เมื่อวานนี้ (4 ม.ค. 21) คอลัมน์ THE YEAR IN WELL ของสื่อชื่อดังอย่าง The New York Times ได้แนะนำถึงวิธีพัฒนาสุขภาพจิตใจให้คงที่และมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ผ่านการรวบรวมโพสต์คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ได้รับความนิยมสูงสุด 9 โพสต์ เพื่อช่วยให้เราสามารถมีสุขภาพจิตที่ดียิ่งขึ้นไปอีกในปี 2022 นี้
9 วิธีพัฒนาสุขภาพจิตให้ดียิ่งขึ้น
1. ตั้งชื่อให้ความรู้สึกของคุณ
ในตลอดปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนมีความรู้สึกบางอย่างก่อตัวขึ้น แต่ก็เหมือนกับความรู้สึกเหล่านี้ไม่ใช่ความเหนื่อยหน่าย ไม่ใช่ความหดหู่ใจ และไม่ใช่ความเบื่อหน่ายซะทีเดียว แต่กลับเป็นภาวะที่มีชื่อว่า “Languishing” หรือ “ภาวะเฉื่อยชาและว่างเปล่า” โดย Adam Grant นักเขียนชื่อดังได้กล่าวว่า ภาวะเช่นนี้เป็นภาวะที่นำโด่งมาในปี 2021 ที่ผ่านมา แต่ภาวะเช่นนี้กลับถูกมองข้ามไปในหลายๆ ครั้ง เพราะก็เหมือนกับว่าไม่ได้เครียดขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้สุขขนาดนั้น ภาวะเช่นนี้เป็นภาวะที่อยู่ตรงกลาง ที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีชื่อเรียก ทำให้ Adam Grant ตัดสินใจ “ตั้งชื่อให้กับความรู้สึก” นี้ ทำให้เราเข้าใจได้อย่างชัดเจนขึ้นว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ และเมื่อเรารู้จักกับมันแล้วเราก็จะยอมรับตัวเองได้ง่ายขึ้น
2. ตั้งชื่อให้กับความเจ็บป่วยทางจิตใจของคุณ
Lily Burana นักเขียนชาวอเมริกัน ก่อนหน้านี้เธอเผชิญกับภาวะซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล และล่าสุดเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค A.D.H.D. (โรคสมาธิสั้น) เท่ากับมี 3 ภาวะที่เธอกำลังเผชิญอยู่ ทำให้มันเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นที่จะอธิบายหรือพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเธออย่างชัดเจน ทำให้เธอตัดสินใจ “ตั้งชื่อ” ให้กับภาวะทั้งหมดว่า “บรูซ” และเธอมักจะกล่าวว่า “’บรูซทำให้ฉันผิดหวังในสัปดาห์นี้’” ซึ่งชื่อเล่นนั้นช่วยให้เธอมีความชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับความรู้สึกที่มืดมิดของตัวเอง
3. ค้นหาความหมายในกิจกรรมประจำวัน
มีผลการวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่ามีขั้นตอนง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้เพื่อเติมพลังทางอารมณ์และช่วยทำให้ชีวิตของเรารู้สึกถึงความเติมเต็ม รู้สึกถึงการบรรลุเป้าหมาย รู้สึกถึงความสุขที่มากยิ่งขึ้น โดยเหล่านักจิตวิทยาเรียกความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลนี้ว่า “ความรู้สึกเฟื่องฟู” โดยวิธีง่ายๆ วิธีหนึ่งในการมีความรู้สึกนี้ คือการทำกิจกรรมประจำวันของคุณอย่างมีเป้าหมายมากขึ้น ผ่านการทำบางสิ่งง่ายๆ เช่น การทำความสะอาดห้องครัว การทำงานบ้าน หรือแม้แต่การซักปลอกหมอน ที่จะช่วยให้เรารู้สึกว่าเราทำอะไรสำเร็จและบรรลุเป้าหมายอะไรบางอย่าง
4. ลองฝึกสมาธิในทุกๆ ที่
Dr.Judson Brewer ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมของศูนย์ฝึกสติของมหาวิทยาลัยบราวน์ กล่าวว่า “สมองของเราเหมือนกับคอมพิวเตอร์ ที่มีหน่วยความจำในการทำงานเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น” ทำให้เมื่อเราอยู่กับอารมณ์เชิงลบ เช่น ความวิตกกังวลหรือความเครียด จะส่งผลให้เราคิดหรือแก้ปัญหาได้ยากขึ้น และเขายังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ว่าจะไปที่ไหนหรือทำอะไร ก็ลองเอาเทคนิคการทำสมาธิไปใช้ รวมถึงกล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งแรกที่เราต้องทำคือพยายามให้ตัวเองอยู่กับปัจจุบัน เพื่อที่เราจะได้ใจเย็นลง”
5. ปล่อยให้ตัวเองเสียใจกับการสูญเสียที่เล็กน้อย
Tara Parker-Pope เขียนในบทความเกี่ยวกับความเสียใจว่า “เมื่อคุณยอมรับว่าความเศร้าโศกของคุณมีจริง มันมีขั้นตอนบางอย่างที่จะช่วยให้คุณรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ได้” เธอกล่าว “ลองปลูกต้นไม้ หรือ หาสิ่งของที่แสดงถึงการสูญเสียของคุณ เช่น ตั๋วเครื่องบินหรือบัตรเชิญเข้าร่วมงานแต่งงานที่ถูกยกเลิก แล้วฝังไว้” รวมถึงผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ก็ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “การสูญเสียทั้งหมดจำเป็นต้องรับรู้และเสียใจ เราต้องอนุญาตให้ตัวเองเสียใจกับมันได้ หรือกระทั่งไว้ทุกข์ให้มันเลยด้วยซ้ำ”
6. ปล่อยให้ตัวเองมี Sad Day และใช้มัน
เมื่อสมองและร่างกายของคุณต้องการพัก การหยุดงานหรือไปโรงเรียนจากปัญหาด้านสุขภาพจิตจะช่วยให้คุณได้พักผ่อนและเติมพลัง ความเศร้านั้นก็ถือว่าเป็นความเจ็บปวดในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน โดย Christina Caron เสนอว่า ให้ลองสละเวลาสักวันหนึ่งลางานเพื่อปล่อยความรู้สึกตรงนั้น อาจจะใช้เป็นวันลาป่วยก็ได้ รวมถึงเธอยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “คุณจะไม่รู้สึกแย่กับการลาป่วย และคุณก็ไม่ควรรู้สึกแย่กับการพักผ่อนเมื่อคุณเศร้าเช่นกัน”
7. เขียนสิ่งที่กวนใจคุณก่อนนอน
การนอนหลับที่ไม่ดีเรื้อรังเป็นเวลานาน จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ลดประสิทธิภาพในการจดจำและสมาธิ อีกทั้งเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ Anahad O’Connor ผู้ซึ่งรายงานการเพิ่มขึ้นของปัญหาการนอนไม่หลับในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เสนอให้เขียนความคิดทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่รบกวนจิตใจเราออกมาในสองชั่วโมงก่อนเข้านอน จากนั้นขยำกระดาษแล้วโยนทิ้ง การแสดงท่าทางเชิงสัญลักษณ์นี้จะช่วยให้คุณมีกำลังใจและทำให้จิตใจสงบ
8. ให้คืนถ้ามีโอกาส
มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า “การให้คืน” สามารถปรับปรุงสุขภาพของเรา บรรเทาความรู้สึกเหงา และขยายเครือข่ายสังคมของเราได้ โดยเราอาจเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายเล็กๆ เช่น อาสาสมัครสัปดาห์ละครั้ง หรือแม้แต่เดือนละครั้ง เพื่อลดการแพร่ระบาดของความเหงาและโดดเดี่ยว (An Epidemic of Loneliness)
9. สุดท้ายนี้ ให้ตัวเองได้พักบ้าง
วิธีที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่งในการทำเช่นนั้นอาจจะเริ่มจากการถามตัวเองด้วยคำถามหนึ่งข้อ เช่น “ตอนนี้ฉันต้องการอะไร” เพื่อนำไปสู่การฝึกการเห็นอกเห็นใจในตนเองมากขึ้น แทนที่จะสนใจกับความคาดหวังของสังคมที่มีต่อเรามากเกินไป
อ้างอิง:
https://nyti.ms/3pTrj21
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worldnews
ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/