คุณเริ่มออมเงินหรือยัง?

1368
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • จุดเริ่มต้นของการออมเงินไม่ใช่เรื่องของจำนวนเงินที่ออม แต่มันเป็นเรื่องของทัศนคติที่ถูกต้อง
  • คนส่วนมากไม่มีอิสรภาพทางการเงิน ดังนั้นต้องถือคติว่า “เมื่อเรามีเหลือ เราก็จะรวย”
  • การวางแผนทางการเงิน ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบ แต่คนเริ่มทำงานใหม่มักหนี้อยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆคือ หนี้ช่วงวันรับปริญญา หนีผ่อนรถยนต์ และหนี้จากงานแต่งงาน ดังนั้นการออมที่ควรเริ่มคือใช้วิธีหักเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์เลยทันที
  • การเริ่มลงทุน อย่างเช่นลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มได้เงินเดือน จะช่วยให้มีเงินเก็บหลักล้านในวัยเกษียณได้

ปรกติผมชอบเขียนอะไรเบาสมองในวันอาทิตย์ แต่เรื่องวันนี้จะว่าเบาสมองก็ได้ จะว่าหนักก็ได้ ขึ้นอยู่กับคนจริงๆครับ 

จริงๆผมไม่เคยเขียนเรื่องการเงินส่วนบุคคลเลย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ผมถนัดเท่าไร แต่วันนี้เนื่องจากได้มีโอกาสเพิ่งไปฟังเรื่องนี้มาเลยอยากมาเขียนเสียหน่อยครับ

วันก่อนในงาน ทาวน์ ฮอลล์ (Town hall) ของศรีจันทร์ ที่ทางบริษัทจัดขึ้นเพื่ออัพเดทเรื่องงานต่างๆที่ผ่านมาในปี 2017 และสิ่งที่เราต้องทำในปี 2018

Advertisements

เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญในงานวันนั้น คือการประกาศว่าเราจะมี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้กับทีมงาน ซึ่งจริงๆบริษัทใหญ่ๆเขาก็มีมานานมากแล้วละครับ แต่สำหรับบริษัทเรา ทางทีมผู้บริหารค่อนข้างตื่นเต้นทีเดียวที่ไปขอกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากคณะกรรมการบริษัทมาให้ทีมงานได้

ในช่วงแขกรับเชิญพิเศษ ผมเลยเชิญ พี่หนุ่ม Money Coach มาเล่าให้กับทีมงานของเราทุกคนได้เห็นความสำคัญเรื่องการออมและการลงทุน

สำหรับตัวพี่หนุ่มผมคิดว่าคงไม่ต้องแนะนำประวัติอะไรแล้วครับ เชื่อว่าทุกท่านคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ขอเข้าเรื่องเลยละกันว่าพี่หนุ่มเล่าอะไรให้เราฟังบ้าง

หลักๆเรื่องวันนั้นเป็นเรื่องการเงินส่วนบุคคล ที่เน้นเรื่องของการ “ออม” ครับ เพราะพี่หนุ่มบอกว่าการออมเป็น “ต้นทาง” ของการมีการเงินส่วนบุคคลที่ดี ต้องเริ่มออมก่อน แล้วเดี๋ยวเรื่องการลงทุนจะตามมา

ทัศนคติการออมเงิน

สิ่งที่ผมชอบมากที่พี่หนุ่มบอกคือ ความสำคัญของการออมไม่ใช่จำนวนเงิน โดยเฉพาะเมื่อตอนเริ่มต้น แต่เป็นทัศนคติ เพราะพี่หนุ่มช่วยคนที่มีปัญหาเรื่องการเงินมาเยอะมาก พี่หนุ่มพบว่า “คนจนเงินช่วยได้ แต่จนความคิดช่วยไม่ได้”

มันหมายความว่าอย่างไรครับ?

ยกตัวอย่างแล้วกัน ถ้าคนเราเริ่มเก็บเงินแค่เพียงเดือนละ 500 บาท และเก็บอย่างต่อเนื่อง นิสัยของคนนี้จะเปลี่ยนไปครับ เพราะเห็นจำนวนเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในบัญชี วิธีการใช้เงินของคนนี้จะเปลี่ยนไป จะประหยัดขึ้น จะคิดมากขึ้นเมื่อจะใช้เงิน

คนที่คิดว่า “เฮ้ย เก็บแค่เดือนละ 500 กระจอกว่ะ เดี๋ยวสิ้นปีเอาเข้าบัญชีเลย 6,000” พี่หนุ่มบอกว่ามันเกิดขึ้นได้ยากมากครับ เรียกว่าแทบไม่เคยเกิดขึ้นดีกว่า

อิสรภาพทางการเงิน

ทุกวันนี้ พี่หนุ่มมีคนมาปรึกษาเรื่องการเงินเยอะมาก โดยส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องการเก็บเงิน ลงทุน และแน่นอนครับ เรื่องหนี้

โดยพี่หนุ่มพบว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ยังไม่มีอิสรภาพทางการเงิน เรื่องเงินยังเป็นเรื่องใหญ่ของคนจำนวนมาก พี่หนุ่มกล่าวติดตลกว่า ตอนอายุ 20 กว่า เรื่องความรักเป็นเรื่องใหญ่สุด แฟนมีกิ๊ก อะไรพวกนี้จะทุกข์ใจมาก แต่พอ 30 เรื่องที่ใหญ่กว่าจะเริ่มกลายเป็นเรื่องเงิน และจะใหญ่ไปเรื่อยๆ อีกหลายสิบปี

เพราะคิดง่ายๆ เราทำงานเริ่มจากอายุ 20 ถึง 60 ปี แต่คนเราจะตายตอนอายุประมาณ 80 ปี แปลง่ายๆคือ หาเงิน 1 เดือนต้องใช้ให้ได้ 1 เดือนครึ่ง

เปรียบเทียบให้เห็นแบบนี้หลายคนหัวเราะก๊ากเลยครับ เพราะทุกวันนี้ใช้กันถึงวันที่ 20 ก็จะแย่อยู่แล้ว พี่หนุ่มบอกว่าเรื่องพวกนี้ต้องเริ่มแก้จากทัศนคติก่อน พี่หนุ่มถือคติว่า “เมื่อเรามีเหลือ เราก็จะรวย” กล่าวคือ หากคนเราเริ่มมีเงินออม ความมั่นใจในตัวเองก็จะมา

แต่ในทางกลับกัน คนที่ยังไม่มีเงินออม ก็จะรู้สึกไม่มั่นใจ รู้สึกกังวล ไม่มีอิสระ แถมเวลาใครพูดเรื่องเงิน ก็จะหงุดหงิด เพราะรู้สึกจี้ใจดำตัวเอง

นอกจากนี้ สิ่งที่หลายคนกังวลใจมากๆคือ กลัวตอนเกษียณ จะไม่มีเงินเลี้ยงตัวเอง สถิติปัจจุบันพบว่าคนไทย 90% มีเงินไม่พอเลี้ยงตัวเองตอนเกษียณ ซึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศแน่นอน 

การวางแผนทางการเงิน

แล้วเราจะวางแผนเรื่องนี้ยังไงดี

ต้องเข้าใจธรรมชาติของเงินก่อนครับว่า ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ควรจะต้องสอนกันอย่างจริงจังในโรงเรียนเลยครับ เพราะเป็นทักษะการใช้ชีวิตที่สำคัญมากๆ ยุคผมไม่มีสอนจริงจัง แต่ผมไม่แน่ใจว่ายุคนี้เขาสอนกันบ้างหรือยัง

Advertisements

เรามาดูช่วงอายุ การออม และปัญหาเรื่องเงินกันดีกว่าครับ

คนเริ่มทำงานใหม่ หรืออายุ 20-30 ปี พี่หนุ่มบอกว่าหนี้ใหญ่ๆ ของคนช่วงอายุนี้ เกิดจาก 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. หนี้ช่วงวันรับปริญญา

จากที่ได้คุยกับน้องๆ หลายคน พี่หนุ่มพบว่า คนจำนวนไม่น้อยมีหนี้สินตอนฉลองรับปริญญาตัวเอง ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าคนเราหลายคนก่อหนี้ตั้งแต่วันเรียนจบเลย และแม้มันจะไม่เยอะ อาจแค่สองสามหมื่นแต่มันคือจุดเริ่มต้นครับ

2. หนี้ผ่อนรถยนต์

หนี้ใหญ่ๆอีกก้อนที่คนเพิ่งเริ่มต้นทำงานมีร่วมกันเยอะมากคือ ผ่อนรถยนต์ ซึ่งถ้าให้แนะนำ พี่หนุ่มอยากให้ไปซื้อตอนทำงานอายุ 30 ไปแล้ว เพราะฐานเงินเดือนสูงขึ้น ก็จะไม่เหนื่อยมาก

3. หนี้จากงานแต่งงาน

หลายคนมีหนี้ก้อนโตมาจากตอนแต่งงาน เพราะการแต่งงานมันจะมีเรื่อง “หน้าตา” มาเกี่ยวข้องเยอะ เลยต้อง “เล่นใหญ่” ตามไปด้วย

