ช่วงเวลาที่ผ่านมาในสังคมก็มีการถกเถียงอยู่ตลอดถึงเรื่องการมี ‘วัคซีนที่ดี’ ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันที่สูง ที่เป็นเหมือนทางออกเดียวและทางออกที่สำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยลดอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตในประเทศของเราในตอนนี้
แต่จริงๆ แล้ว นอกเหนือจากการมีวัคซีนที่ดี การมีแผนงานหรือระบบการกระจายวัคซีนที่ดี ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าหากมีวัคซีนที่ดีแล้วแต่กระบวนการในการจัดจ่ายวัคซีนไปตามพื้นที่ต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพพอ ก็ไร้ความหมาย
และยิ่งภายใต้การระบาดที่รุนแรง หากพื้นที่การเข้าถึงวัคซีนไม่เพียงพอหรือมีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน จนทำให้เกิดการรวมกันของคนจำนวนมากในพื้นที่พื้นที่เดียว ถือว่ามีความเสี่ยงอย่างมากในการที่จะติดเชื้อและเกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมา ที่จะทำให้สถานการณ์การระบาดในเลวร้ายลงไปอีก
ดังนั้น การกระจายวัคซีนที่เป็นระบบ มีความโปร่งใส เข้าถึงง่าย จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกคนได้วัคซีนอย่างทั่วถึงและปลอดภัยจากความเสี่ยง
อย่างในเคสของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมากในโซเชียลมีเดียในเรื่องของการเข้าถึงวัคซีนที่ง่ายและสะดวก ซึ่งในปัจจุบัน จากข้อมูลของ Our World in Data อัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2021 มีประชากรได้รับวัคซีนครบแล้วเป็นจำนวน 163 ล้านคน คิดเป็น 49.8% ของประชากรทั้งหมด หรือว่าง่ายๆ คือเกือบครึ่งของประชากรทั่วประเทศแล้ว และมีประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยเข็มเดียวเป็นจำนวน 7.8% ของประชากรทั่วทั้งประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคใหญ่อยู่ เพราะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนจากเหตุผลต่างๆ
แต่เมื่อย้อนกลับไปตอนต้นปีที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง ก็ได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ได้ 100 ล้านโดสภายใน 100 วัน แต่เพียงแค่ 58 วันก็ครบ 100 ล้านโดสตามเป้าหมายไปแล้ว ซึ่งเมื่อครบ 100 วัน สหรัฐฯ สามารถฉีดวัคซีนได้มากถึง 215 ล้านโดส ถือว่าเกินเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ตอนแรกถึงเท่าตัวเลยทีเดียว
และด้วยเป้าหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ คือการฉีดวัคซีนจะต้อง ‘เร็ว-มีประสิทธิภาพ-เท่าเทียม’ ทำให้เราได้เห็นความพยายามหลายๆ อย่างที่ออกมาเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนได้เร็วที่สุด
อย่างแรกที่เราได้เห็นอย่างชัดเจน และมีการพูดถึงกันอย่างมากคือ ‘การกระจายจุดวัคซีน’ ซึ่งเป้าหมายนี้ก็เป็นอีกเป้าหมายหลักที่ทางรัฐบาลของโจ ไบเดน ได้เห็นความสำคัญและระบุลงใน National Strategy ของประเทศตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งก็ได้บอกว่าทางรัฐบาลกลางจะร่วมมือกับรัฐต่างๆ และหน่วยงานท้องถิ่นในการสร้างจุดฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อตอบรับความต้องการและความมั่นใจของชุมชน
ทำให้เราอาจจะได้เห็นข่าวหรือเห็นตามโซเชียลมีเดียว่า ประชาชนหรือนักท่องเที่ยว สามารถที่จะไปรับวัคซีนได้ที่วอลมาร์ตหรือร้านขายยาทั่วไป ซึ่งนอกจากสองพื้นที่นี้แล้ว ประชาชนยังสามารถไปฉีดวัคซีนได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งอื่นๆ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิกสุขภาพ โรงพยาบาลใกล้เคียง พิพิธภัณฑ์ โบสถ์ โรงหนัง บนรถบัส/รถโรงเรียน ที่จอดรถตามสถานที่ต่างๆ และพื้นที่ของรัฐอีกมากมาย อีกทั้งบางจุดฉีดยังฉีดแบบ Drive-thru ได้อีกด้วย
