสมองเท่านั้น แต่ผูกโยงเข้ากับทุกแง่มุมในชีวิต
การศึกษาภาษากาย หรือการศึกษาอวัจนภาษาเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 1960-1970 โดยในยุคแรกจะศึกษาการแสดงออกทางสีหน้าที่เป็นสากล โดยศึกษาการตอบสนองของสมองต่ออารมณ์ว่าส่งผลกับกล้ามเนื้อใบหน้าและมือของเราอย่างไร
หลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มขยายขอบเขตการศึกษาภาษากายออกไป โดยนักวิจัยด้านการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมอนทริออลอย่าง วินเซนต์ เดนอลต์ เริ่มศึกษาการพูดหรือถ้อยคำ เช่น “เอ่อ…” “อืม…” รวมถึงพฤติกรรมอย่างอื่น เช่น การยักไหล่ การกลอกตา การเช็ดเหงื่อ ท่าทางเหล่านี้ก็ถือเป็นหนึ่งในการศึกษาและวิเคราะห์ภาษากายด้วยเช่นกัน
ศาสตร์ของการอ่านภาษากายถูกนำมาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ต่างๆ มากขึ้นในเวลาถัดมา เช่น ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือการสืบสวนสอบสวน ใช้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ใช้ประเมินคู่ต่อสู้ และยังสามารถใช้ประเมินลูกค้าหรือคู่ค้าในการทำธุรกิจได้อีกด้วย แม้กระทั่งในโซเชียลทุกวันนี้ก็ยังนำหลักการวิเคราะห์ภาษากายมาใช้แสดงความคิดเห็นต่อพฤติกรรมของบุคคลอยู่บ่อยๆ และประเด็นของนายกฯ เศรษฐา ทวีสินก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม การอ่านภาษากายยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แม้แต่เดนอลต์เองก็กล่าวว่าไม่มีอะไรรับประกันว่าเราสามารถตีความความคิด และความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจผ่านการอ่านภาษากายได้อย่างแม่นยำ และเดวิด มัตสึโมโตะ นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกยังกล่าวอีกว่าพฤติกรรมและท่าทางที่เราแสดงออกมานั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย และยากที่จะตีความด้วยข้อมูลแบบเหมารวมเพียงไม่กี่ชุด
มัตสึโมโตะกล่าวว่าพฤติกรรมของคนถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน รวมถึงพื้นเพครอบครัว ประสบการณ์ การศึกษา และการฝึกฝนสามารถส่งผลกับการแสดงพฤติกรรมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การเลิกคิ้วอาจแสดงถึงความไม่เชื่อใจ ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อถึงความประหลาดใจ หรือรู้สึกเหลือเชื่อก็ได้ ซึ่งทั้งสองความหมายมีนัยต่างกันมากพอสมควร แม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมเดียวกันก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้นการวิเคราะห์ภาษากายยังเป็นศาสตร์ที่ไม่มีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์มารองรับอย่างชัดเจน มีเพียงข้อมูลสถิติและการเชื่อมโยงเข้ากับหลักจิตวิทยา ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินจิตใจหรือความรู้สึกที่มีรายละเอียดซับซ้อนผ่านพฤติกรรมมนุษย์ไม่กี่รูปแบบ
แต่ภาษากายมีอิทธิพลกับความคิดของคน เพราะเพียงแค่การขยับร่างกายไม่กี่ท่า หรือคำพูดไม่กี่คำก็สามารถเปลี่ยนการรับรู้ของผู้คนได้ และเราจะเชื่อความคิดแรกไปอีกนานแสนนาน หลังจากการตัดสินคนอื่นในจังหวะแรกพบเพียงเสี้ยวนาที นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับ ‘ความประทับใจเมื่อแรกพบ’ มากเป็นพิเศษเมื่อต้องการเริ่มต้นความสัมพันธ์ และทำไมนักการเมืองจากทั่วโลกถึงระมัดระวังท่าทางและภาพลักษณ์เป็นพิเศษเมื่ออยู่ต่อหน้าสื่อ
หลายคนมองว่าหลักการวิเคราะห์ภาษากายเป็นเรื่องบันเทิงที่มีข้อมูลสถิติมารองรับ ไม่ต่างจากคอลัมน์หรือบทความที่มีแง่มุมน่าสนใจ แต่อ่านเพื่อความบันเทิงมากกว่าที่จะเป็นวิทยาศาสตร์โดยแท้จริง และแม้แต่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคเนดียังถูกสื่อหนังสือพิมพ์โจมตีความน่าเชื่อถือด้วยบทความวิเคราะห์ภาษากาย
ไม่แน่ว่าปัจจัยความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม พื้นเพของบุคคล รวมไปถึงความแตกต่างทางด้านสถานะทางสังคม การตีความท่าทางและอากัปกิริยาของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากาย ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้คุ้นเคยกับคนไทยหรือวัฒนธรรมไทย อาจเกิดความคลาดเคลื่อนและตีความโดยใช้อคติควบคู่ แต่โพสต์ดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบกับความน่าเชื่อถือของผู้นำประเทศไทย และความคิดของผู้คนในวงกว้างไปเรียบร้อยแล้ว
อ้างอิง
– The truth about reading body language : Ramin Skibba, Popular Science – https://bit.ly/46Jyddg
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast