ประชากรโลกต้องกลับมากังวลอีกครั้งหลังพบการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) หลังเคยพบการแพร่ระบาดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยปกติโรคฝีดาษลิงถือเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้เรากลับพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในสหราชอาณาจักรเป็นที่แรก ขณะที่ปัจจุบัน โรคฝีดาษลิงได้แพร่ระบาดไปแล้วถึง 19 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565) แต่ยังไม่พบผู้ป่วยรายใดที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง
จากการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ส่งผลให้ประเทศเบลเยียมตัดสินใจออกมาตรการ และแนวทางการควบคุมโรคอย่างเป็นทางการหลังพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 3 ราย นับว่าเป็นการกำหนดแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นประเทศแรกของโลกอีกด้วย
โดยมาตรการที่ออกมาได้กำหนดให้ผู้ที่ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงจะต้องกักตัว 21 วัน อย่างไรก็ตาม การกักตัวไม่จำเป็นต้องมีการแยกตัวอย่างเข้มงวด แต่ก็ควรระมัดระวังหากต้องติดต่อกับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ
ด้านรัฐบาลเบลเยียมเองได้ออกมาชี้แจงว่า สำหรับผู้ที่ติดเชื้อควรได้รับการกักตัว และจะสามารถกลับมาติดต่อกับผู้อื่นได้อีกครั้ง หลังจากที่ได้รับการรักษาและหายเป็นปกติแล้ว
ขณะที่ฝั่งสหราชอาณาจักรระบุว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ก็ควรกักตัว 21 วัน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ ครอบครัวของผู้ที่ติดเชื้อ หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อนั่นเอง
ขณะที่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยจำนวนผู้ติดเชื้อมากถึง 92 ราย จาก 12 ประเทศทั่วโลก และมากกว่า 28 รายที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2565) นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดไม่ได้เดินทางไปยังประเทศแอฟริกาเลย จึงมีความเป็นไปได้ว่าการติดเชื้ออาจเกิดจากการติดจากคนสู่คน หรือแม้แต่ระหว่างสัตว์และคน
ด้าน Seth Berkley ประธานบริษัทผลิตยารายใหญ่อย่าง Gavi เผยว่าการพบการแพร่ระบาดในตัวเมือง มีแนวโน้มสูงมากที่จะเกิดการแพร่เชื้อที่เพิ่มมากขึ้น อย่างในปัจจุบัน ก็เห็นแล้วว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ราย ใน 12 ประเทศทั่วโลก แต่ก็ยังไม่ทราบสาเหตุการติดเชื้อที่แน่ชัด ดังนั้นการหาสาเหตุ และการวางมาตรการควบคุมโรคฝีดาษลิง จึงเป็นสิ่งที่โลกควรให้ความสนใจก่อนที่จะกลายเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหม่
แปลและเรียบเรียงจาก:
https://cnb.cx/39Yr1Sg
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worldnews