ซึ่งประชาชนก็สามารถที่จะเช็กผ่านเว็บไซต์กลางของรัฐบาลได้ก่อนว่าตรงพื้นที่ที่ตัวเองอยู่มีศูนย์ฉีดวัคซีนตรงไหนบ้าง ศูนย์นั้นมีวัคซีนอะไรให้เลือกบ้าง วัคซีนที่เราต้องการฉีดหมดหรือยัง และต้องจองก่อนหรือไม่ หรือสามารถวอล์กอินเข้าไปฉีดได้เลย
โดยแต่ละพื้นที่ก็จะมีความมากน้อยของศูนย์ฉีดวัคซีนแตกต่างกันไป ถ้าหากเป็นในเมืองหรือสถานที่ชุมชนก็อาจจะมีจุดฉีดวัคซีนจำนวนมาก ที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกัน แต่ถ้าอยู่นอกเมืองก็อาจจะมีจุดฉีดวัคซีนที่ลดหลั่นลงไป (สามารถเข้าไปดูจุดฉีดวัคซีนของสหรัฐฯ ได้ที่ vaccines.gov) แต่ก็ยังสามารถเข้าถึงได้ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ทางรัฐพยายามกระจายไปให้ได้มากที่สุด
ประชาชนและบุคคลทั่วไปก็สามารถที่จะเข้าไปรับวัคซีนได้ทันที เพียงแค่มีบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตเท่านั้น ไม่ต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติมใดๆ ทำให้การเข้าถึงวัคซีนนั้นง่ายและสะดวก ประชาชนไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางไกลมากหรือไปแออัดอยู่ในพื้นที่พื้นที่หนึ่งเพื่อที่จะรับวัคซีน
มากไปกว่านั้น ยังมีบริการไปฉีดวัคซีนถึงบ้าน สำหรับผู้ที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย อีกทั้งสำหรับผู้ที่ต้องการจะไปฉีดวัคซีนแต่เดินทางเองไม่สะดวก ทางภาครัฐก็มีบริการรถฟรีพาไปฉีดวัคซันถึงที่ (ในบางรัฐ) ซึ่งในตอนนี้ทางรัฐบาลก็มีแผนการเชิงรุกใหม่ หลังจากที่อัตราการฉีดวัคซีนโควิดเริ่มชะลอลง นั่นก็คือการเคาะประตูตามบ้านนั่นเอง
ด้วยกระบวนการเหล่านี้ (บวกกับการที่สหรัฐฯ ผลิตวัคซีนเอง) ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงสามารถฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียใดๆ และใช่ว่าทุกพื้นที่ทุกรัฐจะมีการดำเนินงานที่เหมือนกัน แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าการที่ประชาชนจะได้รับวัคซีนนั้นเข้าถึงง่ายมากๆ และทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็สมควรและมีสิทธิที่จะได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากความพยายามเหล่านี้แล้ว ภายใต้แผนการฉีดวัคซีนที่เป็นวาระแห่งชาติของสหรัฐฯ แล้ว ยังมีความพยายามอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการผลิตไม่ให้วัคซีนนั้นขาดแคลน การให้วัคซีนกับผู้ที่ทำงานด่านหน้าก่อน การใช้ดาต้าและเทคโนโลยีผนวกกับการบริหารจัดการวัคซีน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นและให้ความรู้เรื่องวัคซีนกับประชาชน
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า แต่ก็พบว่ากว่า 98% ของผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักถึงกับต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลนั้นเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีเรตการฉีดวัคซีนที่น้อย
ดังนั้น สองสิ่งที่ควรมาควบคู่กันในตอนนี้คือ ‘วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ’ และ ‘การกระจายวัคซีนที่ดี’ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป บางประเทศก็อาจจะใช้วิธีแบบสหรัฐฯ ไม่ได้ เนื่องจากมีวัคซีนจำนวนจำกัด และต้องรอการส่งวัคซีนมาแต่ละรอบ แต่แน่นอนว่า การมีการสื่อสารที่ชัดเจน การมีแผนการฉีดวัคซีนที่ตรงกัน การมีการจัดลำดับความสำคัญว่าประชาชนกลุ่มใดควรจะได้รับการจัดสรรวัคซีนก่อน ก็จะช่วยให้ขั้นตอนกระบวนการต่างๆ เป็นไปอย่างเป็นระบบระเบียบมากที่สุด
อ้างอิง:
https://bit.ly/2VkVdQd
https://bit.ly/3i7hPfP
https://bit.ly/3ia2bQM
https://bit.ly/3zOpSV0
https://politi.co/3rHxLbU
https://bit.ly/3zNCn2T
https://bit.ly/3l98ndL
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society
ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/