‘วิถีชีวิตคนเมือง’ กับ ‘วิถีชีวิตแถบชนบท’
คุณพอจะจินตนาการภาพความแตกต่างระหว่างสองวิถีชีวิตนี้ออกหรือไม่?
‘เมืองใหญ่’ ย่านที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ระบบขนส่งสาธารณะกับเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน กลิ่นหอมของความเจริญลอยฟุ้งไปไกลนับพันลี้ อาจเป็นเป้าหมายในการอยู่อาศัยหรือการทำงานของคนจีนส่วนมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว แดนมังกรอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงได้กำลังเผชิญสถานการณ์ที่คนจีนยุคใหม่เริ่มหันไปให้ความสนใจกับการออกไปใช้ชีวิตตาม ‘ชนบท’ อยู่ ณ ขณะนี้
ในฐานะชาวต่างชาติอย่างคนไทย หากได้รับรู้ข่าวสถานการณ์นี้เข้า ก็คงจะแปลกใจไม่น้อย เพราะภาพจำที่เคยได้รับมาส่วนใหญ่ คนจีนจำนวนมากมักปรารถนาจะใช้ชีวิตในเมืองในระยะยาวกันทั้งสิ้น แล้วทำไมจุดหมายปลายทางของคนจีนยุคใหม่วัยทำงานที่เรียกว่า ‘เมือง’ ถึงกลับตาลปัตรกลายเป็น ‘ชนบท’ กัน?
ทำไมคนจีนรุ่นใหม่จะเบนเข็มชีวิตจาก ‘เมือง’ สู่ ‘ชนบท’
จากการให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC โดยศาสตราจารย์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง (The Hong Kong Polytechnic University) อย่าง ‘ชุง ชีเนียน (Chung Chi-Nien)’ กล่าวว่า “ไม่แปลกใจเลย ที่คนจีนรุ่นใหม่อยากจะถอยกลับไปใช้ชีวิตตามชนบทกัน เพราะเดี๋ยวนี้ การหางานเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเมืองชั้นนำใหญ่ๆ ของประเทศ”
‘ศาสตรจารย์ชุง ชีเนียน’ เผยอีกว่า ภาวะการหางานยากในปัจจุบันของคนจีนรุ่นใหม่นั้น สืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศจีน ณ ขณะนี้ที่ชะลอการเติบโตลงจากปัญหาอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้การแข่งขันในตลาดแรงงานสูงขึ้น เพราะในปี 2024 นี้ มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยเป็นประวัติการณ์ถึง 11.8 ล้านคนเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ อัตราการว่างงานของคนจีนจบใหม่จึงเพิ่มสูงขึ้น โดยในเดือนสิงหาคม มีสถิติการว่างงานอยู่ที่ 18.8% ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.7% จากสถิติเดิมของเดือนกรกฎาคม ฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปัญหารอบด้านที่ตามรุมเร้าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา ไม่ต่างจากเมื่อวัยเรียน
‘ภาวะซึมเศร้า (Depression)’ ปัญหาเรื้อรังที่คนจีนเผชิญมาหลายทศวรรษ
แม้ข้อจำกัดและนโยบายอื่นๆ ในอดีต เช่น นโยบายการเจริญพันธุ์ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนจีน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบการศึกษาที่เข้มงวดเกินไปก็มีส่วนก่อให้เกิดปัญหา ‘ภาวะซึมเศร้า’ ที่ถูกสะสมมาตั้งแต่วัยเรียนด้วยเช่นกัน
จากการให้ข้อมูลโดย ‘แนนซี่ เชียน (Nancy Qian)’ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การจัดการและวิทยาศาสตร์การตัดสินใจ ชาวอเมริกัน เชื้อสายจีน ระบุว่า คนจีนเริ่มเรียนอย่างจริงจังตั้งแต่อายุยังน้อยมาก และไม่เพียงแต่ไปโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังต้องเรียนพิเศษนอกหลักสูตรที่ไม่ได้มีสอนตามโรงเรียนปกติอีกด้วย อีกทั้งคนจีนส่วนใหญ่จะถูกปลูกฝังว่า ถ้าอยากได้งานดีๆ ก็จำเป็นต้องเรียนมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียนจบแล้ว กลับยังต้องมาเผชิญกับปัญหาการว่างงานซ้ำอีก ปัญหาสุขภาพจิตสะสมอย่าง ‘ภาวะซึมเศร้า’ ที่ไม่ได้รับการเยียวยา หนำซ้ำยังหนักข้อขึ้นอีกในวัยทำงาน จึงอาจเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เหล่าคนจีนรุ่นใหม่ผู้เผชิญความผิดหวังมานับครั้งไม่ถ้วน ตัดสินใจเบนเข็มชีวิต กลับไปใช้ชีวิตชนบทตามเดิม หรืออาจริเริ่มอยากลองใช้ชีวิตในชนบทดู ซึ่งแน่นอนว่า ทางเลือกนี้สามารถช่วยเยียวยารักษาสภาพจิตใจของคนจีนรุ่นใหม่จากภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี
กลับสู่ชนบท = กลับสู่ธรรมชาติ เยียวยาปัญหาสุขภาพจิต
ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนจีนรุ่นใหม่อยากเปลี่ยนไปใช้ชีวิตตามชนบทอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
บางคนอาจอยากไปเพื่อทำธุรกิจที่ไม่ค่อยพบตามชนบท เหมือนกับ ‘หลิว ปิน (Liu Bin)’ คนจีนรุ่นใหม่ผู้ให้สัมภาษณ์ใน ‘หนังสือพิมพ์เหลียนเหอ เจ่าเป้า (Lianhe Zaobao)’ ว่า เขาลาออกจากงานในเมืองมา เพื่อดำเนินธุรกิจร้านคาเฟ่หนังสือ ในขณะที่ ‘คาร์สัน เฉิน (Carson Chen)’ อีกหนึ่งคนจีนรุ่นใหม่กล่าวว่า เขาออกมาอาศัยแถบชนบท เพราะการได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติช่วยให้เขารู้สึกสงบใจได้
จากงานสำรวจและวิจัย โดยมูลนิธิสุขภาพจิต (Mental Health Foundation) แห่งสหราชอาณาจักร พบว่า การได้อยู่ใกล้ชิดและเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับธรรมชาติ สามารถช่วยยกระดับสุขภาพจิตที่ดีของมนุษย์ได้ ซึ่ง 44% ของผู้ให้สัมภาษณ์ กล่าวว่า ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าของตนลดระดับความรุนแรงลง เพราะได้ธรรมชาติช่วยไว้ ทำให้พวกเขารู้สึกถึงความสงบ เกิดความคิดสร้างสรรค์ และมีความสุขในชีวิตมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เหตุผลของคนจีนรุ่นใหม่บางกลุ่มที่หลีกหนีจากความปั่นป่วนวุ่นวายในเมืองมา จึงเป็นเพราะต้องการให้ธรรมชาติโอบกอด และช่วยเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำจากปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะซึมเศร้า ที่สะสมมานับตั้งแต่วัยเรียนจวบจนวัยทำงาน ในแบบที่การใช้ชีวิตในเมืองเหมือนเดิมต่อไปทำให้พวกเขาไม่ได้
ด้วยกำลังของตัวเองเพียงลำพัง อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ยับยั้งต้นตอของความเครียดและภาวะซึมเศร้าอย่างสภาพเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน หรือระบบการศึกษา ซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ระดับประเทศได้ ดังนั้น คนจีนรุ่นใหม่จึงทยอยกันหันหน้าพึ่งพาธรรมชาติ เพราะสำหรับบางคน ไม่ใช่เพียงแค่ต้นไม้ใบหญ้าสีเขียวชอุ่มเท่านั้นที่บำรุงจิตใจพวกเขา แต่ครอบครัวและ ‘ความเป็นบ้านเกิด’ ที่ยังคงรอคอยพวกเขากลับไปเยี่ยมเยียนเสมอมา ไม่หายไปไหน ก็สามารถอ้าแขนรับกลับไปดูแล เหมือนตอนก่อนที่พวกเขาจะจากไปยังเมืองใหญ่ได้เช่นกัน
อ้างอิง
– [Big read] Are rural areas a paradise for China’s youths? – https://bit.ly/3Y2zxVJ
– Young Chinese are ‘retiring’ in the countryside as China’s unemployment woes grate – https://bit.ly/3Y4sD2c
– Nature and mental health – https://bit.ly/405Z9nj
– Meet the Chinese youth going from the cities to the countryside – https://bit.ly/3BAjQgI
– Why Are So Many Young Chinese Depressed? – https://bit.ly/3Yim90Y
#Trend
#Worklife
#Psychology
#Society
#Missiontothemoon
#Missiontothemoonpodcast