พออายุ 30 หนี้จะเริ่มใหญ่ขึ้นครับ ก็คือ หนี้ที่มาจากครอบครัว เช่น ซื้อบ้าน ค่าดูแลลูก ค่าหมอของพ่อแม่ และสุดท้าย คือคนในช่วงสูงวัยหรือมีอายุ ค่าใช้จ่ายสูงๆ ก็จะมาจากเรื่องสุขภาพของตัวเอง

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าวัยใดก็ตาม ต่างมีภาระเรื่องเงินที่ต้องใช้จ่ายหมด คำพูดที่ว่า “ไว้เงินเดือนเยอะขึ้น แล้วค่อยออม” จึงไม่ค่อยเกิดขึ้น (เรียกว่าไม่เคยเกิดเลยดีกว่า) เพราะแม้จะเงินเดือนจะขึ้นตามอายุงานที่ทำ แต่อย่าลืมว่าภาระค่าใช้จ่ายก็ขึ้นตามด้วยเหมือนกัน

ดังนั้น ทุกคนควรเริ่มนิสัยการออมเงิน สิ่งที่พี่หนุ่มแนะนำคือ ให้ใช้วิธีหักเงินเข้าบัญชีออมเลย ไม่ใช่รอใช้เหลือแล้วมาออม ซึ่งน้อยมากที่จะมีคนทำแบบนั้นได้


พี่หนุ่มบอกว่า ให้เริ่มตั้งแต่วันนี้ ตั้งไว้เลยว่าเราจะออมเท่าไร ไม่เกี่ยงว่าจะน้อยแค่ไหน ก็ให้ออม อย่าดูถูกเงินน้อย

เพราะมันคือการสร้างนิสัยที่ดีให้ตัวเอง พอเราทำได้จุดหนึ่ง เราจะมีวินัยการออมได้ดีขึ้น และทำได้มากขึ้นเอง ขอย้ำอีกครั้งว่าการออมคือนิสัยและทัศนคติ ซึ่งสำคัญกว่าจำนวนเงินมาก เดี๋ยวพอมีนิสัยที่ดีแล้ว เงินก็จะมาเอง ยิ่งเราออมเงินได้มากเท่าไร ตัวเราเองนี่แหละที่จะรู้สึกเสียดายเงินมากเท่านั้น เป็นเรื่องที่จิตวิทยาที่น่าแปลก แต่ก็เป็นแบบนี้จริงๆ คนที่เก็บเงิน มักจะเสียดายเงินเวลาจะต้องใช้จ่ายอะไร สุดท้ายคนที่เก็บเงิน ก็จะเก็บเงินได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

พี่หนุ่มบอกว่าแม้วันนี้เป็นหนี้ก็ต้องออม หนี้ก็ส่วนหนี้ ออมก็ส่วนออม คนที่เริ่มมีเงินออมจะเริ่มคิดเรื่องการลงทุน ซึ่งเรื่องการลงทุนก็เป็นอีกเรื่องนึง ที่สามารถศึกษาได้อีกยาว 

การเริ่มลงทุน

มาถึงตรงนี้พี่หนุ่มยกตัวอย่างเรื่อง กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ

ลองพิจารณาคนอายุ 20 เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 ให้หักเงินเดือนละ 5 % เข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ คือเดือนละ 750 บาท 

และให้คนคนนี้เงินเดือนขึ้นปีละ 3% ซึ่งถือว่าน้อยมากและให้ขึ้นแบบนี้ตลอดการทำงาน 40 ปีไม่มีการปรับขั้นแบบก้าวกระโดดเลย และกองทุนสํารองเลี้ยงชีพทำผลตอบแทนซักปีละ 7% ซึ่งถ้ายาวๆก็ถือว่าไม่ได้เป็นตัวเลขที่เว่อร์อะไรมากมาย

หักเงินแบบนี้และลืมไปเลย อย่าไปแตะอย่าไปใช้ เมื่อถึงเวลาเกษียณ คุณจะมีเงินเกิน 4 ล้านบาทเอาไว้ใช้ จะได้ไม่ต้องหวังพึ่งพาลูกหลาน

นี่คือพลังของการเก็บเงิน โดยเริ่มต้นแค่ 750 บาทต่อเดือน

ไม่ธรรมดาจริงๆครับ อย่างที่พี่หนุ่มบอก “คนจนเงินช่วยได้ แต่จนความคิดช่วยไม่ได้” ถ้ายังไม่เริ่ม ลองมาเริ่มกันดูนะครับ 

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่